นี่คือเหงา นี่แหละเหงา “ภาวะมิตรภาพถดถอย” สะเทือนคนรุ่นใหม่ มีเพื่อนน้อยลง

นี่คือเหงา นี่แหละเหงา “ภาวะมิตรภาพถดถอย” สะเทือนคนรุ่นใหม่ มีเพื่อนน้อยลง

วิจัยชี้ คนอเมริกันเกิด “ภาวะมิตรภาพถดถอย” มากขึ้น เพราะมีเพื่อนลดลง หลังกักตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มุ่งแต่ทำงาน จนไม่มีเวลาไปผูกมิตรกับเพื่อน 

Key Points:

  • ภาวะมิตรภาพถดถอย เป็นคำศัพท์ใช้อธิบายถึงกลุ่มคนที่ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีที่พึ่งเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติในชีวิต
  • วิจัยชี้ชาวสหรัฐเผชิญภาวะมิตรภาพถดถอยมากขึ้น จากการเปลี่ยนไปของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี หลังยุคโควิด-19
  • บทบาทของเพื่อนสนิทลดลงไปมาก คนส่วนใหญ่เลือกปรึกษาพ่อแม่มากกว่าเพื่อน ต่างจากยุค 90

 

เมื่อมีคนถามว่ามีเพื่อนสนิทกี่คน? เรามักจะมีคำถามผุดขึ้นในหัวเสมอ ต้องรู้จักกันขนาดไหนถึงจะเรียกสนิท หรือเขาหมายถึง “เพื่อนวงเขียว” (Close Friends) ในอินสตาแกรมกันแน่ แล้วถ้าชื่อที่ตอบออกไปเขาไม่อยากเป็นเพื่อนกับเรา จะต้องทำอย่างไร?  แค่ถามว่ามีเพื่อนกี่คนก็ตอบยากแล้ว มาเจอถามว่ามีเพื่อนสนิทกี่คนยิ่งไปไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องตอบอย่างไร 

ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ติดอยู่ใน “ภาวะมิตรภาพถดถอย” (Friendship Recession) เป็นศัพท์ที่บัญญัติโดย แดเนียล ค็อก นักวิชาการจากสถาบันอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ ใช้อธิบายถึงกลุ่มคนที่ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีที่พึ่งเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติในชีวิต ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้กำลังเพิ่มขึ้นสูงขึ้น เนื่องด้วยการเปลี่ยนไปของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ตลอดจนตัวแปรสำคัญอย่าง การแพร่ระบาดของโควิด-19 

  • มีเพื่อนน้อยลง ที่พึ่งน้อยลง

จากการศึกษาของ Survey Center on American Life ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค. 2021 ระบุว่า “เพื่อนกำลังมีบทบาทลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสังคมของชาวอเมริกัน เพราะพวกเขาสนทนากับเพื่อนน้อยลง พึ่งพาและได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนลดลง และมิตรภาพที่เคยแน่นแฟ้นกลับถดถอยลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” 

งานวิจัยชี้ชัดถึง “จำนวนเพื่อนสนิท” ที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับคนยุค 90 โดย 49% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีเพื่อนสนิทน้อยกว่า 3 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 1990 ที่มีคนตอบว่ามีเพื่อนสนิทน้อยกว่า 3 คน เพียง 27%

โดยเฉพาะคนในยุค 90 ราว 33% ระบุว่า ตนเองมีเพื่อนสนิทมากกว่า 10 คนขึ้นไป ขณะที่ในปีนี้มีเพียงแค่ 13% เท่านั้น

ที่หนัก คือ 12% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาไม่มีเพื่อนแม้แต่คนเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 1990 

เมื่อถามว่าหากมีปัญหาในชีวิตเกิดขึ้นจะหันไปปรึกษาใคร ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ตอบว่าจะปรึกษาพ่อแม่ถึง 36% ต่างจากยุคก่อนที่เลือกปรึกษาเพื่อนสนิทถึง 45% แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 22% เท่านั้นที่จะคิดถึงเพื่อนสนิทก่อน

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นนั้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นต้องตัดขาดจากคนอื่น ๆ ซึ่ง 47% ของชาวอเมริกันระบุว่า พวกเขาไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนอย่างน้อย 2-3 คนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้หญิงราว 59% ขาดการติดต่อจากเพื่อนอย่างน้อย 2-3 คน และอีก 16% ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนเกือบทั้งหมดที่มี 

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสังคมของผู้หญิงถูกทำลายนั้น อาจเป็นผลมาจากผู้หญิงนิยมพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยการเจอกันแบบตัวต่อตัว มากกว่าผู้ชายที่ใช้เทคโนโลยีและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการตัวเชื่อมสัมพันธ์

รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานที่ช้าลง ชีวิตที่ต้องทำงานและการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และพ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากกว่าคนรุ่นก่อน จนทำให้ขาดความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนฝูง 

 

  • วิธีการสร้างสัมพันธ์

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ตัวคนเดียวเราย่อมต้องรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ระบุว่า การใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีเพื่อนสนิท ใช้ชีวิตซึมเศร้าเหงาหงอยนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน 

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าการใช้ชีวิตแบบขาดไร้ญาติขาดมิตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน คิมเบอร์ลี วิลสัน นักจิตวิทยาคลินิกเสนอวิธีการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ไว้ดังนี้

1. ย้ำเตือนจุดประสงค์

รู้ทั้งรู้ว่าการมีเพื่อนเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งก็ไม่รู้จะต้องเริ่มอย่างไร ก่อนอื่นคุณต้องบอกตนเองว่าคุณจำเป็นต้องมีเพื่อน และจำเป็นต้องเปิดใจให้กับคนใหม่ ๆ  บางครั้งคุณอาจจะเจอกับคนที่ไม่คลิก แต่โลกใบนี้มีคนอีกมากมาย สักวันคุณจะเจอมิตรภาพที่ดี

2. ติดต่อกับเพื่อนเก่า

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรื้อฟื้นมิตรภาพที่จางหายไปแล้วให้กลับมาเป็นเหมือนเก่า แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย เพราะถ้าเป็นเพื่อนกันจริง ๆ ไม่ว่าจะห่างหายกันไปนานแค่ไหน มิตรภาพจะยังคงอยู่ คุยกันไม่นานก็ต่อกันติดเหมือนเดิม และง่ายกว่าการหาเพื่อนใหม่ ดังนั้นอย่ารอช้า ลองคว้าโทรศัพท์ส่งข้อความไปหาเพื่อนเก่าที่สนิท เพื่อสานสัมพันธ์ครั้งใหม่

3. ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ

มิตรภาพมักจะก่อตั้งจากการได้เจอหน้ากันบ่อย ๆ ลองหากิจกรรมที่คุณชอบและมีเวลาทำเป็นประจำ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณได้พบกับมิตรภาพที่ดี

4. การสร้างมิตรภาพเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา

กว่าที่เราจะพัฒนาความสัมพันธ์จากคนรู้จักที่พูดกันอย่างสุภาพ จนกลายเป็นเพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่องนั้น จะต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะไม่กี่สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่คุณไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และเรียนรู้ความสัมพันธ์และพัฒนาทักษะการเข้าสังคม

5. ใช้แอปพลิเคชันหาเพื่อน

หากชีวิตของคุณไม่ได้พบเจอกับใครมากนัก วัน ๆ อยู่แต่กับคนเดิม ๆ คุณสามารถสร้างโอกาสพบปะผู้คนใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยี ด้วยแอปพลิเคชันต่าง ๆ สำหรับหาเพื่อน หาผู้คนใหม่ ๆ ได้ด้วยปลายนิ้ว

อย่างไรก็ตาม หาคุณรู้สึกว่าเพื่อนใหม่ที่คบอยู่มีเคมีหรือไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน ไม่จำเป็นต้องฝืนสร้างความสัมพันธ์ต่อไป ค่อย ๆ เฟดออกหรือคงระดับความสัมพันธ์ไว้แค่ “คนรู้จัก” ก็ไม่เสียหายอะไร เหลือไว้แต่คนที่จริงใจและรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้วย ที่สำคัญอย่างลืมคอยติดต่อสื่อสารเพื่อไม่ให้เกิด ภาวะมิตรภาพถดถอย

 

ที่มา: BigthinkIndependentMediumNew York PostWomen's Health