ทำอย่างไร เมื่อไทยยังต้องเผชิญ 'ฝุ่นพิษ PM2.5' หมอกควันข้ามแดน

ทำอย่างไร เมื่อไทยยังต้องเผชิญ 'ฝุ่นพิษ PM2.5' หมอกควันข้ามแดน

ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาหมอกควันข้ามแดน ส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือวันนี้ มีคุณภาพอากาศในระดับสีม่วง ล่าสุด รัฐบาลไทย ได้ประชุมหารือกับ สปป.ลาว และ เมียนมา ในการหาทางออกหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

Key Point :

  • ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่มีคุณภาพอากาศในระดับสีม่วง มีผลกระทบเป็นอย่างมากและอันตรายต่อสุขภาพ 
  • ล่าสุด (7 เม.ย. 66) มีการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างเห็นด้วยในการสร้างความร่วมมือหาทางออกร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในระดับภูมิภาค 
  • ด้าน รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็น วาระแห่งชาติ ยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เมือง เกษตร และป่า พร้อม จัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2570 และ 3 ข้อเสนอในการร่วมกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ปัญหา ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาหนักในช่วงนี้โดยเฉพาะภาคเหนือของไทย ส่งผลต่อต่อสุขภาพทั้งผลเฉียบพลัน และผลเรื้อรัง ไม่เฉพาะผลต่อระบบการหายใจที่เป็นช่องทางนําพาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น แต่ฝุ่น PM 2.5 ยังมีผลต่อการเกิดโรคระบบต่างๆ เช่น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท หลอดเลือดสมอง และโรคไต

 

ที่ผ่านมา ทั้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายได้มากคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคปอด หัวใจ สมอง และไต) ในขณะที่ทุกภาคส่วนกําลังระดมสมองแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

เมื่อดูข้อมูลอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของประเทศไทย 10 อันดับแรก ในวันที่ 7 เมษายน 2566 พบว่า เมืองที่มีคุณภาพอากาศในระดับสีม่วง ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบเป็นอย่างมากและอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ อย่างน่าน เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ดังนี้

1.อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 441 AQI

2.อำเภอห้างฉัตร จ.ลำปาง ดัชนีคุณภาพอากาศ 425 AQI

3.อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ดัชนีคุณภาพอากาศ 424 AQI

4.อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 419 AQI

5.อำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 416 AQI

6.แม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ดัชนีคุณภาพอากาศ 410 AQI

7.อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 408 AQI

8.อำเภอเวียงชัย จ.เชียงราย ดัชนีคุณภาพอากาศ 371 AQI

9.อำเภอเมืองน่าน จ.น่าน ดัชนีคุณภาพอากาศ 353 AQI

10.อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ดัชนีคุณภาพอากาศ 343 AQI

 

สาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 มีทั้งจากไอเสียรถยนต์หรือการจราจร , อากาศพิษจากปล่องโรงงานอตุสหากรรมและโรงไฟฟ้า และ การเผาในที่โล่งและในที่ไม่โล่ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า และการเผาขยะ

 

เผาในที่โล่ง สู่ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

 

โดยวันนี้ (7 เมษายน 2566) ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส คณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ในการประชุมสามฝ่ายระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรื่องการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลว่า ปัญหาหมอกควันข้ามแดน เป็นผลจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอนุภูมิภาคแม่โขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ทำให้มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง และเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน

 

 

"สำนักเลขาธิการอาเซียน ได้แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุด (ระดับ 3) ภาพรวมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี 2566 พบว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 93 โดยเป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันคือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 5 เมษายน"

 

ลาว เมียนมา เห็นชอบความร่วมมือแก้ปัญหาหมอกควัน

 

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการร่วมกันทั้งสามฝ่าย ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษหมอกควันข้ามแดน และร่วมกันแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมในการรับมือกับสถานการณ์

 

โดย นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และ นายกรัฐมนตรีเมียนมา ต่างเห็นด้วยในการสร้างความร่วมมือหาทางออกร่วมกัน ทั้งความร่วมมือในระดับอาเซียน การเพิ่มการตระหนักรู้เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนถึงสาเหตุ และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน สร้างความยั่งยืน และเพื่อประโยชน์ในระดับภูมิภาค 

 

ไทยยกระดับเข้มงวด 3 พื้นที่

 

ในส่วนของ นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า ไทยตระหนักถึงปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและฝุ่นละออง PM 2.5 ว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยเมื่อพิจารณาจากสาเหตุแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่

 

1. ปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง/ตอนเหนือของอาเซียน (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเกิดขึ้นในหน้าแล้งของทุกปี (มกราคม - เมษายน)

 

2. ปัญหาหมอกควันทางตอนใต้ของอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายนของทุกปี ปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนมีความรุนแรงมากจนกลายเป็นปัญหารุนแรงด้านสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อการท่องเที่ยวอันจะมีผลต่อรายได้ของประเทศ

 

รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ทุกปีไทยจัดประชุมถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง และจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่

  • พื้นที่เมือง เช่น การให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดมลพิษจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม
  • พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เกษตร เช่น การส่งเสริมการหยุดเผาวัสดุและพื้นที่การเกษตร
  • พื้นที่ป่า เช่น การควบคุมปัญหาไฟป่า การให้ความรู้แก่ประชาชน และการดับไฟป่า เป็นต้น

 

มาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2570

 

ทั้งนี้ ไทยจัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษ ในระดับทวิภาคี ไทยร่วมมือกับมิตรประเทศมาโดยตลอด โดยได้ส่งมอบเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ให้ฝ่ายเมียนมาที่เมืองตองจี และท่าขี้เหล็ก เมื่อเดือนกันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ไทยสนับสนุนแก่ สปป.ลาว และเมียนมา ได้มีส่วนช่วยติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี

 

ในระดับภูมิภาค ไทยสนับสนุนข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 โดยเมื่อปี 2565 ไทยสามารถลดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากปี 2564 ได้ร้อยละ 61 และค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลงร้อยละ 27 ในระดับอนุภูมิภาค ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย สามารถลดจุดความร้อนได้จาก 139,098 จุด ในปี 2564 เหลือ 108,916 ในปี 2565

 

และรายงานข้อมูลสถานการณ์จุดความร้อนและการดำเนินการของไทย ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบอย่างต่อเนื่องด้วย และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ไทยมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงผนึกกำลังแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค

 

3 ข้อเสนอนายกฯ กระชับความร่วมมือ แก้ปัญหามลพิษ

 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี เสนอให้ทั้งสามประเทศกระชับความร่วมมือ รวมถึงร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้

1. ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ เพื่อควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่

 

2. ใช้ประโยชน์จากกลไกในทุกระดับ ในระดับทวิภาคี ไทยจะเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด ในระดับอาเซียน ไทยจะเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมละรอบด้าน

 

3. แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหา รวมทั้ง เพิ่มการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริการจัดการของเสีย โดยแปรให้เป็นพลังงาน เช่น การทำโรงไฟฟ้า BCG เปลี่ยนของเสียให้เป็น ปุ๋ย ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซลให้กับประชาชน การทำโรงงานไบโอก๊าซขนาดเล็กตามชุมชนขนาดเล็ก ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และการแปรรูปกากที่เหลือจากการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้

 

รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาคเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ และการแจ้งเตือน ตลอดจน เสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละประเทศที่รับผิดชอบในประเด็นการจัดการมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน หารือกันในช่วงบ่ายวันนี้ ต่อยอดผลลัพธ์จากการหารือนี้ พิจารณาแนวทางการรับมือ และการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้เป็นความคาดหวังของประชาชน จะแก้ไขปัญหา กำหนดผลลัพธ์ และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดจำนวนจุดความร้อนให้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อประชาชนของทั้งสามประเทศ

 

3 ข้อเรียกร้อง จากกรีนพีซ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่า ตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Metroolorical Centre-ASMC) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นสูงซึ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (Activation for Alert Level 3 for the Mekong Sub-region)

 

ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ส่งผลให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงอาการหายใจติดขัด แสบตา เจ็บคอ บ้างมีอาการเลือดกำเดาไหล และไอเป็นเลือด จากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย(hazardous) โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศมากกว่า 100 ขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสังคมในวงกว้างและต้องมีมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเร่งด่วน

 

กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิในอากาศสะอาด #RightToCleanAir มีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการณ์ ดังต่อไปนี้

 

1. เพื่อให้สอดคล้องกับการเตือนภัยของศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์สามารถใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีผลกระทบจากฝุ่นพิษในระดับที่เข้มข้นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป

 

โดยใช้เกณฑ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงภายใต้มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปที่จะมีการบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา

 

2. ใช้กลไกทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่มีความโปร่งใสและภาระรับผิด (accountability) ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ(commodity-driven deforestation) โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรจะต้องรับภาระความเสียหายรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบำบัด เยียวยา และฟื้นฟูคุณภาพอากาศ สุขอนามัยและความเสียทางเศรษฐกิจ หากสินค้าเกษตรที่จะนำเข้าหรือส่งออกเกี่ยวข้องกับการเผา และการทำลายสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน แทนที่จะผลักภาระทั้งหมดไปยังเกษตรกรที่อยู่ทั้งในระบบและนอกระบบเกษตรพันธะสัญญา

 

3. ยุติโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศทุกโครงการ และยุติการสนับสนุนการลงทุนหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ของโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 และปรอทซึ่งเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่สำคัญ