พ่อแม่เช็กด่วน! ลูกปฐมวัยขาดห้วงโอกาสทองหรือไม่?

พ่อแม่เช็กด่วน! ลูกปฐมวัยขาดห้วงโอกาสทองหรือไม่?

โควิด-19 ได้กระหน่ำซ้ำเดิม สถานการณ์เด็กปฐมวัยจากเดิมที่หนักอยู่แล้ว ให้หนักทวีคูณเข้าไปอีก  กว่า 2,000,000 คน ครอบครัวยากจน 60-80% ครัวเรือน เกือบจนถึงจนมาก  75% มีแม่ที่มีการศึกษาไม่เกิน ม.ปลาย และกว่า 50% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

Keypoint:

  • โควิดส่งผลต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัยทุกด้าน เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ใช้สื่อหน้าจอสูงมากขึ้น
  • เด็กปฐมวัยขาดการคุมตัว คุมใจ ห้วงโอกาสทองขาดหายไป 
  • พ่อแม่ต้องเข้าใจ โรงเรียนต้องเข้มแข็ง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดัน3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เป็นวาระแห่งชาติ 

ด้วยสถานการณ์จากโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตเด็กปฐมวัยรุนแรงขึ้นทุกด้าน ทั้งพัฒนาการ การใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สมอง สภาวะครอบครัว พ่อแม่หลายคนต้องส่งลูกหลานไปอยู่กับตายาย ทั้งที่การเลี้ยงดูลูกอยู่กับพ่อแม่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ และสติปัญญาได้ดีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กปฐมวัยกำลังเผชิญ 

วันนี้ (20 มี.ค.2566)สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้มีการจัดเสวนา “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม  ฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทางรอดประเทศไทย” พร้อมนำเสนอสถานการณ์เด็กปฐมวัย พบว่า  เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้า 30% ต่อเนื่อง 20 ปี ทักษะสมอง EF (Executive Function) ล่าช้า 29% เด็ก 500,000 คน เตื้ย แคระ แกร็น ระดับปานกลางหรือรุนแรง กว่า 30% ฟันผุ

ส่วนการใช้เทคโนโลยี พบว่าเล่นมือถือกว่า 67% 1.1 ล้านครัวเรือน ไม่มีหนังสือให้ลูกอ่าน เด็กปฐมวัยใช้สื่อหน้าจอสูงมากขึ้น โดย1 ขวบใช้ 4 ชั่วโมง 2 ขวบใช้ 5 ชั่วโมง 3 ขวบใช้ 3.6 ชั่วโมง 4 ขวบ ใช้ 1.7 ชั่วโมง 6 ขวบใช้ 2.6 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนของ 4 และ6 ขวบที่ใช้ลดลง เพราะต้องเข้าเรียน

นอกจากนั้น เด็กปฐมวัยถูกตี อายุ 1-2 ปี 73% อายุ 3-5 ปี 48%ซึ่งผู้เลี้ยงดูเชื่อว่าการลงโทษทางกาย จำเป็นในการเลี้ยงเด็ก และครูปฐมวัยเพียง 25% ที่เข้าใจเรื่องพัฒนาการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"เล่นอิสระ" อย่างไร? ช่วยเสริมพัฒนาการลูกให้มากขึ้น

เทคนิค "เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาล" ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding

 

เด็กปฐมวัยขาดการกระตุ้น  การดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หลังโควิด-19 พบว่า

  • 81% ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก รายได้ลดลง 37%
  • ได้อาหารน้อยลงเทียบกับช่วงก่อนโควิด  เข้าถึงการบริการน้อยลง
  • จากการตรวจคัดกรองพัฒนาการลดลงจาก 91% เหลือ 64%
  • รับวัคซีนลดลง จาก 80% เหลือ60%
  • กลุ่มเด็กพิเศษ ไม่ได้รับการดูแลบำบัดต่อเนื่อง

เมื่อปิดโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

  • ทำให้เด็กขาดนมและอาหารกลางวัน 25%
  • พัฒนาการไม่สมวัย
  • มากที่สุด คือการใช้ภาษา 72%
  • กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญาไม่สมวัย 47%
  • สูญเสียการเรียนรู้ถึง 90%

ขณะที่ภาพรวมการใช้สื่อหน้าจอกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563  เด็ก 5 ขวบใช้หน้าจอ 600 นาที/สัปดาห์  พอในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 800 นาที/สัปดาห์ ส่งผลให้เด็กปฐมวัยเกิดภาวะสายตาสั้น สายตาล้า จอประสาทตาเสื่อม 

และเมื่อกลับมาเรียนเด็กหางแถวเพิ่มขึ้น หงุดหงิด งอแง ก้าวร้าว พูดไม่เป็นภาษา ปฎิบัติตามกฎไม่ได้ มีปัญหาการเล่นกับเพื่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมาธิสั้นมากขึ้น ไม่อยากรู้อยากเรียน อยากแต่เล่นเกม กำกับตัวเองไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยจุฬาฯ พบว่า IQ จาก100 ลดลงหลังโควิด โดยปี 2563 เหลือ 86 และปี 2564 เหลือ 79

ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเด็กปฐมวัยในปัจจุบันขาดการกระตุ้นและขาดความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ซึ่งส่งผลให้พัฒนาการเด็กปฐมวัยโดยรวมไม่ดี

โดยพัฒนาการเด็กปฐมวัยปกติ พบเพียง 30% หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนอีก 2 ใน 3 นั้นเสียหาย ยิ่งเจอโควิด-19 ทำให้ปัญหาปานปลายและเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเด็กอยู่บ้านมากขึ้น พ่อแม่ไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่มีการฝึกฝนเด็ก ทำให้พัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กลดลง เด็กเฉื่อยไปจำนวนมาก

 

โควิด-19 ส่งผลเด็กไม่ได้เล่น การเรียนรู้ลดลง

อีกทั้งในช่วงโควิด หลายครอบครัวจะให้เด็กอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ขาดการกระตุ้น การขยับตัว การใช้สายตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่างกายในการเคลื่อนไหว  การคิด การตัดสินใจแย่ลงทั้งหมด เพราะร่างกายยิ่งใช้งานถึงจะยิ่งคล่อง

การใช้ชีวิตในบ้านโดยที่มีพ่อแม่ทำให้เด็กทุกอย่าง ทำให้เด็กใช้มือได้ไม่คล่อง เมื่อกลับเข้าสู่การเรียนรู้ เด็กต้องใช้มือในการวาดภาพ การฝึกเขียน จะทำให้พวกเขาทำได้ไม่ดี และในช่วงโควิด-19 ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว พ่อแม่ที่มีเด็กเล็ก 81% รายได้ลดลง ทำให้เด็กลำบากมากขึ้น

หลายครอบครัวไม่สามารถทนความเครียดในภาวะโควิดได้ส่งผลให้เกิดการทะเลาะภายในบ้าน ครอบครัวแตกแยก  ทั้งหมดนี้ล้วนกระทบต่ออารมณ์จิตใจของเด็ก และส่งเสริมให้เด็กใช้อารมณ์มากขึ้น เด็กไม่ได้ฝึกการกำกับตัวเอง คุมตัวคุมใจก็จะไม่เก่ง เมื่อเข้าสู่การเรียนทำให้เด็กไปต่อได้ยาก

“คุมตัว คุมใจ เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเด็ก ดังนั้น การจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ไม่ทิ้งปัญหาเรื่องเด็กปฐมวัย และมองเห็นภาพรวมของปัญหาที่จะไปด้วยกัน โดย 4 เรื่องที่ต้องทำ คือ 1.ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจ และร่วมสอน 2.ครูช่วยพื้นฟูเด็ก อย่าส่งกลับพ่อแม่ 3.ระบบไอที ต้องลดการใช้สื่อหน้าจอ และ 4.ดูแลครูให้มีความสุข เพื่อมีพลังไปช่วยพ่อแม่และเด็ก”ศ.คลินิก พญ.วินัดดา กล่าว

เทคโนโลยี สื่อจอใส มีบทบาทต่อครอบครัว เด็กมากขึ้น

"การใช้เทคโนโลยี สื่อจอใส" เข้ามามีบทบาทต่อครอบครัว ต่อเด็กมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กระทบเด็กปฐมวัยรุนแรงที่สุด ยิ่งในช่วงโควิด-19 เด็กๆ จะอยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ปู่ย่าตายาย ยิ่งเร่งเร้าให้การใช้สื่อเทคโนโลยีรุนแรงมากขึ้น

นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนและสื่อสารสาธารณะ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่าครอบครัวไทยมีภาวะแหว่งกลางจำนวนมาก  ลูกหลานจะถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้ประสบการณ์บางอย่างของเด็กสูญหายไป เพราะเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ส่วนใหญ่จะได้รับประสบการณ์ และมีสติปัญญาดีกว่าอยู่กับผู้ปกครองในรูปแบบอื่นๆ

“ช่วงระบาดโควิด เด็กปฐมวัยเสี่ยงติดจออย่างมาก เพราะครัวเรือนมีแนวโน้มการใช้สื่อมากขึ้น ทั้งเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร ใช้สื่อออนไลน์เพื่อการทำงาน เพื่อการติดต่อสื่อสารทางไกล เพื่อเรียนออนไลน์ กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพราะสถานที่สาธารณะ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นใช้ไม่ได้ พื้นที่การเล่น การเรียนรู้ถูกปิดทั้งหมด" นายธาม กล่าว

การเรียนออนไลน์ของเด็กทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการใช้สื่อ สมาธิ ความสนใจ ขณะที่ผู้กครองมีความเครียดสูง เนื่องจากมีภาระงานและภาระเป็นครู เป็นพี่เลี้ยงแก่ลูก สิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบที่ทำให้เด็กต้องใช้สื่อและจอมากขึ้น

ผลกระทบ 5 ด้านจากสื่อดิทัลต่อเด็กปฐมวัย

นายธาม กล่าวต่อว่าผลกระทบ 5 ด้านที่สำคัญจากสื่อดิจิทัลต่อเด็กปฐมวัย คือ 1.สายใยสัมพันธ์ถูกแทรกแซง 2.โภชนาการบกพร่อง 3.ปฎิสัมพันธ์ขาดหาย 4.ภาษาล่าช้า และ5.การเรียนรู้ถดถอย

นอกจากนั้น จะส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ขั้นตอนการสร้างสรรค์ริเริ่ม เพราะซื้อความง่าย  เด็กไม่เท่าทันรู้ทันเจตนาของผู้สร้างเทคโนโลยี เด็กมีพฤติกรรม จิต สังคม สมอง เปลี่ยนแปลงไป เด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น และเด็กถูกล่อ ชักจูงใจด้วยความลุ่มหลงในเทคโนโลยี 

ธรรมชาติของสื่อดิจิทัลไม่ได้เหมาะสมกับเด็ก  เพราะเป็นสื่อปัจเจก พึ่งพิงทักษะผู้ใช้มาก เป็นสื่อประสม ราคาถูก พกพาได้สะดวก ตัดขาดบริบทแวดล้อม เรียกร้องความสนใจมาก ทุกอย่างไหลมารวมกัน กระจัดกระจาย ความไม่สิ้นสุดของเนื้อหา  ทั้งหมดนี้ ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง อยู่คนเดียวกับหน้าจอ

แนะพ่อแม่ ครูสร้างกิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย

รศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ช่วงโควิด -19 ส่งผลให้เด็กผ่านประสบการณ์เชิงลบยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้สมองของเด็กปฐมวัยถูกยับยั้งการเจริญเติบโต ใยประสาทแตกหัก ไม่มีการสร้างวงจรเครือข่ายประสาทใหม่ๆ

ทั้งนี้ เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นแบบไม่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โครงสร้างสมองไม่พร้อมทำงานยาก ซับซ้อน คิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง แก้ปัญหา  และมักพบปัญหาอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น เมื่อผ่านช่วง Critical Period ไปแล้ว แม้สมองยังคงพัฒนาต่อได้ ถ้าได้รับอาหาร  โภชนาการ และประสบการณ์ที่เหมาะสม

แต่การพัฒนาของสมองเด็กกลุ่มนี้จะไม่รวดเร็ว เท่ากับช่วงเวลาทองที่ผ่านไปแล้ว  ทำให้เกิด Learning loss หรือการสูญเสียของช่วงเวลาทองที่สำคัญยิ่ง หรือ Critical Period ที่สมองของเด็กปฐมวัยควรต้องได้รับแวลานี้เมื่อผ่านแล้ว อาจไม่หวนคืนมาใหม่ได้

“สำหรับกิจกรรมที่คุณครูควรทำกับเด็กๆ ทุกวัน คือ 1.ต้องทำให้เด็กๆ มีแรงจูงใจ มีอารมณ์ร่วม สนุก  กระตือรือร้น กับกิจกรรมที่คุณครูทำ 2.เด็กใช้ร่างกายและสมองหลายๆ ส่วนพร้อมกัน ตาดู หูฟัง มือสัมผัส ร่างกายเคลื่อนไหว สมองคิด ใช้ภาษาพูดคุย 3.ห้องเรียนของเรามีบรรยากาศและสัมพันธภาพที่ดี ครูยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ใช้วาจาเชิงลบกับเด็ก และมีช่วงเวลาอิสระให้เด็กๆ ได้เล่นเดียวกัน และ 4.กิจกรรมมีความหมาย เชื่อมโยงกับชีวิต เช่น ทำงานบ้าน งานสวน งานครัว เล่น ฟังนิทาน มีปฎิสัมพันธ์ พูดคุยกับเพื่อน  และครู เป็นต้น” รศ.พญ.แก้วตา กล่าว

สุขภาพจิตเด็กไทย ยิ่งเล็กยิ่งซึมเศร้าสูง

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี  รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าปัจจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านจิตใจของเด็กและวัยรุ่นนั้น เกิดจากทั้งตัวเด็กเอง การเลี้ยงดู สุขภาพจิตของพ่อแม่ ชุมชน สังคม โรงเรียน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโควิด-19 

โดยสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กประถม มีเด็กซึมเศร้ามากขึ้น อย่างการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในเขตกรุงเทพฯ 472 คน  พบว่า เด็กมีภาวะซึมเศร้า 277 คน หรือ 58.7%  แบ่งเป็นเพศชาย 134 คน หรือ 60.6% และเพศหญิง 57.0% รวมถึงมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

"ตอนนี้เด็กและวัยรุ่นมี ปัญหาการควบคุมอารมณ์ มีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว เกเร การใช้ความรุนแรง ติดเกม ติดสารเสพติด ติดบุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา โดยเฉพาะการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา พบในกลุ่มเด็กประถมร่วมด้วย ฉะนั้น ผลกระทบด้านลบจากการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการติดสังคมออนไลน์ ติดเกม และติดเรื่องเพศ  ทำให้สมองบางส่วนขนาดเล็กผิดปกติ หรือขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ"รศ.นพ.ศิริไชย กล่าว

สำหรับการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องมีความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง โดยต้องมีความรัก ความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ที่ดี มีความมั่นคงต่อพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู มีมุมมองต่อตนเองว่ามีคุณค่า มีมุมมองต่อพ่อแม่ว่าเข้าใจและไว้วางใจได้ มีมุมมองต่อโลกว่าปลอดภัยมีคุณค่า และต้องกระตุ้นพัฒนาการตามวัย

ซึ่งแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกัน นั่นคือ

  • ช่วงแรกเกิดถึง 2-3 ปี ต้องให้ความรัก ความใกล้ชิด สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง
  • ส่วนช่วงปฐมวัย ฝึกวินัย การเล่น ฝึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ฝึกทักษะทางสังคม ต้องไม่เน้นวิชาการ สนับสนนให้ช่วยพ่อแม่ทำงาน ไม่ทำให้ลูกเสียความมั่นใจ ไม่ใช้หน้าจอเลี้ยงลูก

ผลัดกันการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติ

นางธิดา  พิทักษ์สินสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ห้วงเวลาของปฐมวัย เป็นห้วงเวลาแห่งโอกาสที่เด็กต้องได้รับประสบการณ์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิต แต่ขณะนี้ห้วงเวลาทองดังกล่าวของเด็กกลับหายไป

จากการลงพื้นที่ไปในชั้นเรียนหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด พบว่า เด็กเตี้ยลงจำนวนมาก เด็กมีพัฒนาการช้า กว่าจะขึ้นบันไดได้เข้าจะใช้เวลานาน ดังนั้น จำเป็นต้องหากระบวนการ วิธีการเพื่อเติบในส่วนที่เด็กขาดหายไป  และทุกคนต้องร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ทุกส่วนในสังคมต้องรู้ถึงผลกระทบต่อเด็กและรู้ว่าจะฟื้นฟูให้เด็กฟื้นตัวได้อย่างไร ซึ่งในสังคมไทยครอบครัวกำลังอ่อนแอ ฉะนั้น ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงคนทำงานด้านนโยบาย นักการศึกษา  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องมาช่วยพัฒนาเด็กได้ดีขึ้น เพราะปฐมวัยเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง โรงเรียนมีคุณภาพ และเกิดการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงต่อเด็ก เพราะคุณภาพของปฐมวัย คือ คุณภาพของประเทศ  ต้องช่วยผลักดันนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่มให้เป็นวาระแห่งชาติ”นางธิดา กล่าว

สำหรับ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์โควิด  มี 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ดังนี้

3 เร่ง ได้แก่

1.เร่งกำหนดการฟื้นฟูเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติ

2.เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครูและสังคม

3. เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กปฐมวัยในภาวะเปราะบาง  

3 ลด ได้แก่ 

1. ลดการใช้สื่อจอใสในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง

2. ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย 

3. ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัย

 3 เพิ่ม ได้แก่ 

1.เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป

2.เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

3. เพิ่มศักยภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระบบนิเวศใกล้ตัวเด็กเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก

นางสุภาวดี หาญเมธี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยและประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า กระบวนการข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ข้อ ขณะนี้ทางสกศ.ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ระยะนี้การเมืองจะมีการเลือกตั้ง ยุบสภา จึงเป็นสิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายช่วยผลักดัน อย่าให้เป็นเพียงอีเว้นท์ แต่ต้องทำให้เกิดบรรลุผล เพราะถ้าไม่ทำจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส  ทุกระบบต้องพร้อมเพรียงกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง