ผู้ใหญ่ ต้องรู้ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็ก หลัง “เรียนออนไลน์” ยาวเพราะโควิด

ผู้ใหญ่ ต้องรู้ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็ก หลัง “เรียนออนไลน์” ยาวเพราะโควิด

หลังจากโรงเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องให้เด็กทุกวัย “เรียนออนไลน์” เพราะการระบาดของโควิด ทำให้เด็กบางกลุ่มเมื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียนแล้วพบว่ามีอาการ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” และส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดทำให้โรงเรียนต้องทำการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์ (On-Site) เพื่อความปลอดภัยของครูและนักเรียน การเรียนออนไลน์แน่นอนว่ามีข้อดีคือทำให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน รวมถึงมีการสอบวัดระดับเพื่อเลื่อนชั้น แต่การที่เด็กต้องนั่งเรียนกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเลตเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน ส่งผลเสียต่อพัฒนาการมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในเด็กประถมวัยที่กำลังอยู่ในวัยที่ต้องการการเรียนรู้จากโลกภายนอก มากกว่าจะจมอยู่แต่กับหน้าจอ

แม้ว่าปัจจุบันโรงเรียนจะกลับมาทำการเรียนในห้องเรียนตามปกติแล้ว แต่ในเด็กประถมวัยกลับพบว่าเด็กบางกลุ่มมีอาการ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” รวมถึงมีภาวะ “พัฒนาการถดถอย” ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน จะพบเจอได้มากในเด็กอนุบาลและเด็กประถมต้น

  • ปัญหาของเด็กอนุบาลที่เกิดขึ้นในยุคโควิด

จากผลการวิจัยของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) เพื่อประเมินว่าเด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ พบว่าทักษะที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้เรียนที่โรงเรียนตามปกติเป็นเวลานาน มีอยู่ 2 ทักษะ คือ

1. ทักษะด้านภาษา เนื่องจากหยุดเรียนเป็นเวลานานทำให้ไม่รู้จักตัวอักษรภาษาไทย โดยจากร้อยละ 9 ก่อนการระบาดของโควิด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 หลังการระบาดของโควิด

2. ทักษะด้านคณิตศาสตร์ หลังการหยุดเรียนเป็นเวลานานทำให้เด็กจำเลข 0-9 ไม่ได้ หรือจำได้ไม่ครบ จากร้อยละ 25 ก่อนการระบาดโควิด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 หลังจากการระบาดของโควิด

และเมื่อเด็กอนุบาลมีปัญหาด้านทักษะการใช้ภาษาและคณิตศาสตร์ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบถึงการเตรียมความพร้อมให้การก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งจากผลการสำรวจยังพบอีกว่า เด็กอนุบาลมีความสามารถในการจดจำข้อมูลต่างๆ ลดลง คาดว่าเป็นเพราะทักษะด้านความจำต้องสร้างผ่านการทำกิจกรรมกระตุ้นในการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยสมองจะพัฒนาความสามารถการจดจำและดึงความจำมาใช้งานผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่พอเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนตามเกณฑ์และไม่ได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีจากผู้ปกครอง จึงทำให้เกิดภาวะพัฒนาการถดถอย

  • เมื่อพัฒนาการเด็กประถมอยู่ในระดับเท่ากับเด็กอนุบาล

นอกจากเด็กอนุบาลที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการแล้ว เด็กประถมยุคโควิดก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัยว่า นักเรียนชั้นประถมต้นเป็นกลุ่มที่มีปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูง โดยมีพัฒนาการเทียบเท่าเด็กชั้นอนุบาล 

ปัญหาหลักคือการ “เรียนออนไลน์” ไม่เหมาะกับเด็กประถม เพราะช่วงประถมศึกษาตอนต้นคือช่วงวัยที่ต้องเรียนความรู้พื้นฐานสำคัญๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะ การอ่าน การคิดเลข หากเริ่มต้นไม่ดีก็มีโอกาสล้มเหลวในอนาคตสูง

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยแบ่งได้ ดังนี้

1. การปิดสถานศึกษาทำให้เด็กเรียนรู้เองที่บ้านลดลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มขึ้น ทำให้พบปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning Loss) ที่รุนแรง เพราะเด็กไทยจำนวนมากยังต้องการสื่อและอุปกรณ์จากโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง หรืออาจป็นเพราะเด็กไทยจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ที่ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

2. เด็กปฐมวัยที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย อาจจะประสบปัญหาในการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย และในชั้นสูงขึ้นไป 

3. ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่มีรายได้น้อยและความพร้อมของเด็กปฐมวัย สะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

4. การพัฒนาและส่งเสริมครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (On-Site Training) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีระดับความพร้อม ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัย โดยใช้วิธีการที่ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสหรือเด็กยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • สัญญาณ “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” ในเด็ก ที่ผู้ใหญ่ต้องพิจารณา

นอกจากปัญหาด้านพัฒนาการทางสมองแล้ว อีกปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปิดเรียนเป็นเวลานานของเด็กเล็กก็คือ พัฒนาการด้านร่างกาย เพราะผลสำรวจยังระบุอีกว่า ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กเคยสะสมไว้หายไป ได้แก่ ลืมวิธีการอ่านและเขียน ส่งผลให้ไม่สามารถจับดินสอได้ถูกวิธี

สอดคล้องกับข้อค้นพบของ “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” ที่นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า 98% ของเด็กๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม และจากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากภาวะ “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็กประถมต้น ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หากผู้ปกครองคอยสังเกตบุตร-หลานของตนเองว่ามีอาการเข้าข่ายหรือไม่ ดังนี้

1. เด็กเดินต่อเท้าและทรงตัวไม่ได้

2. กระโดดขาเดียว และกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้

3. เมื่อนอนหงายราบไปกับพื้น ไม่สามารถยกศรีษะโดยให้ไหล่ติดพื้นไม่ได้

4. ไม่สามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษได้เนื่องจากจับไม่ถูกวิธีหรือไม่มีแรง

5. มือและตาไม่ประสานกันขณะทำงาน

6. จับดินสอผิดวิธี เพราะจัดท่านั่งให้พอดีไม่ได้ มือและตัวเกร็งทำให้เมื่อยจึงต้องก้มคอหรือนอนเขียน ไปจนถึงควบคุมการเขียนไม่ได้

7. ลุกเดินบ่อย นั่งหลังตรงนานไม่ได้ นั่งห้อยเท้าไม่ได้

8. ต้องลงบันไดทีละขั้น พร้อมกับใช้มือสองข้างจับราวบันได

9. หยิบหรือจับสิ่งของไม่คล่อง เมื่อรับของจะทำตกบ่อย

10. ไม่มั่นใจเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน อยากแยกตัวจากเพื่อน ไม่มีสมาธิ

11. อ่านและเขียนไม่ได้แม้แต่ศัพท์ขั้นพื้นฐาน

12. ไปห้องน้ำบ่อยและนาน หรือขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดท้องหรือปวดหัวบ่อยผิดปกติ

13. ไม่โต้ตอบสื่อสาร หรืออาจจะพูดได้ไม่เป็นคำ ไม่เป็นประโยค เล่าเรื่องไม่ได้

14. ขาดเรียนบ่อย ไม่อยากไปโรงเรียน

แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดเรียนให้เด็กเข้าห้องเรียนได้ตามปกติแล้ว แต่ทั้งครูและผู้ปกครองเองก็ต้องคอยสังเกตด้วยว่าเด็กมีอาการผิดปกติหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องของพัฒนาการบ้างหรือไม่ เพื่อที่จะได้รู้ทันอาการภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง และรีบรักษาได้ทันทีก่อนจะสายเกินไป

อ้างอิงข้อมูล : ห้องเรียนฟื้นฟู หลังโควิด-19 (กสศ.) และ ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้เพราะโควิด-19 (กสศ.)