ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

เรื่องราวที่จะนำมาเล่าในวันนี้ อาจจะเป็นเรื่องเก่าต้องเล่า เพราะว่าประเทศไทยเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง ฉะนั้น การเลือกตั้งเราต้องช่วยกันดูว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยของเราสามารถพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้

ในขณะที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคเริ่มมีการหาเสียงและพูดถึงเรื่องของนโยบาย สวัสดิการบัตรคนจน มาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งแจกเงินให้แก่ผู้หญิงท้อง เด็กเกิดใหม่ ผู้สูงอายุ รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกร หลายคนจึงมองว่านโยบายเช่นนี้เป็นนโยบายประชานิยม

นโยบายนี้จะสามารถแก้ปัญหาคนจนในประเทศไทยได้จริงหรือไม่ วันนี้ผมจึงอยากนำเรื่องราวตรงนี้มาวิเคราะห์ไปด้วยกัน แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า นโยบายในเรื่องการช่วยเหลือทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยนี้ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้

หากเราลองเปรียบเทียบประเทศไทยของเรากับประเทศอื่นๆ เราไม่มีอะไรด้อยไปกว่าประเทศอื่นที่อยู่โดยรอบในภูมิภาคนี้เลย อาทิ เรื่องของภูมิศาสตร์ ประเทศไทยของเราตั้งอยู่กึ่งกลางที่สามารถเดินทางไปได้ทั่วภูมิภาค ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ

ประเทศไทยไม่มีปัญหาภัยพิบัติรุนแรง เช่น น้ำท่วม พายุหิมะ แผ่นดินไหว หรือแม้แต่พายุไต้ฝุ่น ในขณะเดียวกันมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ อาหาร และพืชผลทางการเกษตร

หากเราเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบทั้งได้แง่ของภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ จะเป็นว่า เรายังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก

โดยเห็นได้จาก ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ค่อนข้างเล็กและขาดแคลนในส่วนของทรัพยากรน้ำ ประเทศเวียดนามประสบปัญหาพายุไต้ฝุ่นทุกปีมีน้ำท่วม เช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ที่ต้องเผชิญกับภาวะแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่นที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องพื้นที่ของประเทศถูกธรรมชาติแบ่งเป็นเกาะเล็กๆ หลายแห่ง

แต่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้แตกต่างจากประเทศไทยคือ ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและเป็นประเทศที่ร่ำรวย

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการคบค้าสมาคมกับประเทศจีนมาอย่างยาวนานกว่า 900 ปี ประเทศอินเดียกว่า 800 ปี ประเทศญี่ปุ่นกว่า 600 ปี นอกจากนี้ยังมีอเมริกาอีกราว 200 ปี นอกจากนี้ยังมีรัสเซียและประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงกับประเทศใด ๆ เหล่านี้

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ในอดีตที่ผ่านมาทราบว่า เคยมีปัญหากับฝรั่งเศสเพียงเท่านั้น ถือว่าบรรพบุษของคนไทยในอดีตเก่งมาก เพราะหลังจากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศพม่าเพียงระยะเวลาสั้นๆ ประเทศไทยก็ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใดๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมาเคยมีการเปรียบเทียบว่าประเทศไทยเติบโตมาควบคู่กับ เกาหลีใต้ ไต้หวัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยกลับอยู่ในภาวะล้าหลัง หรือแม้แต่ในอาเซียนเอง เราก็ยังคงเป็นประเทศท้าย ๆ  ที่ประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้เรามีข้อได้เปรียบในหลายๆเรื่องตามที่กล่าวมาข้างต้น

 เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนไทยเราควรทำคือทำความรู้จักตัวเองดียิ่งขึ้นปรับเปลี่ยนแนวคิดแนวทางการบริหารจาก  "บ่ เป็นหยังดอก" เป็น “Nothing is Impossible : ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เพราะแนวคิดนี้ทำให้หลายๆอย่างที่เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับการที่โลกของเรามีนักบินที่สามารถขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้

คำว่า “Nothing is Impossible : ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” สำหรับคนไทย ผมอยากให้ลองเริ่มต้นจากการศึกษาคัดลอกนโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของประเทศจีน ที่เคยประกาศนโยบายว่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ประเทศจีนต้องไม่มีคนจน ซึ่งที่ผ่านมาผมไม่เคยมีผู้นำประเทศไหนในโลกกล้าประกาศเช่นนี้

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้มีการกล่าวปราศรัยประกาศชัยชนะที่สามารถทำให้คนจีนพ้นขีดความยากจนได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ได้นับตั้งแต่เริ่มวางนโยบายไว้เมื่อประมาณ 5 ปี ก่อน

คำนิยามของคำว่าคนจนตามหลักแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เริ่มจากการพิจารณาว่าคนจนเหล่านี้ขาดอะไรบ้าง และต้องเพิ่มเติมอะไรให้บ้าง เช่น ต้องมีบ้านอยู่ มีอาหาร มีเสื้อผ้า มีโรงเรียนสำหรับเด็ก และต้องมีที่รักษาพยาบาล

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ปัจจัยทั้ง 5 นี้จึงอยู่ในแผนการทำงานพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยผลักดันให้คนจีนหลุดพ้นจากคำว่ายากจนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล้าประกาศนโยบายเช่นนี้ เพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศจีน กำลังสร้างความยั่งยืนถ้าไม่มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนก็ไม่สามารถที่จะมีเม็ดเงินมาช่วยเหลือคนที่ยากจนเหล่านี้ได้ 

การที่ประเทศไทยในอดีตเคยนำเม็ดเงินมาอุดหนุน ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน  นโยบายเช่นนี้เป็นการแจกปลาไม่ใช่แจกเบ็ดให้คนสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการทำแบบฉาบฉวยทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน

ความยั่งยืนสามารถเกิดได้จากเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจที่เข้มแข็งคือเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพาฤดูกาล ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน เช่นเดียวกับโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ที่มีอยู่ประมาณ 1,400 โรงงาน ซึ่งมากกว่า 50 เปอร์เซ็น มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

 ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกสร้างความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจที่ควรได้รับการส่งเสริม อย่างจริงจัง แต่หน่วยงานภาครัฐต้องมีการตัดกรองเลือกส่งเสริมเศรษฐกิจที่ไม่สร้างมลพิษและมลภาวะหากไม่มีการคัดกรองที่ดีก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลได้.