5 ข้อเท็จจริง ‘คนจน’ ในไทย ‘สภาพัฒน์’ เปิดข้อมูลล่าสุด

5 ข้อเท็จจริง ‘คนจน’ ในไทย  ‘สภาพัฒน์’ เปิดข้อมูลล่าสุด

สภาพัฒน์ แจงข้อมูลความยากจนและความเหลื่อมล้ำไทยล่าสุด พบคนจนตามนิยามเหลือ 4.4 ล้านคน ฟื้นตัวจากโลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 4.7 ล้านคนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคใต้จำนวนคนจนตามนิยามสูงสุดช่วงโควิด คนในเขตเทศบาลรายได้น้อยกว่านอกเขตเทศบาล ความเหลื่อมล้ำยังสูง

การแก้ปัญหาความยากจน เป็นภารกิจ  และนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาล และมีการประเมินผลการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ จากหน่วยงานเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

ล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานเรื่อง “Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers” ที่ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจนและสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการนำเสนอข้อมูลออกไปในสื่อต่างๆเป็นจำนวนมาก  

 

ล่าสุดดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ได้ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ 5 เรื่องสำคัญดังนี้

1.สถานการณ์ความยากจนในไทยฟื้นตัวขึ้นหลังโควิด-19

โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.2%  ส่งผลให้ผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 74.4% โดยในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรงอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 1% เป็น 1.69% ส่งผลให้สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6.26% ในปี 2562 ที่มีจำนวนคนจน (ตามนิยามที่รายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนในปี 2563 อยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน) จำนวน  4.3 ล้านคน เป็น 6.83% โดยในปี 2563 จำนวนคนจนจำนวนคนจน 4.7 ล้านคน)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยสัดส่วนคนจนลดลงมาอยู่ 6.32% ของประชากร หรือมีคนจนเหลือเพียง 4.4 ล้านคนเท่านั้น  

2.เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนสูงที่สุด

โดยมีสัดส่วนคนจน 11.6% คิดเป็นจำนวนคนจน 1.1 ล้านคนรองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.5%  ภาคกลาง 6.84 % ภาคเหนือ 3.24% และกรุงเทพ 0.49%

 

3.ภาคเกษตรไทยช่วยพยุ่งคนตกงานจากโควิด-19

ผู้ที่กลับภูมิลำเนาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่มักไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร หรือกล่าวได้ว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่ดูดซับประชากรที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ซึ่งในช่วงปี 2563 ภาคเกษตรได้รับอานิสงค์จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2563 พบว่า ภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรลดลงจากในช่วงต้นของการระบาดของ COVID-19 ที่มีการจำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในปี 2563 ขยายตัวถึงร้อยละ 6.05 และส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น2.27% ในปี 2563

 

4.คนที่อยู่นอกเขตเทศบาลรายได้เพิ่มสูงกว่าในเขตเทศบาล
สศช.ยังระบุว่าด้วยว่าหากพิจารณารายได้ต่อหัวระหว่างปี 2562 และ 2564 พบว่า คนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่อาศัยในเขตเทศบาล โดยในปี 2562 รายได้เฉลี่ยของคนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลอยู่ที่ 7,588 บาท บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 8,130 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2564 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 7.14%

ขณะที่คนที่อาศัยในเขตเมืองมีรายได้อยู่ที่ 11,712 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 และเพิ่มเป็น 12,018 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 2.61% เท่านั้น
 

5.ความเหลื่อมล้ำรายได้ไทยสูงอันดับ 4 ในภูมิภาค

ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิความไม่เสมอภาคจินีมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามจากผลกระทบของโควิดทำให้ในปี 2564 ดัชนีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.429 ในปี 2562 เป็น 0.430 แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จากข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก