ใครคือคนจน ผู้สมควรจะจน? | ตะวัน วรรณรัตน์

ใครคือคนจน ผู้สมควรจะจน? | ตะวัน วรรณรัตน์

บทความนี้เป็นข้อเขียนที่สะท้อนความคิดหลังจากอ่านบทความเรื่อง “ความจริงของความเหลื่อมล้ำ” ที่เสนอโดย The Active ประเด็นที่กระตุกความคิดให้เกิดบทความนี้คือ ตอนหนึ่งที่บทความพูดถึง สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและแนวทางแก้ไข

The Active กล่าวว่าในสังคมของเรามี “....คนจนที่ไม่สมควรจน โดยต้องสร้างโอกาสให้คนจนที่รักดี ใฝ่ดี ให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน โดยต้องทำเรื่องสวัสดิการ  Social Protection  พัฒนาศักยภาพ Up-skill Re-skill...” 

    พลันเกิดคำถามว่าคนจนผู้ที่สมควรจะจนนั้นคือใครกัน หากพิจารณาจากข้อความข้างต้น คงไม่ยากนักที่จะเข้าใจได้ว่า คนจนที่ไม่สมควรจะจนหมายถึง “คนจนที่รักดี ใฝ่ดี” และก็คงจะเข้าใจไม่ยากได้ว่า คนจนที่สมควรจะจนตามบริบทนี้ก็น่าจะเป็น “คนจนที่ไม่รักดี ไม่ใฝ่ดี” 

ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มต้นตั้งคำถามว่า  ความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นปัญหาหรือไม่  แน่นอนว่าหากเราพิจารณาว่าความเหลื่อมล้ำมิใช่ปัญหา  ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแก้ไขสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ในสังคม

 ซึ่งหากพิจารณาจนถึงที่สุดแล้วนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเองก็มิได้รังเกียจความเหลื่อมล้ำ  หากความเหลื่อมล้ำนั้นมีที่มาอย่างถูกต้องเหมาะสม  ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้จึงพยายามค้นหาว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดขึ้นจากสาเหตุใด  เพื่อที่จะระบุได้ว่าความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏนั้นเป็นปัญหาหรือไม่

    บทความเรื่อง “ความจริงของความเหลื่อมล้ำ...” ได้ให้คำตอบกับเราว่าความเหลื่อมล้ำอันเกิดจาก “คนรวยโดยไม่สมควรจะรวย และคนจนโดยไม่สมควรจะจน” นั้นเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถยอมรับได้  

ใครคือคนจน ผู้สมควรจะจน? | ตะวัน วรรณรัตน์

ดังนั้น จึงต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำจากสาเหตุดังกล่าวนี้ด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดคนรวยโดยไม่สมควรจะรวย  ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขโครงสร้างอำนาจไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจผูกขาด และการใช้เส้นสาย

ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดคนจนโดยไม่สมควรจะจนด้วยการ จัดสวัสดิการสังคม ทำให้คนเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพรวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี  

    แม้ว่าบทความนี้จะไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน  แต่ผู้อ่านก็น่าจะสามารถคิดเอาเองได้ว่าเมื่อสังคมสามารถกระทำดังที่กล่าวมาได้แล้ว  หากจะยังมีความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่  ความเหลื่อมล้ำนั้นก็จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ “ยอมรับได้”

เพราะคนรวยที่มีอยู่ในสังคมจะเป็น “คนรวยผู้สมควรจะรวย” และคนจนที่ยังมีอยู่ในสังคมก็จะเป็น “คนจนผู้สมควรจะจน”

ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อว่า ค่าตอบแทนจากการทำงานนั้นเป็นไปตามผลิตภาพของปัจจัยการผลิต  ซึ่งสามารถอธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ ได้ว่าคนเก่ง คนขยัน ก็สมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนสูง ดังนั้น จึงสมควรที่จะเป็นคนรวย ส่วนคนโง่ คนขี้เกียจก็สมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนต่ำดังนั้นจึงสมควรที่จะเป็นคนจน

    ความคิดเรื่องผู้ที่สมควรจะรวยและผู้ที่สมควรจะจน มิได้ปรากฏเฉพาะในวิชาการทางเศรษฐศาสตร์  แต่มีปรากฎในคำอธิบายเชิงสังคมอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่นมีสำนวนไทยกล่าวไว้ว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ซึ่งหมายความว่าคนรักชั่วก็จะต้องหามเสาอันหมายถึงต้องทำงานหนักและยากจน ในขณะที่คนรักดีก็จะได้หามจั่วอันหมายถึงการทำงานเบาและร่ำรวยกว่า  

ใครคือคนจน ผู้สมควรจะจน? | ตะวัน วรรณรัตน์

คำอธิบายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กำเนิดขึ้นเพื่ออธิบายความชอบธรรมของคนร่ำรวย  ด้วยเหตุดังกล่าวความร่ำรวยของผู้คนในสังคมที่มิได้เกิดจากผลิตภาพและความขยัน แต่เกิดจาการคอร์รัปชั่น การผูกขาดและการใช้เส้นสาย จึงถูกตั้งคำถามและถูกเสนอให้ต้องขจัดออกไป

 เช่นเดียวกับความยากจนที่มิได้เกิดจากความโง่และความขี้เกียจ  แต่เกิดจากการขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาผลิตภาพก็จะต้องถูกขจัดออกไปเช่นเดียวกัน 

 จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยมีคำอธิบายทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และในทางสังคมที่ยืนยันว่ามีคนรวยที่สมควรจะรวยและมีคนจนที่สมควรจะจนอยู่ โดยที่มาของความสมควรจะรวยและสมควรจะจนนั้นเป็นเรื่องของความ “รักดีและความไม่รักดี(รักชั่ว)” ของคนคนนั้นเอง  

    ด้วยเหตุดังกล่าว  ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทุกทิศทางจึงมุ่งไปที่การ ขจัดคอร์รัปชั่น ขจัดการผูกขาด สร้างโอกาสที่เท่าเทียม และการสร้างสวัสดิการทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคนรวยที่ไม่สมควรจะรวยและเกิดคนจนที่ไม่สมควรจะจน  

    ในขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มักจะไม่ถูกขานรับจากสังคมและนักเศรษฐศาสตร์  หรือหากจะมีนักเศรษฐศาสตร์ตอบรับข้อเสนอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  การตอบรับนั้นก็จะต้องมาพร้อมกับเงื่อนไขการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน  เพราะนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเหมาะสมแล้วกับแรงงานที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ  

    ดังนั้น หากต้องการให้ค่าจ้างสูงขึ้นก็จะต้อง “พัฒนาศักยภาพ Up-skill Re-skill” เพื่อให้คนงานคนนั้นกลายเป็น “คนรักดี” ที่ “สมควร” จะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น  เช่นเดียวกับที่สังคมไทยโดยรวมมักจะมีความคิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเหมาะสมแล้วกับคนงานหรือกรรมกรซึ่งเป็นคน “ไม่รักดี” 

ใครคือคนจน ผู้สมควรจะจน? | ตะวัน วรรณรัตน์

    ถึงที่สุดแล้วเมื่อสังคมไทยสามารถสร้างโอกาสที่เท่าเทียมได้สำเร็จ  ผู้คนในสังคมก็จะยิ่งเห็นพ้องต้องกันว่าหากยังจะมีคนจนหลงเหลืออยู่ในประเทศทไทย คนจนเหล่านั้นก็สมควรแล้วที่จะต้องจน  

เพราะสังคมได้เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับทุกคนแล้ว  การที่คนเหล่านั้นยังคงยากจนอยู่ก็จะต้องเป็นเพราะคนเหล่านั้นเป็นคนไม่รักดีหรือไม่ก็เป็นคนไม่มีฝีมือ  จึงไม่สามารถสร้างรายได้ที่ทำให้ตนเองไม่ยากจนได้

    ท้ายที่สุดความเหลื่อมล้ำก็คงจะไม่ได้จางหายไปจากสังคมไทย  หากแต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นความเหลื่อมล้ำที่วิชาการเศรษฐศาสตร์และสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งลำดับชั้นทางสังคมยอมรับได้  และพวกเราก็จะได้ปลาบปลื้มกับความเมตตากรุณาของเราที่ได้ช่วยกันบริจาคสิ่งของและเงินทองให้กับคนจนผู้ไม่รักดี.