ผลวิจัยสรุป 'ปลูกต้นไม้' ทำให้อายุยืน | ไสว บุญมา

ผลวิจัยสรุป 'ปลูกต้นไม้' ทำให้อายุยืน | ไสว บุญมา

กลอนบทข้างล่างนี้ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า วางอยู่บนฐานของการวิจัยจนได้ข้อสรุปแน่นอน  แต่อย่างไรก็ดี ต้นไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของธรรมชาติ

หากรักลูกปลูกต้นไม้ไว้ให้เขา         

โลกของเราจักร่มเย็นเป็นสวรรค์

นำลูกปลูกหลานกับลูกจักผูกพัน   

ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่นเป็นบุญเอย

การวิจัยของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในอังกฤษได้ยืนยันว่า การได้อยู่ใกล้ธรรมชาติเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนเรามีความสุข  (คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 นำผลของการวิจัยชิ้นนั้นมาเสนอ) 

การวิจัยดังกล่าวมิได้ถามต่อไปว่า คนมีความสุขมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีความสุขหรือไม่  กระนั้นก็ตาม สามัญสำนึกของเราคงพออนุมานได้ว่ามันน่าจะเป็นจริง

หลังจากนั้นมา นักวิชาการสนใจทำการวิจัยเกี่ยวกับต้นไม้ทำให้คนเราอายุยืนขึ้นหรือไม่อย่างต่อเนื่อง  การวิจัยชิ้นหนึ่งได้ข้อสรุปว่า ธรรมชาติเป็นยาขนานเอกสำหรับรักษาโรคซึมเศร้าและความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นต้นเหตุของอีกหลายโรค 

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ของอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า หนึ่งในสามของชาวยุโรปผู้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรสืบเนื่องมาจากภาวะอากาศร้อนสูงกว่าปกติเมื่อปี 2558

จะไม่เสียชีวิตหากบ้านเมืองของพวกเขามีต้นไม้ปกคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่ 30%  ในมุมกลับกัน การสูญเสียต้นไม้ยังผลให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น 

การศึกษาพบว่า การตายของตันไม้จำนวนมากอันเนื่องมาจากการระบาดของด้วงสีมรกตในอำเภอต่าง ๆ จากมลรัฐมินนิโซตาถึงมลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐส่งผลให้มีคนตายมากขึ้นจากโรคหัวใจกับโรคในหลอดลมและปอด

ล่าสุดเป็นการวิจัยของกรมป่าไม้ของสหรัฐ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารด้านสิ่งแวดล้อม Environment International ประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

การวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลที่ได้มาจากการปลูกต้นไม้ในเมืองพอร์ตแลน มลรัฐออริกอน จำนวนเกือบ 50,000 ต้นในช่วงเวลา 30 ปีโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Friends of Trees

การวิจัยสรุปว่า การปลูกต้นไม้แต่ละต้นมีผลในการลดทั้งอัตราการเสียชีวิตโดยทั่วไปที่ไม่รวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 

ยิ่งกว่านั้น การวิจัยยังสรุปอีกกว่า เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้ค่อย ๆ โตขึ้นจะมีผลดีต่อการลดอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 

การคำนวณด้านต้นทุนและค่าตอบแทนเป็นเงินตราสรุปว่า การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 140 แปลง ๆ ละต้นลงทุนปลูกและดูแลรักษาระหว่าง 2,716 – 13,720 ดอลลาร์ต่อปีในขณะที่แต่ละต้นให้ค่าตอบแทนระหว่าง 8 – 20.4 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เป็นที่ทราบกันดี ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในเมืองให้ร่มเงาแก่ทางเท้า ดูดซับมลพิษในอากาศ ลดเสียงจากการจราจร และดูสบายตาพร้อมกับดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน 

ความร่มรื่นของต้นไม้เป็นแรงจูงใจให้ผู้คนออกไปทำกิจกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายเคลื่อนไหว  ปัจจัยเหล่านี้มีผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ผลการวิจัยดังกล่าวน่าจะเป็นข้อยืนยันชั้นดีอีกครั้งสำหรับความคุ้มค่าของการสร้างสวนสาธารณะวชิรเบญจทัศจากสนามกอล์ฟรถไฟเมื่อปี 2545 และสวนเบญจกิติจากพื้นที่โรงงานยาสูบในเวลาต่อมา

เนื่องจากสวนทั้งสองปลูกต้นไม้ไว้จำนวนมาก  หลังจากสร้างเสร็จ มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปใช้สวนทั้งสองอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ว่า ต้นไม้จูงใจให้คนไปทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว 

ถึงแม้จะไม่มีการวิจัยว่า การมีสวนสาธารณะทั้งสองแห่งทำให้ชาวกรุงเทพฯ รอบ ๆ สวนมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่ แต่ผลการวิจัยในต่างประเทศคงใช้เป็นตัวชี้บ่งได้ว่าน่าจะเป็นจริง 

กรุงเทพฯ จึงควรใช้ที่ดินที่ยังใช้สร้างพื้นที่สีเขียวได้สร้างพื้นที่สีเขียว หรือสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นแทนที่จะใช้ไปในทางสร้างป่าคอนกรีต

เมืองพอร์ตแลนด์มีประชากรราว 6.5 แสนคน หรือเท่า ๆ กับเกาะภูเกต จึงใหญ่กว่าเมืองต่าง ๆ ของไทยยกเว้นกรุงเทพฯ  แต่การวิจัยดังกล่าววางอยู่บนฐานของการแบ่งพื้นที่เป็น 140 ส่วน 

ข้อสรุปจึงบ่งว่าน่าจะใช้อ้างอิงได้สำหรับเมืองอันเป็นตัวจังหวัดและอำเภอของไทย  ฉะนั้น การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นตามหัวเมืองทั่วประเทศจะทำให้คนไทยโดยทั่วไปมีอายุยืนขึ้นด้วย