ส่อง 4 ข้อเสนอ ร่างธรรมนูญ "เกาะล้าน” สร้างกติกา อยู่อาศัย-ท่องเที่ยว

ส่อง 4 ข้อเสนอ ร่างธรรมนูญ "เกาะล้าน” สร้างกติกา อยู่อาศัย-ท่องเที่ยว

ชาวชุมชนเกาะล้าน เตรียมร่าง ธรรมนูญ "เกาะล้าน” ขึ้นเป็นกติกาการอยู่อาศัย-การท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันเป็นฉบับแรก วางข้อเสนอ 4 ด้าน เตรียมจัดเวทีรับฟังเสียงทุกภาคส่วน 30 พ.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎกติกาของพื้นที่ภายในปี 2566

"เกาะล้าน" เกาะทางฝั่งทะเลอ่าวไทย เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสี่ยงทางทะเล อยู่ห่างจากเมืองพัทยาเพียง 7.5 กิโลเมตร เกาะขนาด 4.7 ตารางกิโลเมตร กลางอ่าวไทย ข้อมูล ปี 2562 เกาะล้าน มีประชากรราว 2,958 คน

 

ด้วยความที่มีสถานที่ท่องเที่ยว  ทั้งหาดทรายหลายหาดให้พักผ่อน เช่น หาดตาแหวน หาดสังวาลย์ หาดทองหลาง หาดตายาย ฯลฯ นักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น เรือลากร่มชูชีพ เรือสกี และจุดเด่นที่มีจุดดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นสีสันสดใส

 

อีกทั้ง การเดินทางไปเกาะล้าน ใช้เวลานั่งเรือโดยสาร 45 นาที หากเดินทางโดยเรือเร็วก็ใช้เวลาเพียง 15 นาที มีเรือโดยสารออกจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ไปเกาะล้านทุกวัน พัทยา-เกาะล้าน (ท่าหน้าบ้าน) ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไม่ขาดสาย 

 

ส่อง 4 ข้อเสนอ ร่างธรรมนูญ \"เกาะล้าน” สร้างกติกา อยู่อาศัย-ท่องเที่ยว

 

ร่าง “ธรรมนูญเกาะล้าน”

 

ล่าสุด ชาวชุมชนเกาะล้าน เตรียมร่าง “ธรรมนูญเกาะล้าน” ขึ้นเป็นกติกาการอยู่อาศัย-การท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันเป็นฉบับแรก วางข้อเสนอ 4 ด้าน ลดน้ำเสียลงทะเล-การใช้พื้นที่สาธารณะ-ควบคุมยานพาหนะ-การอยู่ร่วมกัน เตรียมจัดเวทีรับฟังเสียงทุกภาคส่วน 30 พ.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎกติกาของพื้นที่ภายในปี 2566
 

นายสรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการชุมชนตำบลเกาะล้าน เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ตำบลเกาะล้าน ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกและขับเคลื่อนสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่เกาะล้าน ในวันที่ 30 พ.ย.2565 ซึ่งจะเป็นการระดมความคิดเห็นจากประธานชุมชนร่วมกันร่าง “ธรรมนูญเกาะล้าน” ของภาคสังคม เพื่อจัดการกับปัญหาในพื้นที่ พร้อมทั้งยังเป็นการร่วมกันกำหนดกติกาในพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะล้านเป็นครั้งแรก ด้วยการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่

 

 

สร้างกติกา ลดผลกระทบสุขภาวะ

 
นายสรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ชาวชุมชนเกาะล้านร่วมกันคิดข้อเสนอเตรียมจัดทำธรรมนูญเกาะล้าน เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน เพราะในพื้นที่ตำบลเกาะล้าน ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามารับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการจัดระเบียบด้านต่างๆ จึงทำให้ทุกปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะ ความเป็นอยู่ของชาวชุมชน คนเกาะล้านต้องพึ่งพาอาศัยกันเอง
 

ขณะเดียวกัน พื้นที่เกาะล้านยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพัทยา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาจำนวนมาก จึงเกิดการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นมาทั้ง โรงแรม รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชน มีการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตามการจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ในพื้นที่เกาะล้าน ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้คนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชน หรือกลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงมองกันว่าธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ จะสามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่เกาะล้าน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน จะได้เข้ามาร่วมกันสะท้อนปัญหา เสนอความคิดเห็น และนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน


 
“เราคาดหวังให้ชุมชนเกาะล้าน มีธรรมนูญเกาะล้าน ขึ้นมาเพื่อให้เป็นกติการ่วมกันในการอยู่อาศัย การประกอบธุรกิจ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวเอง ที่ได้รู้ถึงกฎระเบียบในการมาเที่ยวว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้เกาะล้านเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกาะล้านมีความยั่งยืนในอนาคต” เลขานุการชุมชนเกาะล้าน กล่าว

 

 

ข้อเสนอ 4 ด้าน จากชาวเกาะล้าน

 

ขณะที่ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จากการร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและภาคประชาชนพื้นที่ตำบลเกาะล้าน เบื้องต้นพบว่ามีข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. ขอให้งดการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการปล่อยลงสู่ทะเลทำให้ทำลายระบบนิเวศน์

2. กติกาการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น บริเวณท่าเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่จอดรถ

3. การควบคุมยานพาหนะในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว

4. การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และสถานประกอบการท่องเที่ยว
 

​ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ได้มีการนำเสนอไว้เบื้องต้น จะถูกนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนอีกครั้งร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะล้าน ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 โดยหลังจากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป ก็จะมีการยกร่างธรรมนูญเกาะล้านขึ้น พร้อมกับประกาศใช้เพื่อเป็นกติการ่วมกันของชาวชุมชนเกาะล้าน กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว ภายในปี 2566
 

“ธรรมนูญเกาะล้าน นอกจากจะเป็นกระบวนการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเอกชน ที่จะเข้ามาทำงานในลักษณะของหุ้นส่วนทางสังคมร่วมกันแล้ว ยังถือเป็นการร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สอดคล้องความต้องการของทุกฝ่าย ภายใต้การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุม” นายปรเมศวร์ กล่าว
 

สช. หนุนวิชาการ สร้างความร่วมมือ 

 

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ประชาชนเกาะล้าน เมืองพัทยา ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยการใช้ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือในการสร้างกติการ่วมกันของทุกภาคส่วน จะเป็นการสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้ภาคประชาชนเกิดการมีส่วนร่วม และเข้ามาเสนอแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ ที่สอดรับกับสุขภาวะและความต้องการของผู้คน


 
ในส่วนบทบาทของ สช. จะเข้าไปช่วยส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องของกระบวนการทางวิชาการ และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด ไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา และทำให้การร่างธรรมนูญเกาะล้านฉบับนี้เขียนขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมายของกระบวนการที่ควรจะเป็น
 


นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า พื้นที่เกาะล้าน มีความแตกต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ ด้วยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีผู้คนที่หลากหลายเข้าสู่พื้นที่ ทั้งไทย และต่างชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเริ่มต้นสำหรับพื้นที่เศรษฐกิจ ให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ชุมชนกับธุรกิจการท่องเที่ยว เข้ามาแสวงหาทางออกเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยผู้นำท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน ได้ใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ของตนเอง


 
“การใช้ธรรมนูญพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนหรือคนหมู่มาก จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้งานเพื่อเป็นเครื่องมือออกจากปัญหานั้นด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการเห็นความทุกข์ร่วมกัน ร่วมกันเสนอแนวทาง หาทางออก ขณะที่ภาคีเครือข่ายส่วนอื่นๆ ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเขียนกติกาต่างๆ หรือข้อบัญญัติ ข้อบังคับในพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันทุกภาคส่วน เป็นข้อตกลงที่สำคัญในชุมชน ซึ่งชุมชนเองก็จะทำหน้าที่ดูแลรักษาข้อตกลงนี้ไว้อย่างดีที่สุด” นพ.ปรีดา กล่าวทิ้งท้าย
 

 

อ้างอิง : วิกิพีเดีย , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)