สงกรานต์ มีเซ็กส์เสี่ยงติด 'เอชไอวี' เตือนรับยาป้องกันภายใน 3 วัน

สงกรานต์ มีเซ็กส์เสี่ยงติด 'เอชไอวี' เตือนรับยาป้องกันภายใน 3 วัน

เตือน เมาช่วงสงกรานต์ เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจติดเชื้อ HIV เผย บางคนไม่รู้ตัวติดเชื้อ จึงถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอน แนะ หากสุ่มเสี่ยงรับยากินฟรี ภายใน 3 วัน 

นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "7 วันอันตราย" เทศกาลสงกรานต์ นอกจากเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ก็มีการจัดงานรื่นเริงปาร์ตี้ในสถานที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มวัยไม่ว่าจะเป็นชายหญิง หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือไม่สวมถุงยางอนามัย

ทำให้มีโอกาสการติดเชื้อ HIV(เอชไอวี) ได้ง่าย โดยสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ติดเชื้อ HIV ยังไม่ทราบสถานะติดเชื้อของตนเองและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาทำให้คนเหล่านี้ถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอนต่อไป 

ในปี 2568 คาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8,862 คน โดยการติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายมากกว่า 60% มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวน 10,217 คน และมีผู้ติดเชื้อ HIV สะสมยังคงมีชีวิตอยู่จำนวน 568,565 คน

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้อนุมัติจัดซื้อยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี( HIV) ก่อนเสี่ยงและหลังจากเกิดความเสี่ยงให้กับประชาชนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงจะต้องไปรับยา PEP Post-Exposure Prophylaxis โดยจะต้องเริ่มรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังมีความเสี่ยงและรับประทานติดต่อกันนาน 28 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV

และประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อสามารถรับยา PrEP Pre-Exposure Prophylaxis เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะมีรายละเอียดในเรื่องของวิธีการใช้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 689 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568

ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ประชาชนสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีการขยายความร่วมมือจัดบริการกับหน่วยบริการภาคประชาสังคม ได้แก่ Mplus เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก โคราช CareMet เชียงใหม่ SWING ชลบุรี RSAT อุบลราชธานี สงขลา

อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ได้เจรจาตกลงที่จะขอซื้อยารักษาชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์นาน มีทั้งรูปแบบฉีดและยารับประทาน จาก บริษัท Mylan สำหรับ ยาต้าน HIV Lenacapavir ให้กับผู้ป่วย HIV เมื่อการดำเนินการผลิตที่ประเทศอินเดียแล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ป่วย HIVและเอดส์ ที่ดื้อยา และลดเวลาการที่จะต้องทานยาทุกวัน