ดัน‘สูงวัย’เคลื่อนเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน-เพิ่มโปรดักทิวิตี้

ดัน‘สูงวัย’เคลื่อนเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน-เพิ่มโปรดักทิวิตี้

จับตาปี 2576 ไทยสังคมสูงวัยระดับสุดยอด วัยเก๋าแตะ 30% สศช.หนุน ‘เศรษฐกิจสีดอกเลา’ ดันเข้าตลาดแรงงาน เพิ่มผลิตภาพการผลิต กำลังซื้อสูงเป็นตลาดสำคัญ แนะมาตรการควิกวิน

ในปี 2548 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 % ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ประชากรผู้สูงอายุ 20 % มีเพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่ยังมีไม่ถึง 20 % และประมาณการว่าในปี 2576 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า มีผู้สูงอายุ 28 %ของประชากรทั้งหมด เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society)

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั่วโลกและไทย ส่งผลให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ เรียกว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “เศรษฐกิจสีดอกเลา” (Silver Economy) ที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้สูงอายุใช้จ่ายโดยตรง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ซึ่งผู้สูงอายุมีบทบาททั้งในฐานะกำลังแรงงานและผู้บริโภค

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในปี 2576 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 28% ส่วนวัยแรงงานลดลงเหลือ 58 % และวัยเด็ก มีสัดส่วนอยู่ที่ 14% 

ขณะที่ การผลิตภาพ (Productivity) ของวัยแรงงานไทย ในปี 2567 อยู่เพียงอันดับที่ 56 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก จัดอันดับโดย International Institute for Management Development หรือ IMD

“อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราต่ำมาโดยตลอด โดยในปี 2567 อยู่ที่ 2.80 % ซึ่งวัยแรงงานนอกจากประสิทธิภาพต่ำแล้ว ในเชิงจำนวนก็ลดลง แต่การที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คงสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุเกือบ 30% ในการช่วยสร้างประสิทธิภาพการผลิตให้กับประเทศ” นางสาววรวรรณ กล่าว

สศช.มองกลุ่มสูงวัยเป็นตลาดสำคัญ

นางสาววรวรรณ กล่าวว่า มองอนาคตผู้สูงอายุจะเป็นตลาดสำคัญจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุของทั่วโลกและประเทศไทย ด้วยตัวเลขเชิงปริมาณจำนวนผู้สูงอายุสูงมากขึ้น นำมาสู่การขับเคลื่อน“เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “เศรษฐกิจสีดอกเลา” (Silver Economy) โดยได้มีการคาดการณ์แนวโน้มด้านการใช้จ่ายในสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่จะมากขึ้นในอนาคต 

นอกจากนี้ หากพิจารณาโดยไม่อิงข้อมูลทางวิชาการ เราจะสังเกตได้ว่าในวันธรรมดามีผู้สูงอายุเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุจึงเป็นทั้งกำลังซื้อและสัดส่วนแรงงานที่สำคัญในอนาคต สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเรื่องอาชีพที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดงานได้ และการผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงวัย

ผู้สูงวัยมีรายได้ 2.4 ล้านล้าน/ปี

จากการที่ สศช.ได้ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) เกี่ยวกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศเมื่อจำนวนผู้สูงอายุมีเกือบ 30 % ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นมีการประมาณการผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ปี 2566 มองผู้สูงอายุ 2 สถานะ ประกอบด้วย

1.ผู้สูงอายุในฐานะปัจจัยการผลิต สร้างรายได้ในปี 2566 ราว 2.4 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากการทำงานของพวก Self-employed ที่ประกอบการในภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งภาคเกษตร 1.74 ล้านล้านบาท ค่าจ้างและเงินเดือน อยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาท 

ส่วนรายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่การทำงาน เช่น บำเหน็จ บำนาญ เงินชดเชย และเงินทดแทนการออกจากงาน รวมถึงเงินช่วยเหลือต่างๆ อาทิ เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ รวมอยู่ที่ 5.52 แสนล้านบาท

ดัน‘สูงวัย’เคลื่อนเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน-เพิ่มโปรดักทิวิตี้

รายจ่ายผู้สูงวัยแตะ 1.7 ล้านล้าน/ปี

     2.ผู้สูงอายุในฐานะผู้บริโภคสินค้าและบริการ ที่เป็นส่วนรายจ่าย ในปี 2566 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะค่าใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่ายานพาหนะ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ยังไม่รวมของภาครัฐ ค่าสวัสดิการต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล แต่เคยมีการประมาณการว่าหากรวมค่าใช้จ่ายภาครัฐจะอยู่ที่ 1.92 ล้านล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ แม้ผู้สูงอายุ 33.9% มีรายได้จากการทำงาน แต่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงรายได้จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการพึ่งพาบุตร 35.7% หรือพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น เบี้ยยังชีพ 13.3% 

ขณะที่มีรายได้จากดอกเบี้ยการออมเพียง 1.6% ซึ่งหากผู้สูงอายุมีรายได้และเงินออมที่เพียงพอ และภาครัฐดูแลรายจ่ายที่เป็นสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องมีรายจ่ายส่วนนี้ ก็จะมีเงินในกระเป๋าเหลือที่จะสามารถบริโภคสินค้าและบริการได้

เผยสูงวัยอยู่ในตลาดงาน 37.5%

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพหรือกลุ่ม Active Ageing สามารถเข้าสู่ตลาดงานได้ ซึ่งปัจจุบันจากจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน มีการทำงานอยู่ที่ 5 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยเพศชายมีอัตราส่วนเข้าสู่ตลาดแรงงาน 48.1% เพศหญิง 29.7% 

ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานนอกระบบ 86.8 % ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 59.3% แต่รายได้เฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่เดือนละ 5,796 บาท ขณะที่ภาคบริการและการค้ามีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 13,848 บาท ภาคการผลิต 12,555 บาท

“ประเทศไทยยังกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี ขณะที่คนอายุ 60-69 ปีที่มีศักยภาพยังสามารถทำงานได้ แต่ประเทศอื่นอาจจะเกษียณที่ 65 ปีและเป็นประเทศที่พัฒนาหรือรวยแล้ว ถึงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วโดยยังไม่ได้รวยเหมือนแก่ก่อนรวย” นางสาววรวรรณ กล่าว

หนุนผู้สูงวัยเข้าสู่ตลาดงาน

ข้อจำกัดที่ทำให้ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง อาทิ ตลาดงานปัจจุบันมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากการที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง 

ฉะนั้นทักษะงานแบบเดิมอาจจะไม่สามารถรองรับตลาดงานใหม่ๆได้ บวกกับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งระดับการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา , หลักสูตรการอบรมต่างๆไม่ได้รองรับตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ รวมถึง กฎหมายไม่ได้จูงใจให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ บวกกับยังไม่มีนโยบายขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี

“ในระยะยาวผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 30% จากที่มีการทำวิจัย กลุ่มที่อยู่รอดคือข้าราชการที่มีรายได้จากบำเหน็จบำนาญ จะมีความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ" นางสาววรวรรณ กล่าว

ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี มีกำลัง มีศักยภาพก็ควรสนับสนุนให้เข้าสู่ตลาดงาน โดยควรขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะผู้สูงอายุที่เกษียณอายุในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้ที่เพียงพอกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แนะ Quick win กำหนดมาตรการรัฐ

สำหรับ Quick win และมาตรการที่ภาครัฐควรจะดำเนินการส่งเสริม โดยหากมองผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต รวมทั้งอยากให้เข้าสู่ตลาดเพื่อทำงานต่อเนื่อง คือ 

1.ส่งเสริมการreskill/upskill โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมที่เอื้อให้สามารถเข้าสู่ตลาดงานที่เหมาะสมได้ ทั้งการเป็นแรงงานเอง มีหรือเจ้าของกิจการ (Olderpreneur) 

2.ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่ยืนยาว ผ่านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) เพื่อให้ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี

3.สร้างความรอบรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ทั้งการออมและการลงทุน ไม่ใช่เป็นหนี้ เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุมีภาระหนี้และเป็นหนี้เสียค่อนข้างสูง โดยต้องมีนโยบายสร้างหลักประกันให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางการเงินหลังการเกษียณ 

ดัน‘สูงวัย’เคลื่อนเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน-เพิ่มโปรดักทิวิตี้

4.ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ ทั้งการเป็นผู้ประกอบเอง หรือรวมกลุ่มทำงานภายใต้แพลตฟอร์มใหม่

5.พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดงาน ทั้งการเดินทางสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานประกอบการ

6.พัฒนามาตรการจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ ต้องมองมากกว่ามาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน ซึ่งการที่ผู้สูงอายุมีทักษะ ประสบการณ์ ศักยภาพ จะเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ตลาดงานและสถานประกอบการพร้อมที่จะจ้าง เช่น แพทย์ ผู้พิพากษาไม่ได้เกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ยังสามารถขยายอายุทำงานไปได้ด้วยประสบการณ์และศักยภาพการทำงาน

7.ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือจูงใจให้ผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่จะต้องมีการผลักดัน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... หรือการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน พ.ศ.2553 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอแก้ไขกฎหมาย

“สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูงวัยอยู่ที่ทัศนคติ (Mindset) ของผู้สูงอายุ โดยต้องเปลี่ยนจากเกษียณแล้วหยุดทำงาน เป็นเกษียณแล้วเป็นการสร้างโอกาสใหม่ของผู้สูงอายุ เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ส่วนภาคเอกชน ในฐานะสถานประกอบการ โดยควรผนวกการทำงานร่วมกันของผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับสถานประกอบการและประเทศ” นางสาววรวรรณ กล่าว

7โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจสูงวัย

ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูล 7 โจทย์ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจสูงวัย ในเวที “สานพลังไทยรับมือสูงวัยไปด้วยกัน” (Smart Aging Society, Together we can)” ครั้งที่ 1 มิติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

1.อนาคต ขนาดของเศรษฐกิจสูงวัยจะเติบโตขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะในด้านความต้องการสินค้าและบริการ 

2.รายได้ของผู้สูงอายุอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากการขาดการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน และข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมใน ตลาดแรงงานของผู้สูงอายุ

3.ผู้สูงอายุอาจจะต้องหันไปพึ่งพาครอบครัวหรือพึ่งพาภาครัฐ 

4.การผลิตสินค้าและบริการ ต้องมีคุณภาพเข้าถึงผู้สูงอายุหมู่มาก ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ เพิ่มความหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการทางด้านสุนทรีย์ที่มากขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านการเงิน และการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม

ดัน‘สูงวัย’เคลื่อนเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน-เพิ่มโปรดักทิวิตี้

5.การทำงาน เกษตรกรผู้สูงอายุต้องทำงานจนแก่ แรงงานในระบบต้องไม่ออกจากการทำงานก่อนวัยอันควร ส่วนแรงงานที่เป็น gig worker ต้องได้รับสิทธิสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมถึงภาครัฐจะต้องสร้างโอกาสและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุออกมาทำอาชีพอิสระมากขึ้น

6.การกำหนดนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ค่าแรงผู้สูงอายุ/ค่าแรงงานรายชั่วโมง สินค้าและบริการควบคุมสำหรับผู้สูงอายุ 

7.นโยบายเศรษฐกิจ ควรดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ เช่น Soft Power, เศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ , เศรษฐกิจหมุนเวียน  และเศรษฐกิจสีเขียว) , Entertainment Complex เป็นต้น

“เศรษฐกิจสูงวัย ประมาณการรายจ่ายของผู้สูงอายุในปี 2576 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% ต่อปี แยกเป็น 3.1% จากการเพิ่มของประชากร และ 3.3% จากการบริโภคต่อหัว”

ชี้ 5 เทรนด์ธุรกิจรองรับสังคมสูงวัย

ในส่วนของ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง คือ 1.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2.การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม

3.การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน 4.ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และ 5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะสร้างโอกาสเติบโต