“กัญชาXมะหาด” กรมวิทย์เผยลดผมร่วง สร้างรากผมแข็งแรง

“กัญชาXมะหาด” กรมวิทย์เผยลดผมร่วง สร้างรากผมแข็งแรง

กรมวิทย์วิจัยเครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ลดอาการผมขาดหลุดร่วง เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น  ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดงานวิจัยสู่ท้องตลาด ภายใต้แบรนด์คนไทย เพิ่มมูลค่าสมุนไพร สร้างเศรษฐกิจประเทศ

KEY

POINTS

  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิจัยสมุนไพรไทย เป็นเครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ลดอาการผมร่วงหลุดขาด เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น  
  • ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดงานวิจัยสู่ท้องตลาด ภายใต้แบรนด์คนไทย เพิ่มมูลค่าสมุนไพร สร้างเศรษฐกิจประเทศ
  • ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยย้อนหลัง 8 ปี  แนวโน้มโตขึ้น ตั้งเป้าภายในปี 2570 มูลค่า 104,220 ล้านบาท ขับเคลื่อน 15 สมุนไพร  Herbal Champions

กรมวิทย์วิจัยเครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ลดอาการผมขาดหลุดร่วง เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น  ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดงานวิจัยสู่ท้องตลาด ภายใต้แบรนด์คนไทย เพิ่มมูลค่าสมุนไพร สร้างเศรษฐกิจประเทศ

ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาสมุนไพรไทย มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว  เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัว สามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ

ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตสมุนไพรเชิงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล เพื่อบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับบริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายพรชัย ปัทมินทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ดร.ซีบีดีเป็นบริษัทที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์และจะพาความเป็นสมุนไพรทางตะวันออกไปพบกับความเป็นตะวันตก และได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ในเชิงการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรนี้ แก่บริษัท เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการถ่ายทอดไปผลิตจำหน่าย ในเชิงพาณิชย์
“กัญชาXมะหาด” กรมวิทย์เผยลดผมร่วง สร้างรากผมแข็งแรง

เป็นการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของไทย เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นี้ได้มากยิ่งขึ้น

เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของสมุนไพรไทย ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถออกมาจำหน่ายในท้องตลาด ได้เร็วๆ นี้
คำตอบสู่สมุนไพรไทยมูลค่า 2-4 แสนล้านบาท

การดำเนินการเกี่ยวกับสมุนไพรที่เป็นของดีที่มีอยูในภูมิถิ่นตะวันออก โดยการนำสารสกัดจากสมุนไพรที่มีความหลากหลายมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มาพิสูจน์ในการใช้จริง ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ โรงงานมีมาตรฐาน เป็นคำตอบของแนวทางเดียวที่จะยกระดับเศรษฐกิจ ทำให้สมุนไพรสร้างมูลค่า 2-4 แสนล้านบาท  ไม่ใช่การขับเคลื่อนในรูปแบบตำรับยาหรือตำรับยาเฉพาะ หรือยาปรุงเฉพาะ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการใช้และการประเมินในเชิงวิทยาศาสตร์

“การที่กรมทำงานร่วมกับบริษัท ดร.ซีบีดีเป็นการเห็นพ้องต้องกัน ในการนำสมุนไพรมาสร้างฐานทางผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางการแพทย์ ได้รับการยอมรับ และมีการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาตร์ จะเป็นคำตอบในการนำสมุนไพรมาสร้างสุขภาพ และเศรษฐกิจ”นพ.ยงยศกล่าว   

กัญชาผสมมะหาดลดผมร่วง

สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลขึ้น โดยศึกษาวิธีการเตรียมสารสกัดจนได้สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) และออกซีเรสเวอราทรอล (Oxyresveratrol) ที่มีความบริสุทธิ์สูง

นำมาพัฒนาสูตรตำรับเป็นผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล ที่มีประสิทธิภาพช่วยบำรุงหนังศีรษะ ลดอาการผมขาดหลุดร่วง ผมแห้งเสีย หนังศีรษะแห้งหรือหนังศีรษะมัน และช่วยปรับสมดุลให้หนังศีรษะ เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น ฟื้นบำรุงเส้นผม และหนังศีรษะให้มีสุขภาพดี

ผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครแล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่ผ่านระบบการวิจัยสมัยใหม่ตามมาตรฐานสากล

วางการตลาดสู่ส่งออก

ขณะที่ พรชัย ปัทมินทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dr.CBD จำกัด  กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะผลักดันนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งกัญชา กัญชง กระท่อมเชิงการแพทย์ออกเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง 
“กัญชาXมะหาด” กรมวิทย์เผยลดผมร่วง สร้างรากผมแข็งแรง

ซึ่งผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอลนี้ จะเป็นสิ่งที่เดินหน้าเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง โดยมีการทำงานร่วมกับฝั่งเอกชนที่เป็นแฮร์ซาลอน Chain ที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย และเมื่อมีการดำเนินเชิงพาณิชย์จะมีตราสัญลักษณ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเดินหน้าขออนุญาตจากสำนักวานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีเป้าที่จะดำเนินส่งออก คาดว่าจะวางจำหน่ายได้ในเร็วๆนี้

“ประเทศไทยมีของดีๆ ตั้งแต่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน จนพัฒนามาเป็นเรื่องของเภสัชบนฐานหลักทางวิทยาศาสตร์ทั้งกัญชา กัญชง กระท่อม มีจุดดีที่นำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย ในเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ จึงตั้งใจตั้งมั่นทำมาตลอดในการผลักดัน”พรชัยกล่าว   
 

สมุนไพรไทยสร้างความแตกต่างในตลาดโลก

พรชัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปคือการมีพันธมิตรต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน มาทำงานร่วมกัน เพื่อเปิดตลาดในเรื่องผลิตภัณฑ์ สินค้า สามารถส่งออก อยากเห็นยาของไทยไปสู่ต่างประเทศได้สักครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาแน่นอน แต่เป็นพันธกิจที่สามารถเดินไป และมีคนสนใจจริง

“สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ในเรื่ององค์ความรู้ทางตะวันออกและหลักวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปสร้างความแตกต่างเรื่องของผลิตภัณฑ์ นำไปแข่งในตลาดโลกได้ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก เพราะคนสนใจเรื่องของการป้องกันก่อนการรักษา และการใช้สารธรรมชาติมากกว่าสารสังเคราะห์ ดีต่อสุขภาพมากกว่า”พรชัยกล่าว
 

ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย 

  • ปี 2559  มูลค่า 39,831 ล้านบาท
  • ปี 2560 มูลค่า 44,176 ล้านบาท
  • ปี 2561 มูลค่า 49,071 ล้านบาท
  • ปี 2562 มูลค่า 53,396 ล้านบาท
  • ปี 2563 มูลค่า 45,997 ล้านบาท
  • ปี 2564 มูลค่า 48,112 ล้านบาท
  • ปี  2565 มูลค่า 52,110 ล้านบาท
  • ปี 2566 มูลค่า  56,944 ล้านบาท
  • ภายในปี 2570 ตั้งเป้ามูลค่า 104,220 ล้านบาท

15 สมุนไพร Herbal Champions

  • กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ
  • กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา