ส่องสถานการณ์ “กัญชา-กระท่อม” หลังปลดล็อก เกือบ 2 ปี 

ส่องสถานการณ์ “กัญชา-กระท่อม” หลังปลดล็อก เกือบ 2 ปี 

ปลดล็อกกัญชา ปลดล็อกกระท่อม เกือบ 2 ปี พบยังเข้าใจผิด ทำให้มีการใช้อย่างผิดกฎหมาย ส่วนทิศทางต่อไปยังไม่ชัดเจน จนกว่ากฎหมายใหม่จะออกมาบังคับใช้

KEY

POINTS

  • ย้อนรอยการปลดล็อกพืชเสพติด กัญชา กระท่อม จากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 เมื่อกว่า 2 ปีก่อน  ที่ส่งผลให้มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย 
  • ปลดล็อกกัญชา กระท่อม ส่วนที่คนเข้าใจผิด จึงมีการใช้แบบผิดกฎหมาย น้ำกระท่อมขายเกลื่อนริมทาง ส่วนกัญชายังเป็นสมุนไพรควบคุมต้องขออนุญาตก่อน 
  • ทิศทางต่อไปของ กัญชา กระท่อม ที่ยังลุ่มๆดอนๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนจะเดินหน้า หรือถอยหลังแบบไหน ทำประชาชน ผู้ประกอบการสับสน

ปลดล็อกกัญชา ปลดล็อกกระท่อม เกือบ 2 ปี พบยังเข้าใจผิด ทำให้มีการใช้อย่างผิดกฎหมาย ส่วนทิศทางต่อไปยังไม่ชัดเจน จนกว่ากฎหมายใหม่จะออกมาบังคับใช้

ตั้งแต่มีการปลดล็อก กัญชา และกระท่อมในปี 2565 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว สถานการณ์การใช้กัญชา กระท่อม ยังเป็นไปแบบกล้าๆกลัวๆ  กระท่อมมีการขายในรูปแบบที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งครึ่ม ส่วนกัญชา ไม่รู้จะเสรีหรือติดเงื่อนไข

เส้นทางปลดล็อกกัญชา กระท่อม

กัญชา เริ่มด้วยการนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องทางการแพทย์ โดยในพ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 7) อนุญาตให้ใช้ “กัญชาทางการแพทย์”และการศึกษาวิจัยในประเทศไทย 

และในปีเดียวกันช่วงต้นปี กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศสธ. เรื่อง การครอบครองยาเสพติดให้โทษ ประเภท5 เฉพาะกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับที่ 7 จะมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศ 16 ตำรับรายการยาแผนไทย ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้

  • กลางปี 2562  ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนให้เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง เพื่อสร้างเศรษฐกิจ 
  • จนปลายปี 2563 ประกาศสธ. เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท5 ซึ่งเป็นการปลดล็อกเฉพาะส่วนของกัญชา กัญชงให้นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นเยาสพติด ยกเว้น ช่อดอกและมล็ดกัญชา
  • ปลายปี 2564 มีการออกประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เป็นการยกเลิกกฎหมายยาเสพติดฉบับเดิม
  • และต้นปี  2565 มีการปลดล็อกกัญชา กัญชงจากยาเสพติดประเภท 5  ยกเว้น สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % โดยน้ำหนักที่ยังเป็นยาเสพติด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2565
  • ก่อนที่จะมีการออกประกาศสธ. กำหนดให้ช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุมในช่วงปลายปี 2565

สำหรับกระท่อม ได้รับการปลดล็อกตามพ.ร.บ.พืชกระท่อม 2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2565 โดยเป็นการปลดล็อก “ใบกระท่อม” ให้ขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 

กัญชา กระท่อมที่ผิดกฎหมาย

ช่อดอกกัญชายังเป็นสมุนไพรควบคุม

สถานะปัจจุบันของกัญชา ส่วนของช่อดอกจัดเป็น “สมุนไพรควบคุม” ดังนั้น การศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า ต้องจัดทำและแจ้งข้อมูลแหล่งที่มา การนำไปใช้และจำนวนที่เก็บไว้ หากส่งออกต้องขออนุญาต

รวมถึง ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร นิสิต นักศึกษา ห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด

ผลการออกใบอนุญาตตามประกาศสมุนไพรควบคุม ภาพรวมประเทศ 14,518 ฉบับ ในพื้นที่กทม.2,924 ฉบับ ต่างจังหวัด 11,594 ฉบับ แยกเป็นอนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูป 13,970 ฉบับ ส่งออก 515 ฉบับ ศึกษาวิจัย 33 ฉบับ

ผลการติดตามและบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปตามกฎหมาย 13,535 ฉบับ พักใช้ 975 ฉบับสาเหตุจากการไม่ส่งรายงาน ,โฆษณา,จัดให้สูบในร้าน,ไม่แสดงใบอนุญาต จำหน่ายออนไลน์ เพิกถอน  8 ฉบับด้วยสาเหตุจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร 1 แห่ง 
การดำเนินคดีผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต 71 ราย จำคุก 35 ราย ปรับ ริบของกลาง 33 ราย และอย่ระหว่างพิจารณาศาล 3 ราย 

ขายน้ำกระท่อมไม่ขออนุญาต  ผิด

การปลดล็อกใบกระท่อม สำนักงานป.ป.ส. ประมาณการจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และสมาคมผู้ปลูกกระท่อมภาคเหนือแห่งประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทย มีแปลงปลูกพืชกระท่อม 13,912 แปลง พื้นที่ประมาณ 34,514.09 ไร่ ต้นกระท่อมมากกว่า 2 ล้าน 25 แสนต้น 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมีข้อกำหนดในเรื่องการนำเข้า ส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับอนุญาต และหากมีการนำใบกระท่อมไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่น ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆกำหนด

ส่องสถานการณ์ “กัญชา-กระท่อม” หลังปลดล็อก เกือบ 2 ปี 

ฉะนั้น หากว่าด้วยพ.ร.บ.อาหารแล้ว น้ำกระท่อมบรรจุขวดที่มีการวางขายเกลื่อนริมทางนั้น หากไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่พิจาณาตามกฎหมายผลิตภัณฑ์อาหาร ถือว่า ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ อย.ได้ระบุถึงปริมาณไมทราไจนีนที่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุต่อวัน

ทว่า ผลการสำรวจกรณีศึกษาปริมาณไมทราไจนีนในน้ำต้มกระท่อมที่วางจำหน่ายในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ดำเนินการโดยร.ร.มอ.วิทยานุสรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ม.สงขลานครินทร์ พบว่า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 178.26 มิลลิกรัมต่อลิตร  สูงสุดที่พบ246 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่ำสุด 59 มิลลิกรัมต่อลิตร

ทิศทางต่อไปของกัญชา กระท่อม 

กัญชา หาก พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่ยกร่างโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว มีผลออกมาบังคับใช้ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่า การใช้ประโยชน์จากกัญชา ส่วนใดทำได้ ทำไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญ “ห้ามใช้สันทนาการ” เป็นอย่างหนึ่งที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน

ขณะที่กระท่อม สิ่งที่เป็นปัญหา คือการนำใบกระท่อมมาแปรรูป โดยเฉพาะ “น้ำต้มกระท่อม” ที่มีการบรรจุขวดขาย โดยไม่ผ่านอย.และสุ่มเสี่ยงจะมีสารไมทราไจนีนเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต 

วีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด ป.ป.ส. กล่าวถึงตัวอย่าง “นครราชสีมาโมเดล” ที่เป็นการควบคุมการจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อม มีการบูรณาการทำงานของทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ

และใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้อย่างจริงจังในการควบคุมการขายน้ำต้มใบกระท่อมและแจ้งให้ประชาชนรับทราบ ส่งผลให้ประชาชนมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการขายน้ำต้มใบกระท่อมเข้ามา  เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายได้