เปิด “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัด" มีกัญชา 1 กระท่อม 2 จ.

เปิด “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัด" มีกัญชา 1 กระท่อม 2 จ.

"สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด" กรมการแพทย์แผนไทยฯคัดเลือกจากสมุนไพรพบมาก มีค่า หายาก พืชเศรษฐกิจ  เสร็จแล้ว 57 จังหวัด มีกัญชา1 จังหวัด กระท่อม 2 จังหวัด  ดันต่อสู่เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีที่สุดของจังหวัดที่ต้องเลือกไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร สินค้า OTOP

KEY

POINTS

  • สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คัดเลือกเสร็จแล้ว 57 จังหวัด ที่เหลือในอีก 1-2 เดือน 
  • กัญชาสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด สกลนคร กัญชง จ.เชียงใหม่ ส่วนกระท่อม ประจำ 2 จังหวัด กระบี่และสงขลา เน้นพบมาก มีค่า หายาก พืชเศรษฐกิจของพื้นที่ 
  • แนวทางการส่งเสริมผลักดันต่อยอด สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด ซึ่งตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมูลค่า 1.04 แสนล้านบาทในปี  2570

"สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด" กรมการแพทย์แผนไทยฯคัดเลือกจากสมุนไพรพบมาก มีค่า หายาก พืชเศรษฐกิจ  เสร็จแล้ว 57 จังหวัด มีกัญชา1 จังหวัด กระท่อม 2 จังหวัด  ดันต่อสู่เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีที่สุดของจังหวัดที่ต้องเลือกไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร สินค้า OTOP

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการด้านวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ได้พิจารณาผ่านแล้ว 57 จังหวัด อยู่ระหว่างการพิจารณา 19 จังหวัด

สมุนไพอัตลักษณ์จังหวัดภาคเหนือ

  • เชียงใหม่   กัญชง
  • แม่ฮ่องสอน  บุกไข่
  • เชียงราย  ส้มป่อย
  • ลำพูน  เปล้าใหญ่
  •  ลำปาง  กวาวเครือ
  • พะเยา  เพชรสังฆาต
  •  แพร่  กลอย
  • น่าน  มะแข่น/มะแขว่น
  • ตาก  ขมิ้นชัน
  •  สุโขทัย  เพกา
  • พิษณุโลก  ส้มซ่า
  • กำแพงเพชร  สมอพิเภก
  • เพชรบูรณ์  ขิง
  • พิจิตร  ฟ้าทะลายโจร

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคกลาง

  • ชัยนาท  มะตูม
  • นครปฐม กระชาย
  •  นนทบุรี หน่อกะลา
  • ปทุมธานี  บัวหลวง
  • พระนครศรีอยุธยา  ผักเสี้ยนผี
  • ลพบุรี  ฟ้าทะลายโจร
  • สมุทรปราการ  เหงือกปลาหมอดอกม่วง
  • สมุทรสาคร  เหงือกปลาหมอดอกขาว
  •  สมุทรสงคราม  เกลือสมุทร
  • สุพรรณบุรี  ว่านพระฉิม
  • อุทัยธานี  คนฑา
  • อ่างทอง  ข่าตาแดง
    เปิด “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัด\" มีกัญชา 1 กระท่อม 2 จ.

สมุนไพรอัตลักษณ์ภาคใต้

  • กระบี่  กระท่อม
  • ชุมพร  มะเดื่ออุทุมพร
  • ตรัง หัวร้อยรู และพริกไทย
  • นครศรีธรรมราช  จันทน์เทศ
  • นราธิวาส คนที
  • ปัตตานี  ปลาไหลเผือก
  •  พัทลุง  ไพล
  • ภูเก็ต  ส้มควาย
  • สงขลา  กระท่อม
  • สุราษฎร์ธานี  ขมิ้นชัน

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคตะวันตก

  • กาญจนบุรี  มะขามป้อม
  • ประจวบคีรีขันธ์  ว่านหางจระเข้
  •  ราชบุรี  ขมิ้นอ้อย
  • เพชรบุรี  หัวเข่าคลอน

สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคตะวันออก

  • จันทบุรี  กระวาน และพริกไทย
  • ปราจีนบุรี  ฟ้าทะลายโจร

    สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดภาคอีสาน

  • กาฬสินธุ์ ขมิ้นชัน

  • ขอนแก่น คูน

  • ชัยภูมิ เร่วน้อย

  • นครพนม สมอไทย

  • นครราชสีมา พรมมิ

  • บุรีรัมย์ กะเม็ง

  • มุกดาหาร ว่านกีบแรด

  • ยโสธร โคคลาน

  • ร้อยเอ็ด กำแพงเจ็ดชั้น

  • เลย กระชายดำ

  • ศรีสะเกษ หอม

  • สกลนคร กัญชา

  • สุรินทร์ โลดทะนงแดง

  • อุดรธานี ข่า

  • อุบลราชธานี บัวบก

เกณฑ์สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด

น.ส.กมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่รู้ข้อมูลพื้นที่ตัวเองดี คัดเลือกสมุนไพรที่มีค่า มีการพบมาก เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือหายาก มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ อนุกรรมการฯก็จะมาพิจารณาเลือกแล้วให้ข้อมูลทางด้านสารสำคัญ งานวิจัยเข้าไป

อย่างเช่น หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรหายากของตรังและใช้ทางยารักษาโรคมะเร็ง มีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น มีการปลูกที่ยากมาก จึงให้หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของตรัง ก็มีแผนว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนในธรรมชาติ

“แต่ละจังหวัดมีสภาพพื้นที่และนิเวศแตกต่างกัน การขึ้นหรือเกิดสมุนไพรแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน คุณภาพคือสรรพคุณทางยาก็จะแตกต่างกัน จึงมาดูว่าแต่ละจังหวัด สมุนไพรชนิดไหนที่ปลูกแล้วได้คุณภาพทางยาที่ดี ก็จะส่งเสริมให้จังหวัดนั้นปลูกสมุนไพรชนิดนั้นๆ เป็นการเลือกให้เหมาะสมสภาพพื้นที่และส่งเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป ส่วนอีก 19 จังหวัดกำลังพิจารณาคาดว่าจะคัดเลือกได้ภายใน 1-2 เดือน”น.ส.กมลทิพย์กล่าว

น.ส.กมลทิพย์ กล่าวด้วยว่า สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดอาจจะมีซ้ำกันได้ เช่น ขมิ้นชัน มีสุราษฎร์ธานีกับตาก ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยที่สุราษฎร์ธานีจะมีสารเคอร์คูมินอยด์สูง แต่ตากจะมีส่วนของน้ำมันหอมระเหยที่สูง  บางจังหวัดก็มี 2 ชนิด เช่น ตรังมีหัวร้อยรูและพริกไทย ซึ่งพริกไทยของตรังมีคุณภาพดีมาก พอๆ กับของจันทบุรี แหล่งพริกไทยสำคัญและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอก็ให้พริกไทยทั้งที่ตรังและจันทบุรี

เปิด “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัด\" มีกัญชา 1 กระท่อม 2 จ.

แผนต่อยอดสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด

การส่งเสริมต่อยอดสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด  น.ส.กมลทิพย์ กล่าวว่า เมื่อได้ครบแล้ว แต่ละจังหวัดจะกำหนดแผนในการผลิตสมุนไพรชนิดนั้นๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ สามารถส่งเสริมในการผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่จะใช้ใน รพ.หรือจำหน่ายให้แก่ประชาชน

โดยการใช้วัตถุดิบสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดนั้น เช่น ขิง เพชรบูรณ์ประกาศว่าคุณภาพดีที่สุด ผู้ประกอบการก็ไปที่เพชรบูรณ์ก็จะได้ขิงที่มีคุณภาพดีที่สุด เป็นต้น  นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า OTOP ของดีประจำจังหวัดด้วย

“สามารถนำมาใช้ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์สร้างจุดขาย เพราะเป็นการการันตีว่าดีที่สุด แม้จะยังไม่มีการทำตัวเลขคาดการณ์ว่าผลลัพธ์จากเรื่องนี้จะไปช่วยกระตุ้นตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือตลาดสมุนไพรมากน้อยแค่ไหน แต่กรมเชื่อว่า จะช่วยเข้าถึงประชาชนเพิ่มขึ้น มีตลาดที่กว้างขึ้น มีแหล่งของโรงงาน ผู้ประกอบการ ที่จะส่งวัตถุดิบเข้าไปได้มากขึ้น เป็นการขยายตลาด" น.ส.กมลทิพย์กล่าว

มูลค่าตลาดสมุนไพร

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดค่าเป้าหมาย ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย

  • ปี 2567 จำนวน 63,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 %  
  • ปี 2568 จำนวน 72,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 %
  • ปี 2569 จำนวน 87,003.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 %  
  • ปี 2570 จำนวน 104,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 % 

และร้อยละความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)อุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ในปี 2570เพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 20 จากปี 2565

เปิด “สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัด\" มีกัญชา 1 กระท่อม 2 จ.
เมืองสมุนไพร 

ผลจากการพัฒนา 15 เมืองสมุนไพรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2566 เกิดรายได้สะสมจากการขายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวม 11,783 ล้านบาท แยกเป็น 3 คลัสเตอร์

1.ด้านเกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์มหาสารคาม อุทัยธานี สกลนคร และ สระแก้ว  สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 1,837 ล้านบาท

 2.ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 3,720 ล้านบาท

3.ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 6,226  ล้านบาท