“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”ทำถึง ตลาดโลก mappingแหล่งผลิตทั่วประเทศ 

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”ทำถึง ตลาดโลก mappingแหล่งผลิตทั่วประเทศ 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เร่งแผนเชิงรุก Mapping ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่สนับสนุน ให้คำปรึกษา จนได้รับเลขอย. การันตีคุณภาพความปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภค ใบเบิกทางสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน

KEY

POINTS

  • ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”หนึ่งในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)สอดคล้องนโยบายรัฐบาล การใช้มิติสุขภาพนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ โดยเมื่อปี  2566 อย.มีการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน  1,151 รายการ มีมูลค่าราว 1,163 ล้านบาท
  • ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ที่มีฐานมาจากชุมชนในประเทศไทย และเติบโตไปได้ไกลถึงการส่งออกไปตลาดระดับโลก 
  • แนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้เลขอย.การันตีคุณภาพความปลอดภัย 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เร่งแผนเชิงรุก Mapping ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่สนับสนุน ให้คำปรึกษา จนได้รับเลขอย. การันตีคุณภาพความปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภค ใบเบิกทางสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน

การส่งเสริมสนับสนุน“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”หนึ่งในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล การใช้มิติสุขภาพนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ โดยเมื่อปี  2566 อย.มีการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน  1,151 รายการ เป็นอาหาร 968 รายการ

  • สมุนไพร 14 รายการ 
  • เครื่องสำอาง 161 รายการ 
  • วัตถุอันตราย 8 รายการ 
  • มีมูลค่าราว 1,163 ล้านบาท

ปรับกลไกช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์

 นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะม่วงเบา ตราป้าติ้ว และวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย จ.สงขลา ซึ่งได้รับรางวัลอย.ควอลิตี้ อวอร์ด ว่า

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”ทำถึง ตลาดโลก mappingแหล่งผลิตทั่วประเทศ 

การที่วิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนจะวางจำหน่ายในตลาดทุกระดับ จะต้องมีเลขอย. เป็นการรับรองว่ามีคุณภาพและความปลอดภัยทั้งขั้นตอนผลิตและนำส่ง  โดยที่ผ่านมาอย.อาจจะถูกมองว่าเป็นหน่วยรับตรวจหรือหน่วยงานอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์

“นับจากนี้อย.มีการปรับกระบวนการภายใน หลักคิด หลักปฏิบัติที่จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญหนึ่ง จะทำให้ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ มีความปลอดภัยต่อประชาชนและได้เลขอย. สามารถเข้าสู่ตลาดระดับต่างๆได้ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพื้นที่ชุมชน เข้าสู่ชั้นวางจำหน่ายในคอนวีเนียนสโตร์ (Convenience Store) ร้านสะวดกซื้อ หรือการวางขายไปต่างประเทศ”นพ.ณรงค์กล่าว  

มีเลขอย.ใบเบิกทางสู่ตลาดโลก    

อย.ปรับตัวเองจากคนที่รอรับเพื่ออนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนทุกขั้นตอนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จในการรับรองเลขอย. ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนบางตัว สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”ทำถึง ตลาดโลก mappingแหล่งผลิตทั่วประเทศ 

ถ้ามองความสำเร็จของหลายผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนจะเห็นองค์ความรู้และประสบการณ์ที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จ เช่น ชาไทยไปชาโลกมีหลายแหล่งที่ประสบความสำเร็จ   เป็นตัวอย่างที่ก้าวข้ามระดับชุมชนสู่การส่งออกไปต่างประเทศได้ ถ้าช่วยขยายให้เกิดการเติบโตเร็ว รายได้คนในชุมชนก็เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เป็นการนำมิติสุขภาพไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ 

“ภารกิจอย.เหมือนเป็นคนกลาง ยืนยันผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่ตลาด ต้องปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค  ขณะเดียวกันต้องสร้างความสมดูลในการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งระดับชุมชน หรือระดับนำเข้า ส่งออก  ให้ได้รับโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งอย.ได้ปรับกลไกภายในให้มีความรวดเร็วและสะดวก แต่ไม่ลดเรื่องคุณภาพความปลอดภัย”นพ.ณรงค์กล่าว 

 ขั้นตอนที่วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนจะได้รับเลขอย.นั้น จะต้องมีการตรวจสอบสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งความเข้มข้นไม่เหมือนกัน เป็นการพิจารณาตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่จะสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ไม่มาก จะดูเรื่องความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน ต้องได้มาตรฐานของแหล่งผลิต

 ขณะเดียวกันต้องพิจารณาเรื่องขั้นตอนการบรรจุหีบห่อและขนส่ง เพราะอย.ต้องการันตีความปลอดภัยของสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค  และหลังออกวางจำหน่ายในตลาดจะไปมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ

Mapping ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนรายจังหวัด

แนวทางที่อย.ในการส่งเสริมพัฒนา  จะประสานงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ ที่ทำงานร่วมกับพื้นที่ทั้งเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และชุมชน เพื่อMapping ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนที่มีศักยภาพของแต่ละจังหวัด จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปวางแนวทางและให้คำปรึกษาในขั้นตอนการผลิต วางแบบสถานที่ผลิต จนถึงการอนุมัติอนุญาตให้เลขอย.

ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนที่มีศักยภาพมาก จะเข้าสู๋กระบวนการพัฒนาให้ได้แบรนด์ “อย.ควอลิตี้ อวอดร์ด” หรือหากมีส่วนประกอบเป็นไปตามเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ ก็จะได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ(Healthier Choice)” 

นอกจากนี้  มีการหารือกับโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง สมาคมแม่บ้านตำรวจ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนอยู่ทั่วประเทศ วางแนวทางส่งเสริมสนับสนุนร่วมกันให้สามารถเข้าสู่ตลาดโดยได้รับเลขอย.

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”ทำถึง ตลาดโลก mappingแหล่งผลิตทั่วประเทศ 

ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนสร้างรายได้เพิ่ม

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนมีความสำคัญ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป ซึ่งเป็นของที่เติบโตหรืองอกมาจากแผ่นดิน สามารถเกิดได้เรื่อยๆตามรอบหรือทั้งปี จึงมีความต่อเนื่อง ทดแทนได้ ไม่ใช่หมดไป ทำให้คนในชุมชนผูกพันกับพื้นที่ มีการสร้างงาน มีรายได้ และผูกพันกับถิ่นที่ออยู่ของแต่ละคน ชุมชนมีความเข้มแข็ง ”นพ.ณรงค์กล่าว 

 ยกตัวอย่าง โครงการน่านแซนด์บอกซ์ เรื่องดำเนินการเปลี่ยนหญ้าเป็นยา เรียกว่า “หญ้ายา” ที่ไม่ใช่เพียงการแปรรูป แต่มีการศึกษาวิจัยที่จะผลิตเป็นยาแผนปัจจุบัน ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้มากกว่าการไปเก็บของป่า ทำร้ายป่า สามารถอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจ.น่าน

หรือการแปรรูปมะม่วงเบาป้าติ้ว อ.สิงหนคร จ.สงขลา อนาคตจะดำเนินพัฒนาไปอีกระดับไม่เพียงผลิตผลิตภัณฑ์มะม่วงเบาเท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งแสดงสินค้าโอทอปที่หลากหลายของชุมชน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องมา พลาดไม่ได้ แต่จะต้องมีการต่อเนื่องเชื่อมการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่จะสนับสนุนกันและกัน

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เมื่อเข้าสู่ตลาด มูลค่าจากการแปรรูปจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรไม่ได้ขายเฉพาะวัตถุดิบ แต่ขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้มากขึ้น”นพ.ณรงค์กล่าว