ราคายางพาราตกต่ำ พลิกสู่รายได้ปีละกว่า 1 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

ราคายางพาราตกต่ำ พลิกสู่รายได้ปีละกว่า 1 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพิ่มรายได้ขึ้น 100-200 เท่า หลังเจอราคาพืชผลเหลือ กิโลกรัมละ 1-2 บาท  ขณะที่ราคายางพาราเหลือ 3 กิโล 100 บาท สู่ขายเครื่องแกง ได้ยอดปีละกว่า 1 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • เรื่องราวของผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน แปรรูปมะม่วงเบา พลิกราคาจากของสดกิโลกรัมละ 1-2 บาท เมื่อแปรรูปได้ราคาถึง 250 บาท ปัจจุบัน 350 บาทต่อกิโลกรัม
  • เครื่องแกงตายาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ที่มีจุดเริ่มจากราคายางพาราตกต่ำเหลือ 3 กิโล 100 บาท บวกกับการมีของดีอยู่ที่บ้าน สูตรลับเครื่องแกงใต้จากยายที่เป็นแม่ครัวของทุกงานในชุมชน
  • ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน  จะเข้าสู่ตลาดได้ดี สิ่งสำคัญต้องได้เลข อย. เป็นใบเบิกทาง ช่วยสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ยิ่งได้อย. ควอลิตี้อวอร์ด ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ

ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพิ่มรายได้ขึ้น 100-200 เท่า หลังเจอราคาพืชผลเหลือ กิโลกรัมละ 1-2 บาท  ขณะที่ราคายางพาราเหลือ 3 กิโล 100 บาท สู่ขายเครื่องแกง ได้ยอดปีละกว่า 1 ล้านบาท


 

ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2567 “กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสลงพื้นที่จ.สงขลา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ในการตรวจเยี่ยม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ประเภทอาหาร ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน คือ เครื่องแกงตายาย และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก ซึ่งแปรรูปมะม่วงเบาตราป้าติ้ว

ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน รายได้เสริม 3,000บาท/เดือน

นางอุไรวรรณ หอมจันทร์ หรือป้าติ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก ซึ่งแปรรูปมะม่วงเบาตราป้าติ้ว บอกว่า  การได้รับรางวัลอย. ควอลิตี้ อวอร์ด เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากต่อตัวเองและสมาชิก เพราะเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นนั้นได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย

ราคายางพาราตกต่ำ พลิกสู่รายได้ปีละกว่า 1 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

นอกจากนี้ ยังบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญใส่ใจต่อผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งมะม่วงเบาแช่อิ่ม มะม่วงเบาอบแห้งและน้ำมะม่วงเบา ตราป้าติ้ว สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนเดือนละราว 3,000-4,000 บาท ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 22 คน 

จุดเริ่มจากราคามะม่วงเบาตกต่ำ

 นางอุไรวรรณ เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านนาออก เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2547  ช่วงแรกมีหลากหลาย เช่น การทำขนม การทำดอกไม้ประดิษฐ์ รับจัดดอกไม้และพวงหรีด โดยเน้นการสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิก และในปี 2549 ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในชื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านนาออก ต่อมาทางกลุ่มมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้าน เนื่องมาจากในพื้นที่เกษตรกรจะปลูกมะม่วงเบาไว้จำนวนมาก นับเป็นเป็นผลไม้ประจำถิ่นของอ.สิงหนคร จ.สงขลา

เมื่อผลผลิตออกมามากราคาก็ตกต่ำ บางครั้งสินค้าล้นตลาดขายไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแปรรูป ทำให้มะม่วงเบามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาพรวม ทางกลุ่มจึงช่วยกันคิดวิธีการแปรรูปมะม่วงเบา โดยได้ทดลองผลิตมะม่วงแช่อิ่ม และน้ำมะม่วง ซึ่งใช้มะม่วงเบาผลอ่อนเป็นวัตถุดิบหลัก

ราคายางพาราตกต่ำ พลิกสู่รายได้ปีละกว่า 1 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

เมื่อมะม่วงสุกก็ทดลองแปรรูปเป็นแยมมะม่วงขาย แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อ คือ มะม่วงเบาแช่อิ่ม เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา ทำให้ได้มะม่วงแช่อิ่มที่รสชาติกลมกล่อม กรอบ อร่อย ปลอดภัย ไม่มีการใส่สารเจือปน ในปี 2560 จึงได้รับเลขอย. และปี  2561 ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด

ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพิ่มราคาได้กว่า 100 เท่า

ช่วงที่เริ่มทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม เพราะราคามะม่วงเบาตกต่ำ เหลือกิโลกรัมละ 1-2 บาท จึงอยากช่วยเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่  ซึ่งการนำมะม่วงเบามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม ช่วยเพิ่มมูลค่าเป็นกิโลกรัมละ 250 บาท 

แต่หลังจากทำได้ราว 3 ปี ราคามะม่วงเบาจาก 1-2 บาทต่อกิโลกรัมเพิ่มเป็น 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันจึงขายมะม่วงเบาแช่อิ่มกิโลกรัมละ 350 บาท และอนาคตจะต่อยอดทำเป็นน้ำพริกมะม่วงที่มีเลขอย.รับรอง รวมถึง พัฒนาสถานที่ผลิตให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพราะมะม่วงเบานั้นถือเป็นผลผลิต GI ของอ.สิงหนคร”ป้าติ้วกล่าว 

สูตรลับเครื่องแกงใต้จากแม่ครัวเอกหมู่บ้าน

ไม่ต่างจาก นางณัฐธัญรดี คงชนะ ประธาน วิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงตายาย กล่าวว่า ช่วงเวลานั้นราคายางพาราตกต่ำอย่างมาก อาจเรียกได้ว่า 3 กิโล 100 บาท  ประมาณปี 2548 มีการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีจิตสาธารณะ จึงช่วยกันทำเครื่องแกงใต้ในงานต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น งานวัด งานบวช งานแต่ง หรืองานบุญประเพณีต่าง ๆ โดยใช้สูตรเครื่องแกงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นตายายและได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติความอร่อย จึงคิดจัดตั้งกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ราคายางพาราตกต่ำ พลิกสู่รายได้ปีละกว่า 1 ล้าน ด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

  กระทั่ง ปี 2555 จัดตั้งกลุ่มผลิตเครื่องแกง ในนามกลุ่มเครื่องแกงตายาย ปี 2557 จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP “เครื่องแกงตายาย” ปี 2559 ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว และห้าดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอด     หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2559 (OTOP Product Champion) ปี 2560 ได้รับรางวัล Best of Songkhla และปี 2562 ได้รับรางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ผู้สนใจสามารถสอบถามสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊กเพจ เครื่องแกงตายาย

รายได้ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ปีละ 1.7 ล้านบาท

 ปัจจุบันกลุ่มผลิตเครื่องแกงส้ม แกงเผ็ดและแกงกะทิ มีสมาชิกวิสาหกิจจำนวน 41 คน เป็นสมาชิกฝ่ายผลิต 10 คน การจ้างงาน 11 ครัวเรือน รายได้ของกลุ่มราว 1.7 ล้านบาทต่อปี  มีการจัดสรร ผลตอบแทนและสวัสดิการให้สมาชิกเป็นค่าแรงฝ่ายผลิต คนละ 350 บาทต่อวัน ค่าข้างครัวเรือนปอกหอม กระเทียม 12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถสร้างรายได้เสริมหลังว่างจากการกรีดยาง ครัวเรือนละราว 5,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่เมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจนได้เลขอย.เป็นเหมือนการได้รับเครื่องหมายการันตีเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อเครื่องแกงใต้ตราเครื่องแกงตายาย และยิ่งได้รับอย. ควอลิตี้ อวอร์ด เป็นเหมือนการยกระดับความเชื่อมั่นไปอีกขั้น สามารถทำตลาดได้มากขึ้น จนสามารถวางจำหน่ายเป็นของฝากในร้านค้าที่สนามบินหาดใหญ่ได้ อนาคตจะต่อยอดไปสู่เครื่องแกงแบบผง