ความจริงของ 'คนไข้'จากยอดดอยสูง ณ สบเมย

ความจริงของ 'คนไข้'จากยอดดอยสูง  ณ สบเมย

'คนไข้ที่นี่จะต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงมาถึงรพ.สต. และอีก 2 ชั่วโมงไปถึงรพ.อำเภอ ทำให้ได้รับยาล่าช้า' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสภาพภูมิประเทศเทือกเขาและดอยสูง อยู่ห่สงไกล ยังเป็นปัญหาสำคัญของการเข้าถึงบริการสาธารณสุข 

ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.2567 “กรุงเทพธุรกิจ”ร่วมเดินทางไปกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) หรือGPO เพื่อมอบผ้าห่ม ยาชุดผู้ประสบภัย หน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภค บริโภค อุปกรณ์การเรียน การศึกษา ในโครงการ “GPO เพื่อผู้ประสบภัย ร่วมใจต้านภัยหนาว”
ปลายทางอยู่ที่รพ.สต.อุมโล๊ะ และร.ร.บ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะต้องเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่เงาขึ้นและลงดอยตลอดเส้นทาง ใช้เวลาจากตัวอำเภอถึง 4 ชั่วโมง โดยรถบรรทุก 6 และ10ล้อของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จ.แม่ฮ่องสอน

“ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงการบริหารจัดการของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา แม้จะอยู่ห่างไกล พื้นที่มีความลำบากในการเดินทาง และไม่ได้ดูแลเพียงคนไทยเท่านั้น”

ดูแลทุกคน แม้ไม่ใช่คนไทย

อ.สบเมย มีประชากรราว 46,000 คน 40 % เป็นชนพื้นเมือง และ 60 %เป็นชนเผ่า ในจำนวนนี้90 %เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง มีรพ.สบเมย ขนาด 30 เตียงเป็นแม่ข่ายระบบบริการสาธารณสุข โดยมีรพ.สต. 8 แห่ง สุขศาลาพระราชทาน 1 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน(สสช.) 10 แห่ง ครอบคลุม

สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท 70.15 %

  • ต่างด้าว 28.13 %
  • ข้าราชการ 1.03 %
  • ประกันสังคม 0.6 %
  • และอื่นๆ 0.18 %

มิเพียงเท่านี้ ยังให้การดูแลประชากรเจ็บป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่หนีภัยสู้รบมาแบบปัจจุบันทันด่วนและที่อยู่ใน 2 ศูนย์อพยพตามการร้องขอ และที่นี่ยังมีระบบส่งต่อผู้ป่วยครบทั้ง 4 รูปแบบ คือ เดินเท้า รถยนต์ เรือ และอากาศยาน 
ความจริงของ \'คนไข้\'จากยอดดอยสูง  ณ สบเมย

 จัดระบบดูแลตัวเองก่อนถึงรพ.

นพ. พิทยา หล้าวงค์ ผอ.รพ.สบเมย บอกว่า การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลนั้นมีปัญหาอุปสรรคแน่นอน การเข้าถึงบริการรักษาไม่เท่าเทียมคนไข้ในเมือง เพียงแค่มารับบริการที่รพ.สต.ก็ไม่ได้รับบริการตามมาตรฐานที่วางไว้ เช่น คนไข้เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือคนไข้สโตรค ต้องการเวลารวดเร็วในการรักษา คนไข้ที่นี่จะต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงมาถึงรพ.สต. และอีก 1-2 ชั่วโมงไปถึงรพ.อำเภอ ทำให้ได้รับยาและการรักษาล่าช้า

จึงพยายามทำระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงรพ. (Pre-Hospital care) ให้คนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น รับรู้ เฝ้าระวังโรคตัวเองได้มากขึ้น เข้าถึงระบบการช่วยเหลือฉุกเฉินได้ดีขึ้น และวางระบบส่งต่อทั้งรถ เรือ อากาศ ให้เข้าถึงอย่างปลอดภัย รวดเร็ว และเท่าเทียม แม้ว่าบางพื้นที่ที่เป็นหย่อมบ้าน รถเข้าไม่ถึง ชาวบ้านต้องเดินเท้าลงมาที่หมู่บ้านและรพ.สต. หรือ เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเอายาไปส่งที่บ้านคนไข้

สต็อคยารายเดือน-ข้อมูลไม่เรียลไทม์ 

ส่วนการจัดซื้อและการเบิกจ่ายยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สำรองยาคงที่มูลการค่าการจัดซื้อและการเบิกจ่ายมีค่าใกล้เคียงกันในแต่ละปี โดยปี 2566 การจัดซื้อและเบิกจ่ายอยู่ที่ราว 7 ล้านบาท และสำรองยาไม่ถึง 1 ล้านบาท สัดส่วนมูลค่าการเบิกจ่ายยาของรพ.สต.เทียบกับ รพ.สบเมยอยู่ที่ 30 ต่อ 70

อย่างไรก็ตาม นพ.พิทยา ยอมรับว่า มีปัญหา 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การขนส่ง พื้นที่สบเมยมีรพ.สต.ห่างไกลเดินทางลำบาก 6 จาก 8 แห่ง ทำให้ไม่สามารถทำตามแผนเรื่องของสต็อคยาเป็น0 หรือไม่ให้สำรองยาไว้ที่รพ.สต.ได้

และ2.โปรแกรมในการควบคุมระบบระหว่างรพ.สบเมยและรพ.สต.ยังไม่ลิงค์กัน ทำให้ไม่รู้ข้อมูลเรียลไทม์ว่าใช้ไปกี่เม็ดและต้องเติมยากี่เม็ด จึงต้องมีการสำรองไว้ที่รพ.สต.เป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการคาเดการณ์ว่ารพ.สต.มีคนไข้จะใช้ยาเท่าไหร่ แต่ก็มีบางกรณีที่ใช้ยาเกิน เพราะมีโรคระบาด ยาไม่เพียงพอ 

ความจริงของ \'คนไข้\'จากยอดดอยสูง  ณ สบเมย

งบฯ-บุคลากรต้องมากขึ้น

สำหรับการพัฒนารพ.สบเมยส่วนที่ขาด 1.งบประมาณในการก่อสร้าง เพราะอาคารของรพ.ใช้มานาน 20-30ปี ย่อมมีความเสื่อมโทรม โดยมีการเสนองบประมาณขาขึ้นเป็นงบฯลงทุนทุกปี แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรร

ดังนั้น รพ.จึงเข้าร่วมโครงการกับคณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์ ที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการออกแบบปรับปรุงสถานที่ให้ จากนั้นรพ.จะมีการจัดหางบฯมาดำเนินการปรับปรุงผ่านการระดมทุนจากประชาชนในรูปแบบต่างๆต่อไป และ2.พยาบาลวิชาชีพ/นักวิชาการสาธารณสุข ยังมีไม่เพียงพอ 
ความจริงของ \'คนไข้\'จากยอดดอยสูง  ณ สบเมย

ฉะนั้นแล้ว พื้นที่ห่างไกล ต้องใช้งบประมาณและบุคลากรต่างจากในเมือง โดยจำนวนประชากรที่ดูแลเท่านี้ ในเมืองอาจใช้บุคลากรจำนวนเท่านี้ได้ แต่เทียบสัดส่วนกับพื้นที่ห่างไกลอาจจะใช้จำนวนเดียวกันไม่ได้ เพราะภาระงานต่างกัน

นพ.พิทยา มองว่าา อาจจะต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ เช่น ปริมาณงานที่พยาบาล 1 คนจะต้องทำได้ในแต่ละวัน แต่พื้นที่ห่างไกล อาจจะต้องใช้พยาบาลจำนวนมากกว่า 1 คนให้ได้ปริมาณเท่ากันเมื่อเทียบกับในเมือง เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆของชาวบ้านด้วย