อนุมัติ 'พยาบาลชำนาญการพิเศษ' กว่า 9,000 ตำแหน่ง บรรจุอีก 3,000 นำออกจากก.พ.

อนุมัติ 'พยาบาลชำนาญการพิเศษ' กว่า 9,000 ตำแหน่ง  บรรจุอีก 3,000 นำออกจากก.พ.

อ.ก.พ.สธ. อนุมัติกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ กว่า 9,000 ตำแหน่ง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกได้ ภายใน ก.พ. 67 เดินหน้าใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลให้ครบ 3,318 ตำแหน่งในมี.ค.นี้ ระยะยาวนำสธ.ออกจากก.พ.ภายในปี 68 แก้ปัญหากำลังคนระบบสาธารณสุข

 Keypoints:

  • "กำลังคน"เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของ"ระบบสาธารณสุข"  ทั้งไม่เพียงพอ มีการลาออก ไร้ตำแหน่งบรรจุข้าราชการ และความก้าวหน้าของตำแหน่ง
  • พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีจำนวนมากสุดในระบบสาธารณสุขและตันตำแหน่งอยู่ที่ชำนาญการล่าสุด อ.กพ.สธ.มีมติเห็นชอบ 9,000 ตำแหน่ง"พยาบาลวิชาชีพ"ชำนาญการพิเศษ
  • นำสธ.ออกจากก.พ.เป็นเป้าหมายที่กำลังดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหากำลังคน และเป็นนโยบายที่"นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" รมว.สาธารณสุข ประกาศว่าจะขับเคลื่อนให้สำเร็จ ภายในปี 2568

ย้อนไปการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เรื่องบุคลากร เมื่อ20 มิ.ย. 2566 ครั้งนั้นมีข้อสรุปร่วม 5 เรื่อง ประกอบด้วย 

 1.การหาเพิ่มจำนวนตำแหน่งของข้าราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่งแต่ละวิชาชีพจะไม่กันโดยมีหลักคิดและวางไว้ในทุกระดับและมีการกระจาย อาทิ  แพทย์ อยู่ที่ 35,000  คน พยาบาล  140,000 คน และวิชาชีพอื่นๆ

2.ความก้าวหน้าที่เป็นขวัญกำลังใจ ที่ประชุมบรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่ปัจจุบันตันอยู่ที่ชำนาญการหรือซี 7  รอเรื่องของการปรับเป็นชำนาญการพิเศษหรือซี 8 นอกจากนี้ ให้มองถึงเชี่ยวชาญให้ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคจะต้องให้การพิจารณาเป็นพิเศษ 

3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ

4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ใช้ทุนปี 1 ให้สธ.อย่างเพียงพอต่อภาระงานที่ประมาณปีละ 85 %

5.ระยะยาว จะมีการขยายจำนวนของนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD ให้ได้ปีละ 2,000 คน ตรงกับตัวเลขความต้องการของสธ.เพราะมีอัตราการคงอยู่ในระบบที่ 80-90 %

อนุมัติ 9,000 ตำหน่งพว.ชำนาญการพิเศษ

      ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับชำนาญการพิเศษ 10,124 อัตรา ว่า ล่าสุด อ.ก.พ. สธ. ได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ เป็นระดับชำนาญการพิเศษแล้ว 9,596 ตำแหน่ง
ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรร ประกอบด้วย

  • สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 8,761 ตำแหน่ง
  • กรมการแพทย์ 656 ตำแหน่ง
  •  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1 ตำแหน่ง
  • กรมควบคุมโรค 36 ตำแหน่ง
  • กรมสุขภาพจิต 45 ตำแหน่ง
  • และกรมอนามัย 97 ตำแหน่ง
  •  ส่วนที่เหลืออีก 528 ตำแหน่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 372 ตำแหน่ง

    และกำหนดไม่ได้อีก 156 ตำแหน่ง เนื่องจากมีผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ครบ,มีพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษแล้ว และตำแหน่งที่ขอกำหนดไม่ตรงกับกลุ่มงาน ซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อมูลตามหลักเกณฑ์ฯ และแจ้งจังหวัดให้ดำเนินการกำหนดตำแหน่งต่อไป 

ไทม์ไลน์ประกาศผลคัดเลือก ก.พ.2567

สำหรับ Timeline ของกระบวนการประเมินคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก ตำแหน่งละ 1 คน พร้อมแจ้งผู้ผ่านการประเมินบุคคลให้ส่งผลงานภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อ และรายงานผลการดำเนินงานให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป

 “กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ. โดยเฉพาะการกระจายตำแหน่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด” นพ.สุรโชค กล่าว

บรรจุพยาบาลอีกกว่า 3,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้  ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ในมีเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขไตรมาส 2 วางเป้าหมายช่วง ม.ค. - มี.ค. (Mid-Year Success)

ประเด็นของการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เร่งรัดตรวจสอบและประเมินผลงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษให้ครบเป้าหมาย 10,124 ตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้ครบ 3,318 ตำแหน่ง 
กรอบอัตราตำแหน่งข้าราชการที่ต้องการ
ในส่วนของความต้องการกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เคยจัดทำตัวอย่างอัตรากำลังตำแหน่งข้าราชการตามกรอบขั้นสูง ภายในปี 2569
1.แพทย์ 35,578 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 1,000 ตำแหน่ง

2.ทันตแพทย์ 9,475 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 300 ตำแหน่ง

3.เภสัชกร 14,809 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 130 ตำแหน่ง

4.พยาบาล 175,923 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 4,200 ตำแหน่ง
5.นักกายภาพบำบัด/เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นู 7,879 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 60 ตำแหน่ง
6.นักเทคนิคการแพทย์/นักวิทยาศาสตร์การแพทย์/เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 14,026 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 150 ตำแหน่ง

7.อื่นๆอีก 63 สายวิชาชีพ  
เป้าหมายอยู่ที่นำสธ.ออกจากก.พ.
การแก้ปัญหาระยะยาว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติในนโยบายสธ.ว่าจะผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) มีคณะกรรมการบริหารบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายบริหารงานบุคคลรองรับ คิดว่าจะปลดเรื่องข้อผูกมัดที่มีลักษณะเสื้อโหลให้กับราชการ ตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายในปี 2568

 "ที่ผ่านมาเมื่อมีนโยบายลดอัตรากำลังข้าราชการ ก็จะกระทบสธ.ด้วย ลดจำนวนคน แต่สธ.ยัง ให้บริการอย่างมาก ขณะที่สธ.มีศักยภาพที่สามารถจ้างงานเองได้ ถ้าตรงนี้สามารถปลดล็อคได้วางเป้าไว้ที่ปี 2568 ก็จะสามารถจัดตั้งมารองรับได้"นพ.ชลน่านกล่าว