มาตรการเชิงรุกยุติ 'วัณโรค' กล้องเอกซเรย์ AI เข้าถึงทุกที่  

มาตรการเชิงรุกยุติ 'วัณโรค' กล้องเอกซเรย์ AI เข้าถึงทุกที่  

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ยุติวัณโรคได้ คือ “การค้นหาผู้ป่วยให้เจอ และนำเข้าสู่การรักษา” ทว่า ผู้ติดเชื้อถึง 30 % ยังหลุดรอด ซึ่งนวัตกรรรมเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาขนาดเล็กพร้อม AI ช่วยให้เข้าถึงทุกพื้นที่และลดการตีตรา ทำให้ประชาชนกล้ามารับการตรวจมากขึ้น  

  พญ.ผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคและอดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยว่า อัตราการป่วย 155 ต่อแสนประชากร คาดการณ์มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 111,000 คน สามารถค้นหาผู้ป่วยเจอราว 72,000 คน คิดเป็น 65 % อีกราว 35 % หรือกว่า 40,000 คน หายไปจากระบบ ทำให้มีความเสี่ยงไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนการเสียชีวิต 12,000-14,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 40 คนต่อวัน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 10 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน

         “วัณโรคเป็นเพียง 1 โรคติดเชื้อ ที่ประเทศไทยยังไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกำหนดว่าต้องมีผู้ป่วยต่ำกว่า 75 ต่อแสนประชากรถึงจะหลุดพ้นจากสถานะมีความท้าทายมาก  อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้แบ่งวัณโรคเป็น 3 ประเภท 1.วัณโรคและเอชไอวีร่วมด้วย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเอชไอวีราว 7,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นวัณโรค 50 % 2.วัณโรคดื้อยา ประเทศไทยหลุดจากบัญชีนี้แล้ว และ 3.วัณโรค ปัจจุบัน WHO จัดให้ประเทศไทยอยู่ในแบล็คลิสต์ 30 ประเทศที่มีวัณโรคมาก” พญ.ผลินกล่าว

แผนยุติวัณโรคในไทย

     การดำเนินงานที่จะทำให้ประเทศไทย สามารถยุติวัณโรคได้ตามเป้า ลดอัตราการตายลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง 90% ภายในปี 2578 ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

1. เร่งรัดการค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา

2.ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามสูตรมาตรฐาน

3. เพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคระยะแฝงและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค

4. เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค และ 5. ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการป้องกันควบคุมวัณโรค
มาตรการเชิงรุกยุติ \'วัณโรค\' กล้องเอกซเรย์ AI เข้าถึงทุกที่  

       สิ่งสำคัญที่สุดประการแรก อยู่ที่จะต้องคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยให้เจอโดยเร็วแล้วนำเข้าสู่การรักษา ซึ่งวัณโรคมีระยะฟักตัวของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคนาน การเอ็กซเรย์ปอดจึงเป็นวิธีการคัดกรองอันดับแรก หากพบความผิดปกติที่สงสัยจะเป็นวัณโรค จะส่งต่อไปตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลทันที
         จากนั้นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค เข้าสู่การรักษาด้วยการรับประทานยาทุกวันจนครบ 6 เดือนก็จะหายจากโรค อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่หายแล้วกลับเป็นซ้ำประมาณ 5 % หากมีคนรอบข้างเป็นวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา ก็อาจจะทำให้ติดวัณโรคดื้อยาด้วย

        นอกจากนี้ ความเข้าใจเรื่องวัณโรคที่ถูกต้องและ ไม่มีการตีตราผู้ป่วยวัณโรค เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้แผนการกำจัดวัณโรคได้ผล เพราะจะทำให้คนกล้าที่จะเข้ารับการคัดกรองและรักษามากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหากตรวจพบว่าเป็นวัณโรค คนรอบข้างก็จะกลัว และรังเกียจ หรืออาจถูกให้ออกจากงาน ผู้ป่วยวัณโรคจึงไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง แม้ว่าจะกินยาครบ 6 เดือนหายแล้ว หรือตัดสินใจไม่รับการตรวจคัดกรอง เพราะกลัวคนรังเกียจและตกงาน   

ครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา

พญ.ผลิน บอกด้วยว่า ในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่ช่วยอย่างมาก คือ เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาขนาดเล็ก พร้อมระบบประมวลผลด้วยAI นำมาใช้ในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพราะเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ และลดการถูกตีตราจนไม่กล้าเข้ามารับการตรวจ จากเดิมที่ใช้รถโมบายในการออกหน่วยคัดกรอง ปรากฎว่าคนอายที่จะเข้ามาตรวจ กลัวคนอื่นจะรู้ เพราะที่ข้างรถเขียนไว้ว่ากองวัณโรค

        แต่กล้องเอ็กซเรย์นี้ จะไม่มีใครรู้ว่ากำลังเอ็กซเรย์ปอดตรวจวัณโรค ทำให้คนเข้ารับการตรวจเพิ่มมากขึ้น “เครื่องนี้ภาพมีความคมชัดเหมือนเครื่องใหญ่ สามารถเห็นรอยโรคได้ชัด มีขนาดเล็ก ใช้เวลาตรวจไม่ถึง 1 นาทีต่อคน หากมีการทำงานระหว่างที่เสียบปลั๊กชาร์จไฟด้วย จะตรวจได้วันละ 300 คน แต่หาก ใช้แบตเตอรี่ จะตรวจได้ 100 คนต่อวัน เมื่อเครื่องตรวจพบรอยโรคจะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ทราบ ก็จะได้นำคนไข้ไปตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยวัณโรค และเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไปได้ พญ.ผลินกล่าว

        ที่ผ่านมา กองวัณโรคได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโลก จึงนำมาจัดหาเครื่องนี้จำนวน 16 เครื่อง ได้มอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆเพื่อใช้คัดกรองวัณโรค เช่น รพ.ศิริราช รพ.วชิระ รพ.อยุธยา ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค และนำไว้ในรถเคลื่อนที่พระราชทานด้วย จะสร้างความสะดวก เข้าถึงชุมชนที่มีความเสี่ยงและคนไข้ที่มารพ.ให้ได้รับการการตรวจคัดกรองวัณโรคมากขึ้น

      บวกกับการได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองวัณโรคจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ด้วยการจัดสรรเงินค่าบริการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วย วิธีการถ่ายภาพรังสีทรวงอกให้รพ. 100 บาทต่อการคัดกรอง 1 คน เชื่อว่าในปี 2567 จะสามารถค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่ระบบได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างน้อย 10,000 คน  
มาตรการเชิงรุกยุติ \'วัณโรค\' กล้องเอกซเรย์ AI เข้าถึงทุกที่  

  

เข้าใจวัณโรคให้ถูก ลดตีตรา

       “วัณโรคไม่ใช่โรคของคนจน ซึ่งที่ผ่านมาศิลปิน ดารา ไฮโซก็เป็นผู้ป่วยไม่น้อย เพียงแต่ไม่มีใครกล้าเปิดเผยเพื่อช่วยรณรงค์ป้องกัน และวัณโรคไม่ใช่โรคส่วนตัว แต่ถือเป็นโรคส่วนรวมที่หากไม่ยุติให้ได้ สังคมก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และป่วยเป็นวัณโรคต่อไปในอนาคตได้ ”พญ.ผลินกล่าว

      ขอให้คนในสังคมเข้าใจวัณโรคให้ถูกต้อง หากผู้ป่วยกิน เกินกว่า 2 สัปดาห์ ขึ้นไป 90 % ผลตรวจเสมหะจะเป็นลบ จะพ้นระยะแพร่เชื้อ ไม่สามารถแพร่เชื้อที่ก่อโรคให้คนอื่นได้ และหากกินครบ 1 เดือน ผลตรวจเสมหะเป็นลบ 100 %ไม่แพร่เชื้อต่อแน่นอน จึงไม่อยากให้สังคม กลัว หรือรังเกียจและเลือกปฏิบัติ ไล่คนเป็นวัณโรคออกจากบ้าน หรือให้ออกจากงาน

คนป่วยไม่ได้น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือคนที่ไม่รู้ว่าป่วยซึ่งจะแพร่เชื้อต่อไปสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คนที่สงสัยว่าจะป่วยหรือมีความเสี่ยง อย่าอายที่จะเข้ารับการตรวจ หรือควรตรวจสุขภาพด้วยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครัง 

รัฐควรจริงจังคัดกรองเชิงรุก

  สำหรับรัฐบาลควรจริงจังในเรื่องยุติวัณโรค ด้วยการสนับสนุนการคัดกรองเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเช่น การจัดหาเครื่องนี้ไว้ในทุกเรือนจำ เพื่อใช้ในการคัดกรองนักโทษใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ มิเช่นนั้น ก็จะยากที่จะปราบวัณโรคในเรือนจำให้ได้ผล ถามว่าเครื่องยังมีราคาสูงแล้วคุ้มค่าหรือไม่ มิติต้นทุนถูกกว่าการใช้รถโมบาย และมิติคนไข้เพียงแค่ค้นเจอ 1 คนแล้วเข้ารับการรักษา ก็ลดการแพร่เชื้อต่อไปในสังคม ถือว่าคุ้มค่า
มาตรการเชิงรุกยุติ \'วัณโรค\' กล้องเอกซเรย์ AI เข้าถึงทุกที่  

          รวมถึง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการกินยาเป็นเวลา 6 เดือนซึ่งบางรายอาจจะถูกบริษัทให้ออกจากงาน และควรเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรที่ทำงานด้านวัณโรคด้วย เพราะมีคนทำน้อย

      ขณะที่ มร. โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟูจิฟิล์มเป็นบริษัทกล้อง จึงนำนวัตกรรมเกี่ยวกับกล้อง โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการถ่ายภาพเข้ามาช่วยทางการแพทย์ โดยเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพาขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทำงานได้ด้วยแบตเตอรี่ในตัว สามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก นำไปใช้ตรวจคัดกรองคนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆได้สะดวก

         แทนที่คนไข้จะต้องออกมาหาหน่วยตรวจ กลับสามารถนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้าไปหาคนไข้ได้ถึงพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถรองรับการใช้ AI เข้ามาช่วยผสานเข้าเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการอ่านผลด้วย พร้อมสนับสนุนสังคมไทยในการต่อสู่เพื่อยุติปัญหาวัณโรค