'2 โรค'ไทยยังตกเป้าความยั่งยืน SDGs เรื่องป้องกันควบคุมโรค

'2 โรค'ไทยยังตกเป้าความยั่งยืน SDGs เรื่องป้องกันควบคุมโรค

2 โรคไทยยังตกเป้าความยั่งยืนเรื่องป้องกันควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหา ขจัดวัณโรคในปี 2573 ตั้งเป้าไทยติด 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติ ด้านการป้องกันโรค

         เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่กรมควบคุมโรค(คร.)  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข  และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตรวจเยี่ยมกรมควบคุมโรค  โดยมีนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และผู้บริหารกรมให้การต้อนรับ 
2 โรคตกเป้าความยั่งยืน

     นพ.ธงชัย กล่าวว่า  เรื่องการป้องกันควบคุมโรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals:SDGs) ใน  4 ด้าน ประกอบด้วย  1.โรคติดต่อสำคัญ ซึ่งโรคเรื้อน ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ ไม่เกิน 98 ราย  ผู้ป่วยโปลิโอ 0 ราย มาลาเรียป่วยน้อยกว่า 1ต่อ 1,000 ประชากรภายในปี  2573 โรคเอดส์เสียชีวิตลดลง  80 % โรคพิษสุนัขบ้า เสียชีวิต  0 ราย ซึ่งไทยสามารถดำเนินการเป็นไปตามเป้าของความยั่งยืน ยกเว้นวัณโรคที่ยังติดตัวแดงไม่เป็นไปตามเป้าตัวชี้วัดที่จะต้องมีผู้ป่วยต่ำกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน
      2.โรคไม่ติดต่อ   โรคไม่ติดต่อตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง อยู่ที่ 274 ต่อแสนประชากร จมน้ำเสียชีวิตลดลง 80 % เป็นไปตามเกณฑ์ แต่บาดเจ็บจากการจราจร จะต้องลดอัตราตายลง 50 % จากปี  2554 ซึ่งยังเป็นส่วนที่ตกเป้าตัวชี้วัด

3.ปัจจัยเสี่ยง  ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตได้ 90 % เบาหวาน ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้  90 % ยาสูบ ความชุกของผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีลดลง 50 % แอลกอฮอล์ ปริมาณการบริโรคต่อประชากร 15 ปีขึ้นไป ลดลง 40 %
เป้า 1 ใน 3 ระดับนานาชาติด้านป้องกันโรค

     และ4.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม  แรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 55  % พิษโลหะหนัก อัตราป่วยโรคพิษโลหะหนักในประชากรอายุ 0-14 ปีไม่เกิน 0.1 ต่อประชากรแสนคน และเกษตรกรรม อัตราป่วยด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชไม่เกิน 4 % ต่อแสนประชากร 

       “ถ้าดูจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องของการป้องกันควบคุมโรคแล้ว พบว่าจะมี 2 ตัวที่ประเทศไทยยังตกเกณฑ์ หรือไม่ถึงเป้าของความยั่งยืน คือโรควัณโรคและบาดเจ็บจากการจราจร ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่จะเป็น 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติด้านการป้องกันโรค จากที่ล่าสุดอยู่ที่อันดับ 1ของเอเชีย และอันดับ  5 ของโลกโดยอันดับ 1 คือ อเมริกา ตามมาด้วยออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา และไทย”นพ.ธงชัยกล่าว 

ขจัดวัณโรคภายในปี  2573

      ด้านนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตัวชี้วัดของ SDGs ที่ประเทศไทยยังไม่ผ่านเกณฑ์คือ การควบคุมวัณโรค และอุบัติเหตุจากการจราจร ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ที่จะวางแนวดำเนินการเรื่องนี้  มีเป้าหมายปี 2573 จะขจัดวัณโรค ซึ่งมั่นใจว่าถ้ามีการดูแลจัดการอย่างเข้มข้น ลดจำนวนวัณโรคตามเป้าหมายได้ กรมควบคุมโรคมีรถเคลื่อนที่พระราชทาน สามารถนำมาใช้ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคได้

       และมาตรการควบคุมวัณโรคในเรือนจำ มีโครงการราชทัณฑ์ปันสุขในการตรวจคัดกรองก่อนที่จะส่งเข้าขัง ถ้าพบเจอก็แยกและรักษาป้องกันการแพร่เชื้อ การค้นหาในชุมชน วางโครงข่ายเฝ้าระวังค้นหาทุกชุมชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่พบมากถือเป็นกลุ่มเปราะบางตามนโยบายหลักของก็ต้องให้ความสำคัญดูแล ตั้งแต่การค้นหา วินิจฉัย รักษา และติดตาม

    ส่วนการป้องกัน ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีอยู่ ในมุมของสธ.ที่จะลดได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรคเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมบุคคล มีเรื่องสภาพถนน วิศวกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ หลายปัจจัยเกี่ยวข้อง จึงต้องดูทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

\'2 โรค\'ไทยยังตกเป้าความยั่งยืน SDGs เรื่องป้องกันควบคุมโรค

        ที่จะเน้นหนักคือ ก่อนเกิดเหตุ โดยให้ความรู้ความเข้าใจ มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับในภาวะเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จะมีกำหนดเวลาอยู่ในการถึงจุดเกิดเหตุ เป็นเกณฑ์วัดที่เราต้องทำ การส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษา

         “ระยะเวลาดำเนินการให้ได้ตามเป้าของ SDGs ก็มีการกำหนดเวลาอยู่ อย่างวัณโณคคือปี 2573 ส่วนอุบัติเหตุวางเป้ายาก ก็พยายามประสานทุกหน่วยงานที่จะลดให้ได้มากที่สุด" นพ.ชลน่านกล่าว
ขยายเวลาผับบาร์ต้องสมดุลสุขภาพ-เศรษฐกิจ

       ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีอุบัติเหตุทางถนนยังเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากดื่มแล้วขับ แต่จะมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 จะสวนทางหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 จะกระทบอุบัติเหตุทางถนนหรือไม่ อาจมีความสัมพันธ์ทางตรง เพราะเหตุส่วนหนึ่งที่เจอคือเมาหรือดื่มแล้วขับ หน้าที่เราคือทำอย่างไรจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนที่ดื่ม เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขับยวดยานพาหนะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาตรการควบคุมตรงนี้อาจจะต้องเข้มข้น สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้รับทราบและเกิดความตระหนักในการระมัดระวังในตัวบุคคล มีความเข้าใจป้องกันตนเองได้ ถ้ารู้ว่าตนเองดื่มก็ต้องไม่ฝ่าฝืนไปขับรถ

     ถามต่อว่าจุดยืนของ สธ.เรื่องขยายผับบาร์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องสร้างความสมดุล เราส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนแต่ต้องไม่มีผลกระทบสุขภาพ ต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ มาตรการไหนที่จะป้องกันดูแลไม่ให้มีผลกระทบสุขภาพต้องใส่อย่างเข้มข้น