'รพ.เอกชน' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด 'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค' มาแรง

'รพ.เอกชน' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด 'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค' มาแรง

รพ.เอกชน เติบโตหลังโควิด เร่งขยายลงทุน 'รพ.เมดพาร์ค' รุกเทคโนโลยีวินิจฉัยรักษา เปิดศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ 'รพ.พญาไท-เปาโล' ใช้ AI ช่วยแพทย์วินิจฉัย 'รพ.วิมุต' ลุยการแพทย์เฉพาะทาง 'กระดูกข้อ หัวใจ' 'หมอบุญ' เพิ่มลงทุนไทยต่างประเทศ 'BCH' ปรับตัวสู่ศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์

Key Point : 

  • มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2567 รายได้คนไข้ต่างชาติรวมของโรงพยาบาลเอกชน ที่จดทะเบียนใน ตลท. 22 ราย จะอยู่ที่ราว 57,000 ล้านบาท ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19
  • กลายเป็นโอกาส และความท้าทาย ของ รพ.เอกชน ในการลงทุน พัฒนาศักยภาพ และขยายบริการเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไข้ต่างชาติ
  • ขณะเดียวกัน การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเป็นตัวช่วยแพทย์ ยังเป็นสิ่งที่หลาย รพ. ยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย รักษา

 

หลังสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยของคนไข้ต่างชาติเติบโตมากขึ้นจากช่วงวิกฤติโควิด ส่งผลให้ รพ.เอกชน เติบโตต่อเนื่อง โดยการเติบโตมาพร้อมความท้าทายไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหม่หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงบริการให้ดึงดูดคนไข้ทั้งไทยและต่างชาติ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์รายได้คนไข้ต่างชาติรวมของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 22 ราย ในปี 2567 จะมีรายได้ 57,000 ล้านบาท เทียบปีที่แล้วขยายตัว 8.0-10.0% เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบปี 2565-2566 ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นการปรับฐานสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19

 

ทั้งนี้ รายได้จากคนไข้ Fly-in จะทยอยฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป และจะมีสัดส่วนรายได้ปี 2567 ราว 49% ของรายได้คนไข้ต่างชาติรวม ขณะที่สัดส่วนรายได้คนไข้ EXPAT จะอยู่ที่ 51% ของรายได้คนไข้ต่างชาติรวม จำนวนคนไข้ต่างชาติอยู่ที่ 3.07 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 แต่เติบโตค่อยเป็นค่อยไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

สำหรับตลาด คนไข้ Fly-in ปี 2567 มี 2 กลุ่ม 1.ตะวันออกกลางที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ 2.อาเซียน นอกจากชาวกัมพูชาและเมียนมา ยังมีเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ ส่วนคนไข้ EXPAT เดินทางกลับมาหลังโควิดคลี่คลายและมีโอกาสโตในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ โดยติดตามผลนโยบายดึงการลงทุนและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลต่อการตัดสินใจมาลงทุนของต่างชาติ และส่งผลต่อจำนวนคนไข้ EXPAT

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง

 

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า รพ.เอกชน เติบโตไม่น้อยกว่า 10% ขณะเดียวกันเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวกับ Medical Hub จะเติบโต 30% และคาดว่า Medical Hub ไทยมีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 แสนล้านบาทเศษ ใกล้เคียงสิงคโปร์ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ แต่สิงคโปร์มีมูลค่าสูง มีคนไข้ 7-8 แสนคน ส่วนไทยมีคนไข้ 3-4 ล้านคน จึงทำให้รายได้ต่อเคสสิงคโปร์มากกว่าไทย 30 เท่า เพราะเน้นการรักษา

 

ทั้งนี้ แนวทางที่จะทำให้รายได้ต่อเคสของไทยสูงขึ้นต้องเน้นโรคยากซับซ้อน ซึ่งเป็นทิศทางของ รพ.เมดพาร์ค ช่วง 3 ปี ที่ก่อตั้ง โดยได้พัฒนาบริการและนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ รวมถึงการทำงานร่วมกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

 

“รพ.เมดพาร์ค มีคนไข้ต่างชาติที่เป็นผู้ป่วยนอกสัดส่วน 20% และผู้ป่วยใน 40% แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนไข้ Fly-in ส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลาง รักษามะเร็ง เบาหวาน โรคอายุรกรรม โรคเรื้อรัง แผลเบาหวาน กระดูกและข้อ รวมถึงยุโรป และ CLMV เมียนมา กัมพูชา ส่วนคนไข้ EXPAT เป็นกลุ่มสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรป”

 

รวมทั้ง รพ.เมดพาร์ค ลงทุนปีละ 200-300 ล้านบาท เพื่อนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคยาก ดังนั้นต้องช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วที่สุด เช่น มะเร็ง โดยมีเครื่องมือหาเชื้อแบคทีเรียได้ใน 10 นาที และตรวจชิ้นเนื้อวินิจฉัยไม่เกิน 48 ชั่วโมง

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง

 

 

รพ.เมดพาร์ค ชูโรคยากซับซ้อน

รวมถึงปี 2567 เดินหน้าเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ เริ่มที่การปลูกถ่ายไต และเตรียมเปิดศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก รวมทั้งจะขยายไปตับ ปอดและหัวใจ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ในการทำ 'เลสิก' ประสิทธิภาพสูงขึ้นลดผลข้างเคียงและการทำวิจัยได้มากขึ้น

 

นพ.พงษ์พัฒน์ มองว่า แนวโน้ม รพ.เอกชน ยังโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันกฎเกณฑ์เปิดมากขึ้น ตอนนี้เรื่องท้าทายเอกชน คือ การศึกษา กฎหมายใหม่เปิดให้ รพ.เอกชน ทำงานวิจัยได้ เราทำงานโรคยากซับซ้อน การจะทำให้งานนี้ยั่งยืนได้ นอกจากการรักษา คือ การเรียนการสอนและการวิจัย มองว่าใน 3-5 ปีจะมุ่งเน้นในเรื่องนี้ และติดต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อให้การอบรมแพทย์เฉพาะทางเกิดขึ้นใน รพ.เมดพาร์ค ซึ่งตอนนี้มีการส่งแพทย์ไปเรียนที่ต่างประเทศและกลับมาทำงาน

 

“เป้าหมาย คือ จะทำให้ รพ.เมดพาร์ค กลายเป็นสถานศึกษา สถานอบรม ให้ได้ หากทำได้ก็ถือว่าเราสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเกิดอะไร รพ.เมดพาร์ค ก็จะสามารถยืนได้ มีคนที่สามารถทำงานต่อได้ เป็นสิ่งที่ภายใน 3-5 ปี ที่เราต้องทำให้ได้ นอกเหนือจากการเดินหน้าธุรกิจ ดูและแลคนไข้” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว

 

 

'พญาไท-เปาโล' เทคโนโลยีตัวช่วยแพทย์

นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการแพทย์ เครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล กล่าวว่า เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะ รพ.หลัก เช่น รพ.พญาไท 1 , รพ.พญาไท 2 , รพ.พญาไท 3 , รพ.เปาโล พหลโยธิน และ รพ.พญาไทศรีราชา ซึ่งเป็น รพ.ใหญ่และเป็น Hub การส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ในเครือทั้ง 11 แห่ง

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง

 

รวมทั้ง ที่ผ่านมานำเทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เช่น หัวใจ กระดูก หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่า รักษาผู้มีบุตรยาก สมอง อีกทั้ง จัดทำหลักสูตรพัฒนาแพทย์ด้านดิจิทัลเพื่อเตรียมรับกับยุคดิจิทัล

 

“โดยมีหลักสูตรสอนแพทย์ให้ความรู้กับแพทย์เรื่อง Digital Transformation เพื่อเตรียมแพทย์ให้พร้อมรับยุคดิจิทัล รวมทั้งปรับในเวชระเบียนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเทเลเมดิซีน และนำแอปพลิเคชันมาใช้ดูแลผู้ป่วย ใช้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค เช่น การอ่านผลเอกซเรย์ หรือ อ่านผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการใช้ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ ไม่ใช่ทำงานแทนแพทย์”

 

ทั้งนี้ รพ.พญาไท-เปาโล มีแผนนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ปัจจุบันผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ และจะขยายไปยังการผ่าตัดประเภทอื่นๆ อีกในอนาคต รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพ และปลอดภัย

 

รพ.วิมุต มุ่งขยาย รพ.เฉพาะทาง

นพ.พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด เผยว่า รพ.วิมุต มีคนไข้ต่างชาติสัดส่วน 12% ของคนไข้ทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา เมียนมาและตะวันออกกลาง โดยมารักษาโรคยากซับซ้อน เช่น มะเร็ง โรคทางกระดูกและข้อ และสมอง ขณะที่จีนนิยมมารักษาภาวะมีบุตรยาก

 

ทั้งนี้ รพ.วิมุต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาให้บริการ และแพลตฟอร์มด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ ซึ่งเน้นการบริการคนไข้แบบองค์รวมหรือ Holistic Care ตั้งแต่การป้องกัน ส่งเสริม รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของทั้งครอบครัว

 

ล่าสุด ยกระดับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุม ภายใต้กลยุทธ์ “Outside In” มุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง

 

ขณะที่กลุ่ม รพ.วิมุต วางแผนตั้ง รพ.เฉพาะทาง โดยเริ่มก่อสร้าง รพ.เฉพาะทางกระดูกและข้อใน กทม.และจะเปิด รพ.เฉพาะทางด้านหัวใจใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงจะมีศูนย์ความเป็นเลิศดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ภายใน 5 ปี อีกทั้งจะขยาย รพ.ผู้สูงอายุที่เปิดแล้ว 1 แห่ง โดยปีนี้จะก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ซอยวัชรพลและซอยแบริ่ง รวมถึงขยายธุรกิจด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยร่วมกับบริษัทจากสิงคโปร์

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจ รพ.เอกชน ในช่วงต้นปี 2567 จะเติบโตแต่อาจชะลอเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ราว 8% โดยปีนี้จะเติบโต 6% แต่คนไข้ต่างชาติจะกลับมาเพิ่มขึ้น ความท้าทายอยู่ที่เศรษฐกิจ ถัดมา คือ คนไข้ต่างชาติ ซึ่งหลาย รพ.พึ่งรายได้จากคนไข้ต่างชาติ ดังนั้น จำนวนคนไข้ต่างชาติมีความสำคัญกับ รพ.เอกชนที่ตอบรับนักท่องเที่ยว Medical Tourism

 

THG ขยายลงทุนไทย-ต่างประเทศ

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษา บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะคนไข้ในประเทศและต่างชาติฟื้นตัวหลังไทยเปิดประเทศ

 

แผนธุรกิจ THG มีเป้าหมายขยายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศ สะท้อนผ่านช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เร่งขยายฐานคนไข้ตลาดใหม่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 7-8 แห่ง เช่น ยุโรป, แคนาดา, กัมพูชา, ตะวันออกกลาง, เวียดนาม, เมียนมา ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นแตะ 70% และจะกลับมาระดับ 100% หรือเทียบเท่าก่อนมีโควิด-19

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง

 

“มุ่งขยายฐานลูกค้าต่างชาติตลาดใหม่มากขึ้น เพราะการลงทุนตลาดไทยทำได้ยากแล้ว หลายปีที่ผ่านมาจีดีพีต่ำกว่า 3% ดังนั้นโอกาสธุรกิจจะเติบโตต้องไปลงทุนต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ ตลาดต่างประเทศที่กำลังเข้าไปลงทุนครั้งใหญ่ คือ เวียดนาม ซึ่งจะลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่และเทคโอเวอร์ โดยตั้งงบลงทุนเวียดนามเฟสแรกปีนี้ มูลค่า 900 บ้านบาท โดยตั้งเป้า 3 ปี (2567-2569) ลงทุนคลินิกระดับพรีเมียม 100 แห่ง ทั่วเวียดนาม และปีนี้มีแผนก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง รวมทั้งกำลังเจรจาซื้อกิจการในเวียดนาม ขนาดเตียง 150-250 เตียง จำนวน 2 แห่ง

 

ขณะที่ที่ผ่านมาเริ่มเข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้วในศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งเปิดบริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2567 และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มอีก 2 เมือง

 

ธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ช่วงขาขึ้น

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG กล่าวว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในไทยเริ่มปรับฐานเป็นกราฟขาขึ้นเหมือนก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในกรุงเทพฯ และภูมิภาคของ THG ที่ได้แรงหนุนจากไข้หวัดและโรคระบาดประจำฤดูกาล ทำให้ปลายปี 2566 หลายโรงพยาบาลในเครือเตียงเต็ม ส่งผลให้รายได้ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่กลุ่มคนไข้ต่างชาติที่กลับมาแล้ว คือ กัมพูชาและเมียนมา แต่ภาพรวมยังไม่เข้ามามากเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจแต่ละประเทศ รวมถึงปัญหาค่าเงิน

 

ทั้งนี้ “Telemedicine" รวมถึง “Digital Health Tech” จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยน Landscape ของธุรกิจโรงพยาบาลแบบเดิม โดยปัจจุบันเฮลท์แคร์นำมาใช้แพร่หลายทั้งการส่งข้อมูลประวัติการรักษา ผล Lab ผล X-Ray การนัดหมาย พูดคุยกับแพทย์แบบ Realtime ซึ่งผู้บริโภคคุ้นชินกับ Multi-channel มากขึ้น ดังนั้นจึงตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด อยู่ภายใต้โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองมาพัฒนาธุรกิจ Telemedicine รวมถึง Digital Health Tech

 

ทั้งนี้ ปีนี้ THG หาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ในรูปแบบการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ในเมียนมาที่มี รพ.Ar Yu International หรือในเวียดนามจับมือกับ IFF Holdings เตรียมเปิดศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึกเฉพาะบุคคลแบบครบวงจร

 

สำหรับเป้าหมาย 3-5 ปี THG และในกลุ่มเติบโต 12-15% ต่อปี ขยายศักยภาพในกลุ่ม รพ.secondary care เป็น super secondary care โดยเพิ่มศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง ไต ขยายจำนวนห้องตรวจ เตียงให้บริการ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาช่วยการรักษามีประสิทธิภาพขึ้น และให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้เร็ว

 

BCH มุ่งศูนย์ความเป็นเลิศ-รับคนไข้ทยอยฟื้น

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH กล่าวว่า ช่วงโควิดปี 2564-2565 เป็น 'ยุคทอง' ธุรกิจโรงพยาบาลที่ตอบโจทย์ช่วยดูแลคนไข้โควิด-19 โดยงบธุรกิจช่วงดังกล่าวเติบโตดี แต่หลังโควิดปี 2566 รวมถึงปี 2567 จะเห็นภาพธุรกิจโรงพยาบาลกลับสู่ปกติเท่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งเห็นการปรับตัวกลุ่มโรงพยาบาลพัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) อีกทั้งขยายสาขาโรงพยาบาลเพื่อผลักดันส่วนแบ่งการตลาด

 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะกลับมาเพิ่มมากขึ้น ร่วมกับมีลูกค้าต่างประเทศกลับมา และการปรับค่าเหมาจ่ายรายหัวของประกันสังคม ซึ่งปี 2566 ปรับราคาเหมาจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น 10% เป็นปัจจัยหนุนธุรกิจโรงพยาบาลปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องปีนี้

 

สำหรับแผนธุรกิจ BCH ปี 2567 กลุ่ม BCH ก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี จังหวัดนนทบุรี งบลงทุน 300 ล้านบาท เปิดบริการกลางปี 2567 ส่วน รพ.เกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ 268 เตียง งบลงทุน 1,600 ล้านบาท ก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการต้นปี 2570

 

รวมทั้งปี 2567 ผลดำเนินงาน 3 โรงพยาบาลที่เปิดใหม่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ช่วยหนุนผลดำเนินงานปี 2567 ทั้งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อรัญประเทศ, ปราจีน และเวียงจันทน์ มีโอกาสที่ EBITDA เป็นบวกปีนี้ คาดจะดีขึ้นต่อเนื่องทุกแห่ง และการขยายในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้นำและไม่ทับซ้อนกับคู่แข่ง ถือเป็นจุดแข็งในภาวะที่การแข่งขันสูง

 

พร้อมกันนี้มุ่งพัฒนา AI ซอฟต์แวร์รวมข้อมูลเชื่อมข้อมูลศูนย์รักษาและโรงพยาบาลทุกแห่งของกลุ่ม BCH เสร็จสมบูรณ์ในปี 2568  ซึ่งจะเห็นประสิทธิภาพบริหารจัดการธุรกิจโรงพยาบาลรวดเร็วขึ้้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพเทเลเมดิซีนหรือแพทย์ทางไกล

 

ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังเติบโตแข็งแกร่งหนุนจากคนไข้ทั่วไปทั้งผู้ป่วยในผู้ป่วยนอก รวมทั้งคนไข้ต่างชาติจากเมียนมา จีน ตะวันออกกลาง โดยปีนี้สัดส่วนคนไข้ต่างชาติจะเพิ่มเป็น 20% ของรายได้รวม จากปี 2566 ที่ 16% และมีคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 130,000 คน จากปี 2565 มี 80,000 คน และปี 2566 ยังมีคนไข้เงินสดเพิ่มขึ้น 30%

 

 

\'รพ.เอกชน\' แห่ลงทุนยุคหลังโควิด \'เทเลเมดิซีน-ดิจิทัลเฮลท์เทค\' มาแรง