ดันท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สธ.ไทยเจรจาจัดทำ MOU ฉบับแรกกับซาอุฯ

ดันท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สธ.ไทยเจรจาจัดทำ MOU ฉบับแรกกับซาอุฯ

สธ.ไทยเจรจาจัดทำ MOU ฉบับแรกกับซาอุฯ เน้นสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ-ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพ (Medical and wellness tourism)  คาดลงนามได้ไตรมาสแรกปี 67 ขณะที่มีการคาดการณ์ปี 67 มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ราว 1.2-1.3 ล้านคน ตั้งเป้าไทย  Top 5 ในปี 80

       นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ผ่านความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผู้แทนจึงเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยได้เจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในสาขาความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน

        "การเจรจาจัดทำร่าง MOU ใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น ก็บรรลุความเห็นชอบร่วมกัน เน้นความร่วมมือในด้านการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพ (Medical and wellness tourism) ซึ่งเป็นสาขาที่ทั้งไทยและซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คาดว่าจะสามารถลงนาม MOU ระหว่างรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขสองประเทศได้ภายในไตรมาสแรกของปี2567" นพ.สุระกล่าว

ดันท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สธ.ไทยเจรจาจัดทำ MOU ฉบับแรกกับซาอุฯ

นับเป็นMOU สาธารณสุขฉบับแรก

        ที่ผ่านมา ไทยและซาอุดีอาระเบียยังไม่มี MOU ความร่วมมือด้านสาธารณสุขมาก่อน มีเพียงการแลกเปลี่ยนการดูงานด้านการให้บริการสุขภาพตามโอกาสเท่านั้น การลงนาม MOU ความร่วมมือด้านสาธารณสุขนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายโอกาสสร้างความร่วมมือในสาขาอื่นๆ นอกเหนือจากด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่เพียงจะส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังจะส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาคมโลกด้วย

          นอกจากนี้ คณะของไทยยังได้หารือกับผู้แทนจากกองทุนประกันสุขภาพของซาอุดีอาระเบีย โดยให้ข้อมูลความพร้อมของสถานพยาบาลไทยในการให้บริการรักษาพยาบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งได้ศึกษาดูงานการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital)

      ซึ่งมีความก้าวหน้าและทันสมัยเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และมาตรการการควบคุมโรคของไทย กับผู้แทน Public Health Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมโรคของซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย พร้อมศึกษาดูงานโอกาสและความท้าทายของการให้บริการ Wellness Thai ในซาอุดีอาระเบียด้วย

เป้าไทยติดTop5 โลก 
     อนึ่ง  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีแผนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก (Medical Hub of The World) ยกระดับความพร้อมของประเทศไทยให้ติดท็อป 5 ของการจัดอันดับ Medical Tourism Index ให้ได้ในอนาคต จากปัจจุบัน Medical Tourism Index 2020-2021 ประเทศไทยรั้งอันดับ 17 เป็นรอง 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สเปน และสหราชอาณาจักร

           และจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่ม คาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3.8 ล้านคน สร้างรายได้  2 แสนล้านบาทในปี 2580  ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มที่โดดเด่นระดับโลก จากข้อมูลของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council : WTCC)

          สำหรับปี 2567 คาดนักท่องเที่ยวตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มจะฟื้นกลับสู่ภาวะปกติที่ 1.2-1.3 ล้านคน

ดันท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สธ.ไทยเจรจาจัดทำ MOU ฉบับแรกกับซาอุฯ

 3ความท้าทายของตลาด

       ขณะที่ตลาดเมดิคัลทัวริสซึ่มไทย มี 3 ความท้าทาย

 1.สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2564 ไทยมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน หรือ 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และ 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด คืออายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28%

2.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของหลายประเทศ โดยไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่ำกว่าการรักษาในสหรัฐ 57-79%

และ 3.สร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนในไทยที่ได้รับการรับรองโดย JCI จำนวน 59 แห่ง ถือว่ายังมีสัดส่วนไม่สูงนักเทียบโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 343 แห่ง