วัคซีน'ปอดอักเสบในเด็ก' และอัปเดตกรณีเด็กจีนป่วยจำนวนมาก

วัคซีน'ปอดอักเสบในเด็ก'  และอัปเดตกรณีเด็กจีนป่วยจำนวนมาก

อัปเดต ปอดอักเสบในเด็กที่จีน  เชื้อเก่าที่ก่อให้เกิดในเด็กทั้งไวรัส-แบคทีเรีย บางตัวมีวัคซีนป้องกัน แต่บางตัวยังไม่มื พร้อมวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยต้องได้รับ 

Key points:

  • สร้างความหวาดหวั่นทั่วโลกเมื่อองค์การอนามัยโลก ขอให้จีนรายงานกรณีการป่วยปอดอักเสบในเด็กเป็นกลุ่มก้อน และมีจำนวนมากขึ้น  และอัปเดตล่าสุดจากสธ.ไทย
  • ปอดอักเสบในเด็ก ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจเกิดจากเชื้อตัวใหม่ได้ ขณะที่ปัจจุบันเชื้อที่ทำให้เด็กป่วยมีทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
  • วัคซีนป้องกันโรค ที่จะช่วยป้องกันปอดอักเสบในเด็กด้วย บางตัวเด็กไทยได้รับฟรีเป็นวัคซีนพื้นฐาน แต่บางตัวยังเป็นทางเลือกที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินเอง 

 

จากการระบาดของโรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีน และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศจีน ออกแถลงการณ์เรียกร้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ให้รัฐบาลจีนมอบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของโรคทางเดินหายใจ และคลัสเตอร์ของโรคปอดอักเสบในเด็ก  

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันชัดเจนว่า โรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีน เกิดจากเชื้อก่อโรคตัวเดิมที่ว่างเว้นการระบาดช่วง 3 ปีในช่วงของการเข้มงวดมาตรการโควิด-19

ในส่วนของไทย เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาหารือ เพื่อเตรียมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแล้ว

วัคซีน\'ปอดอักเสบในเด็ก\'  และอัปเดตกรณีเด็กจีนป่วยจำนวนมาก

4มาตรการไทยพร้อมรับมือ

หากสถานการณ์มีความจำเป็น จะเพิ่มความเข้มข้นใน 4 มาตรการ คือ

1.มาตรการเฝ้าระวังโรค ให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ติดตามสถานการณ์โรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด กรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค

หากพบผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวนมากผิดปกติ หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นปอดอักเสบ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลันหรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบสอบสวนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและควบคุมโรคต่อไป

2.มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ให้สื่อสารความเสี่ยงกับประชาชน ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ สำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

3.มาตรการด้านการรักษา ให้โรงพยาบาลเตรียมชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ยา เวชภัณฑ์และเตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินตามแผนการตอบโต้สถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เมืองท่องเที่ยว

4.กรณีพบการระบาดของโรคปอดอักเสบรุนแรงไม่ทราบสาเหตุเป็นวงกว้างในต่างประเทศ จะยกระดับการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติคัดกรองผู้มีอาการทางเดินหายใจและเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อก่อโรค รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ทันที

ไวรัส-แบคทีเรียเกิดปอดอักเสบในเด็ก

โรคปอดอักเสบในเด็ก  หรือที่เรียกกันว่า โรคปอดบวม  สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในปอด อาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮิบ หรือเชื้อไมโครพลาสมา เชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อ RSV ไข้หวัดใหญ่ ADENOVIRUS PARAINFLUENZA VIRUS เป็นต้น

เชื้อมักอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย และสามารถติดต่อได้หลายทาง ตั้งแต่การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง บางส่วนอาจเกิดจากการสำลักอาหาร การแพร่กระจายตามกระแสเลือด หรือแพร่ผ่านจากมือคนซึ่งมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ไปสู่อีกคน

โรคนี้พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร

ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ขณะหายใจมีชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออกลึก ๆ ร่วมด้วย และในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด มีฝีในปอดหรือมีภาวะหายใจล้มเหลวได้

 

 ปอดอักเสบหลายครั้งใน 1 ปี 

กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำหลายครั้งใน 1 ปี หรือภายหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบหายใจเพื่อหาสาเหตุ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจเพิ่มเติมโดยอาศัยภาพถ่ายรังสีขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ว่าพบความผิดปกติที่ตำแหน่งเดียวกันตลอดหรือกระจายคนละตำแหน่งทั่วทั้งปอด


วัคซีน\'ปอดอักเสบในเด็ก\'  และอัปเดตกรณีเด็กจีนป่วยจำนวนมาก

 

สาเหตุของการเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กที่พบบ่อย เช่น

  • การสำลักอาหาร
  • การมีโครงสร้างผิดของหลอดลมหรือปอด
  • การมีภาวะหลอดลมไวหรือมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย

นอกจากนี้ การเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กยังอาจเป็นผลมาจากโรคหัวใจ ภาวะที่ปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และให้การรักษาป้องกันตามสาเหตุต่อไป

ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันบุตรหลานจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้ โดยการหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ เมื่อมีโอกาสสัมผัสเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

 

 วัคซีนป้องกันปอดอักเสบในเด็ก

สำหรับกรณีที่เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมานั้นยังไม่มีวัคซีน แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดปอดอักเสบในเด็ก  ได้แก่

1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่  อายุที่ควรได้รับ เริ่มให้ตั้งแต่อายุ  6 เดือน  ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน  หลังจากนั้นให้ฉีดปีละครั้ง
2.วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต มีทั้ง PCV วัคซีน ,นิวโมคอคคัสวัคซีน,IPDวัคซีน อายุที่ควรได้รับ 2,4,6และ12-15 เดือน (วัคซีนเสริมที่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง)
3.วัคซีนป้องกันโรคไอกรน  อายุที่ควรได้รับ 2,4,6,18เดือน และ4-6 ปี 10-12 ปี จากนั้นให้ทุกๆ 10 ปี 

4.วัคซีนฮิบ  อายุที่ควรได้รับ 2,4,6,12-18 เดือน

5.วัคซีนหัด อายุที่ควรได้รับ 9-12 เดือน และ18เดือน

 

วัคซีนพื้นฐานที่เด็กต้องได้รับปี 66

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือตารางการให้วัคซีนเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กฉีดวัคซีนพื้นฐานฟรี สำหรับปี 2566 ได้แก่

  1. วัคซีนวัณโรค หรือวัคซีนบีซีจี
  2. วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  3. วัคซีนโรคคอตีบ
  4. วัคซีนโรคไอกรน
  5. วัคซีนโรคบาดทะยัก
  6. วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด
  7. วัคซีนโรคหัด
  8. วัคซีนโรคหัดเยอรมัน
  9. วัคซีนโรคคางทูม
  10. วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
  11. วัคซีนโรคเอชพีวี
  12. วัคซีนโรคฮิบ
  13. วัคซีนโรต้า

อ้างอิง :  กระทรวงสาธารณสุข ,คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ,รพ.ศิครินทร์