'ไอพีดี' โรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่เด็กไทยยังเข้าไม่ถึง

'ไอพีดี' โรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่เด็กไทยยังเข้าไม่ถึง

ปี 2560 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบมากกว่า 808,000 ราย ส่วนประเทศไทยยอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัส จำนาน 1,228 รายต่อเด็กแสนคน โรคไอพีดีทั้งที่มีวัคซีนป้องกัน แต่เด็กไทยยังเข้าไม่ถึงสิทธิวัคซีนฟรี 

       เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน  2566 ในการแถลงข่าว โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 8 เนื่องในวันปอดอักเสบโลก ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี  (World Pneumonia Day 2023)  ภายใต้แนวคิด “โครงการเสริมภูมิคุ้มกันเด็กไทย สู่อนาคตที่ห่างไกลจาก IPD” และเสวนา “เสริมภูมิคุ้มกันเด็กไทย สู่อนาคตที่ห่างไกลจาก IPD”
         รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการและปฏิคมสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง เป็นความร่วมมือของมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและภาคส่วนต่าง จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และดำเนินตามเป้าหมายหลัก คือ การเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดียังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคนี้ได้ โดยในปีนี้เราได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 3,000 โด๊ส เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ
\'ไอพีดี\' โรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่เด็กไทยยังเข้าไม่ถึง

กลุ่มเสี่ยงไอพีดี 
         โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งจากเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายคล้ายการแพร่ของโรคไข้หวัด ทำให้โรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็มักไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นมาได้จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้
        โดยเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบ ทุกคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงสูง ได้แก่ ทารก เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการป่วยบางอย่าง เช่น โรคหัวใจเรื้อรัง โรคปอด โรคไตหรือตับ เบาหวาน หรือความเจ็บป่วยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 
 เชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยา
        การติดเชื้อนิวโมคอคคัสในแต่ละคนอาจเกิดความรุนแรงแตกต่างกัน บางรายเกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรักษาโรคนิวโมคอคคัส ทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ โดยวิธีรับประทานหรือให้ทางหลอดเลือดดำ ตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งมักได้ผลดีหากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก และไม่มีภาวะเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ 
      “ปัจจุบันเริ่มมีเชื้อนิวโมคอคคัสบางสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ทำให้การตอบสนองต่อผลการรักษาช้า เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ ที่เปราะบาง”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว  

ผลักดันเป็นวัคซีนพื้นฐานฟรี 
            รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ในการป้องกันบุตรหลาน ผู้ปกครองจึงควรสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูง แม้จะรักษาในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย
         ทั้งนี้  140 ประเทศมีการนำวัคซีนนี้เข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานที่จัดหาให้ฉีดฟรี  แต่ไทยยังจัดอยู่ใน 60 ประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการ  เป็นสิ่งที่ต้องพยายามผลักดัน เมื่อใดที่ภาครัฐให้การสนับสนุนให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสบรรจุอยู่ในวัคซีนพื้นฐานให้เด็กไทยทุกคน ก็จะมีประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างเป็นอย่างมาก    
แค่เป็นเด็กเล็กก็เสี่ยงแล้ว
          ขณะที่ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบและเป็นสาเหตุประมาณ  22% ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กไทย
         ในประเทศไทยพบว่าในปี 2562 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัส จำนาน 1,228 รายต่อประชากรเด็กจำนวนหนึ่งแสนคน และในจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อและเสียชีวิต มีอัตราสูงถึง 11%  นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจากโรคไอพีดีมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23%
\'ไอพีดี\' โรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่เด็กไทยยังเข้าไม่ถึง
        “โรคไอพีดี ไม่ใช่เป็นโรคที่เด็กกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่เป็น แต่แค่เป็นเด็กเล็กก็เสี่ยงแล้ว ทุกคนเกิดมาเสี่ยงโรคนี้ เพียงแต่ใครจะเป็นมากเป็นน้อย ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อแล้วเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แนะนำว่าเด็กทุกคนอายุต่ำกว่า 5 ปีควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ โดยที่เสี่ยงมากสุด 2 ปีแรกของชีวิตและเสี่ยงรุนแรงสุด 1 ปีแรกของชีวิต เพราะหากเป็นขวบปีแรกไม่ใช่ปอดบวมธรรมดา อาจติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อหายแล้วไม่กลับเป็นปกติ “ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว
คำแนะนำวัคซีนไอพีดี
          ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวด้วยว่า แนวทางในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันโรคไม่มากนัก ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อโรคร้ายแรงอย่างนิวโมคอคคัสได้ การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ
         การฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนมากวัคซีนไอพีดีจะฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ นิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยในเด็กทารกเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน 
            นอกจากนี้ แนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีการเจ็บป่วยบ่อยหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส และน่าจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคธาลัสซีเมีย ไม่มีม้าม และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวัคซีนเช่นกันเนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคที่รุนแรง 
       “วัคซีนป้องกันไอพีดีกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ให้เด็กได้รับฟรี คาดว่าจะภายใน 1-2 ปีนี้  ในขณะนี้การฉีดวัคซีนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งลูกเรารอไม่ได้ถึงเวลาฉีดต้องพาไปฉีด การจ่ายค่าวัคซีนให้ลูก เป็นการซื้อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของลูก ต้องป้องกันให้ดีที่สุดเป็นสิ่งที่คุ้มค่า”ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว