'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' ช่วงเวลาที่ควรฉีด เมื่อไทยป่วยได้ตลอดปี

'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' ช่วงเวลาที่ควรฉีด เมื่อไทยป่วยได้ตลอดปี

ปี66 มีรายงานคนไทยป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กว่า 3 แสนราย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อยอด ป่วยจริง อาจทะลุหลักล้านราย เพราะติดเชื้อได้ตลอดปี เผยผู้สูงอายุเสี่ยงเป็นโรคแทรก ซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ย้ำควรฉีดวัคซีน  แนะรัฐเพิ่มจำนวนวัคซีนฟรี ขยายกลุ่มเป้าหมาย

         รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการระบาดเป็นประจำทุกปี แต่จากช่วง 2-3 ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่หลบไปและห่างเหินชั่วคราว นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้และมีมาตรการป้องกันโควิด-19 จนในปีพ.ศ. 2566 จึงเห็นชัดเจนว่าประชาชนมีการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก
       จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยกว่า 3 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 21 ราย แต่ในความเป็นจริงจำนวนผู้ป่วยอาจจะมากกว่านี้ เนื่องจากผู้ที่มีอาการน้อยไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือรักษาที่คลินิกก็ไม่ได้รับการรายงาน จึงเชื่อว่าในปีนี้น่าจะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจถึงหลักล้านคนได้

ไข้หวัดใหญ่ในไทยป่วยได้ตลอดปี

          ข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ย้อนหลังของประเทศไทย จะมีความแตกต่างจากประเทศในซีกโลกเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่จะมีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดเฉพาะช่วงฤดูหนาว เมื่อฤดูร้อนโรคจะหายไปหมด แต่สำหรับประเทศไทยอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร จึงพบโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เพราะมีความชื้นสูง ฝนตกคนรวมกลุ่ม นักเรียนเปิดเทอม ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีการระบาดและเด็กนักเรียนจะนำเอาเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ครอบครัวและผู้สูงอายุที่บ้านซึ่งกลุ่มเด็กเป็น ‘กลุ่มเสี่ยงเป็น’ และมักจะรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็ก
         ขณะที่ผู้สูงอายุเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจจะมีอาการรุนแรงมาก เรียกว่าเป็น ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ ส่วนคนหนุ่มสาวก็ป่วยได้แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรุนแรง จะเห็นได้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ และโรคนี้จะคงอยู่กับเราตลอดไป วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีประโยชน์สำหรับคนทุกวัย
\'วัคซีนไข้หวัดใหญ่\' ช่วงเวลาที่ควรฉีด เมื่อไทยป่วยได้ตลอดปี

       รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า การศึกษาในประเทศไทยกรณีการเข้ารับการรักษา ด้วยโรค ไข้ หวัดใหญ่ พบว่า มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม การศึกษาพบว่าภาระโรคไข้หวัดใหญ่ ในประเทศไทยมีการจ่ายค่ารักษาทั้งสิ้น ปีละประมาณ 1,100 ล้านบาท และมีการสูญเสียค่าใช้จ่ายทางอ้อมอีก 1,300 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นสูญเสียทางเศรษฐกิจ เป็นเงินจำนวน 2,400 ล้านบาทต่อปี
       ทั้งนี้ ทางการแพทย์มีการศึกษาวิจัยถึงวิธีการป้องกันควบคุมโรคที่มีความคุ้มค่า คุ้มทุนมากที่สุด คือ วัคซีนและภาครัฐบาลได้นำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาให้บริการฟรีกับกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะมีความรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่รัฐควรเพิ่มจำนวน-ขยายกลุ่มเป้าหมาย
        สำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ควรจะมีนโยบายจัดการหรือแนวทาง ในการป้องกันช่วยลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น สะดวกขึ้น อาทิ ช่องทาง Drive-Thru เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแถบยุโรปที่ มี ทีมพยาบาลหรือสหสาขาวิชาชีพก็สามารถให้บริการได้สะดวกมาก โดย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี มองว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการยอมรับในภาคประชาสังคมของคนไทยมากที่สุด เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาและใช้กันมายาวนานกว่า 50 ปี มีความปลอดภัยสูง นับได้ว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ มีความคุ้มค่าและคุ้มทุนอย่างมาก

    โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตาย ช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย โรคแทรกซ้อนรุนแรง การนอนโรงพยาบาล และการสูญเสียชีวิตได้ ซึ่งหากภาครัฐมีการพิจารณาเพิ่มจำนวนวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงป่วยรุนแรงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น รวมถึงพิจารณาขยายกลุ่มฉีดฟรีในกลุ่มเด็กโต ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะนำพาเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ครอบครัวและผู้สูงอายุในบ้าน ก็จะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างมหาศาล

3ปัจจัยเสี่ยงผู้สูงอายุ
          ขณะที่ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าผู้สูงอายุมักเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ซึ่งประการแรกสำคัญที่สุด คือ

1.ภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยหรือภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เหมือนช่วงหนุ่มสาว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงถ้าติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงได้
 2.ผู้สูงอายุมักจะมีโรคร่วม เช่น ผู้สูงอายุบางรายอาจมีโรคปอดถุงลมโป่งพอง พอป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ก็จะทำให้หอบเหนื่อยหรือมีเชื้อลงปอดและมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ หรือบางรายอาจเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม พอป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจส่งผลให้โรคหัวใจแย่ลงตามไปด้วย หรือหากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี เพราะเซลล์ที่จะไปจับกินเชื้อโรคก็จะทำงานได้ไม่ดี ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนเนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย

และ 3.ผู้สูงอายุยังมีภาวะทุพโภชนาการ คือ กินได้น้อยลง กินได้ไม่ครบ 5 หมู่ ก็จะส่งผลให้เกิดโรคได้ง่าย รวมถึงเป็นโรคที่รุนแรงได้ง่าย

      ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ ‘ผู้สูงอายุ’ ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดการเกิดปอดอักเสบจากการที่เชื้อไวรัสลงปอด ลดการเจ็บป่วยที่จะต้องนอนโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในชีวิตประจำวัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ และการอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ จะไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา หรือปฏิบัติแล้วก็ยังมีโอกาสป่วยได้เช่นกัน
\'วัคซีนไข้หวัดใหญ่\' ช่วงเวลาที่ควรฉีด เมื่อไทยป่วยได้ตลอดปี

 ประเภทวัคซีนไข้หวัดใหญ่

      ทั้งนี้ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำว่า จริง ๆ แล้ว ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่

  1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (standard dose) มีปริมาณแอนติเจน 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ
  2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) มีปริมาณแอนติเจน 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ประมาณร้อยละ 24 และยังลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐาน รวมถึงลดการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐาน โดยอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐานเล็กน้อย

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดได้ไม่ต้องรอครบปี

       รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ประชาชนไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 ปี โดยทุกปีวัคซีนของฤดูกาลใหม่จะเข้ามาในช่วงเมษายน – พฤษภาคม สามารถมาฉีดได้ทันที เพียงให้เว้นระยะห่างจากวัคซีนครั้งก่อนอย่างน้อย 6 เดือน
         โดยกลุ่มเสี่ยงที่รัฐกำหนดสามารถฉีดฟรีได้ที่หน่วยบริการพยาบาลภาครัฐ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 สำหรับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดได้ ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน โดยที่จะต้องดูแลค่าใช้จ่ายเอง