อย. พร้อมสนับสนุนการใช้สารไมทราไจนีนในพืชกระท่อม

อย. พร้อมสนับสนุนการใช้สารไมทราไจนีนในพืชกระท่อม

พืชกระท่อมได้ถูกปลดล็อคจากการเป็นยาเสพติดแล้ว ดังนั้น การขออนุญาตจึงใช้หลักเกณฑ์เดียวกับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ทั่วไป แต่เนื่องจากปัจจุบันพืชกระท่อม ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยในมนุษย์ถึงประสิทธิภาพและปลอดภัยที่ชัดเจน


เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้จัดทำคำแนะนำการพัฒนาและขออนุญาต 'ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพน้ำใบกระท่อม' 

โดยกำหนดให้มีปริมาณสารไมทราจีนีนที่ได้รับไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการกำหนดตัวเลขดังกล่าวนี้ ได้มาจากการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลอง และนำมาคำนวณจนได้ขนาดสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวันโดย ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายของคนปกติทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยื่นจดทะเบียนปลูกกระท่อม ขอรับเงิน 3,500 - 5,000 บาท/ไร่ ได้จริงหรือมีคำตอบ?

บังคับใช้! พ.ร.บ.พืชกระท่อม ห้ามขายเด็กต่ำกว่า18 -หญิงมีครรภ์-ให้นมบุตร

เตือนภัย อ้างเป็นจนท.กรมส่งเสริมการเกษตรรับซื้อ "กระท่อม" ในพื้นที่ภาคใต้

 

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ น้ำใบกระท่อม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกระท่อมที่นอกเหนือจากที่กำหนดในคำแนะนำฯ 'ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ น้ำใบกระท่อม' โดยจะพิจารณาอนุญาตจากเอกสารหลักฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ยื่นมา กรณีการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอนุญาตให้ใช้สารไมตราจีนีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น โดยอนุญาตไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นปริมาณที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

แต่หากผู้ผลิตอาหารต้องการเพิ่มปริมาณการใช้เกินกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน  ต้องประเมินความปลอดภัยของอาหารก่อน โดยยื่นคำขอประเมินความปลอดภัยกับหน่วยประเมินที่ อย. ให้การยอมรับ ได้แก่ หน่วยประเมินความปลอดภัยอาหาร สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอวดอ้างสรรพคุณ

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน และ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน  ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจาก อย. โดยสังเกตฉลากต้องแสดงเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือเลขสารบบอาหาร

รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต่อสุขภาพในทางบำบัด รักษาเป็นเท็จ เกินจริง  สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ