ปคบ.-อย. จัดระเบียบร้านยาทั่ว กทม. ขายยาแก้ไอใช้ผสมยาเสพติด จับ 13 ราย

ปคบ.-อย. จัดระเบียบร้านยาทั่ว กทม. ขายยาแก้ไอใช้ผสมยาเสพติด จับ 13 ราย

ตำรวจ ปคบ.- อย. ครวจค้น จัดระเบียบร้านขายยาทั่ว กทม. ใช้ลูกจ้างจบ ม.3 ขายยาแก้แพ้-แก้ไอกลุ่มวัยรุ่นใช้ผสมยาเสพติด จับ 13 ราย เภสัชกรสารภาพเข้าร้านเพียงแค่อาทิตย์ละครั้ง เตรียมแจ้งเอาผิดพักใบอนุญาต

ตำรวจ ร่วม เจ้าหน้าที่ สนง.อาหารและยา หรือ อย. กวาดล้างขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั่วกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. โดย พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.บก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วกรุงเทพฯ กวาดล้างหมอเถื่อน และ ร้านขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้จำนวน 13 รายพร้อมยึดของกลาง 156 รายการ มูลค่ารวมกว่า 1,400,000 บาท

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ได้รับประสานจากทาง อย. เพื่อขอให้ตรวจสอบร้านขายยาต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้บุคลากรที่ไม่ได้เป็นเภสัชกรประจำร้านจ่ายยาให้กับลูกค้า รวมถึงมีพฤติกรรมขายยาแก้แพ้-แก้ไอ ยาเขียวเหลืองให้กับกลุ่มวัยรุ่นนำไปเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4x100 ซึ่งเรื่องดังกล่าวสภาเภสัชกรรมเคยเน้นย้ำให้ทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจําจึงเป็นที่มาในการจัดระเบียบครั้งนี้

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ผลปฏิบัติการตรวจสอบร้านยา 14 จุด ประกอบด้วย 

  • ร้านขายยาไทยฟาร์มาซี จำนวน 5 สาขา
  • ร้านคลินิกยา จำนวน 4 สาขา
  • ร้านพูนทรัพย์ฟาร์มาซี จำนวน 2 สาขา
  • ร้านขายยาพาดาเจริญเภสัช จำนวน 2 สาขา 
  • ร้านบ้านยาของขวัญ 

สามารถตรวจยึดยาปลอมได้ทั้งสิ้น 572 ชิ้น ยาที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนจำนวน 212 ชิ้น ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 24,722 ขวด ยาเขียวเหลือง หรือ ทรามาดอล จำนวน 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษอีกจำนวน 21 กล่อง 

พร้อมจับกุมบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกรไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม รวมทั้งสิ้น 13 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 ราย, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 ราย และชั้นปริญญาตรีจำนวน 8 ราย มีการดำเนินการแจ้งข้อหาประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต

 จากการสอบสวนทั้งหมดให้การรับสารภาพว่ารับจ้างเป็นพนักงานของร้านขายยาโดยปฎิบัติหน้าที่ในร้านขายยาเป็นประจำทุกวันแต่จะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดย บุคคลเหล่านี้ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาทถึง 18,000 บาท

“พฤติการณ์ของกลุ่มร้านขายยานี้เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า จะมีการจดขยายสาขาจำนวนหลายสาขาโดยมีชื่อเจ้าของเพียงบุคคลเดียว ซึ่งการกระทำแบบนี้จะสามารถทำให้ได้โควต้าในส่วนของยาแก้ไอที่มีการจำกัดเอาไว้ให้เพียงร้านละ 300 ขวดต่อเดือน สามารถสั่งซื้อได้จำนวนมากขึ้นโดยกลุ่มยาแก้ไอเหล่านี้จะมีการนำมาขายให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่นำไปใช้ผสมกับเครื่องดื่มที่มีชื่อเรียกว่า 4 × 100 โดยกลุ่มร้านขายยาที่พบว่ามีการกระทำความผิดจะรวมกระจุกกันอยู่ในพื้นที่ ถนนรามคำแหง ย่านหัวหมาก และ ถนนลาดพร้าว เนื่องจากพบว่าเป็น พื้นที่ที่มีกลุ่มคนทางภาคใต้ที่มีความชื่นชอบในการดื่มน้ำที่ทำมาจากใบกระท่อมรวมตัวกันอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นแบบนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มร้านขายยาแบบนี้พุ่งเป้าเข้าไป”

พ.ต.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 13 ราย เบื้องต้นจะถูกดำเนินคดี ในความผิด ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 และ ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เช่นเดียวกับในส่วนของ ตัวเภสัชกรที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาดังกล่าวจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตสองปีและดำเนินการทางคดีอาญาซึ่งเป็นโทษปรับ ขณะที่ในส่วนของร้านนั้นทางคณะกรรมการอาหารและยา อาจจะมีการเสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาตของร้านต่อไป