สัญญาณ 'หน้าเบี้ยวครึ่งซีก' เกิดจากอะไร? โรคใกล้ตัวที่ควรรีบพบแพทย์

สัญญาณ 'หน้าเบี้ยวครึ่งซีก' เกิดจากอะไร? โรคใกล้ตัวที่ควรรีบพบแพทย์

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนอาการอ่อนแรง บริเวณใบหน้าครึ่งซีก ใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว มีน้ำไหลที่มุมปาก และอาจพูดไม่ชัด การรับรสที่ลิ้นผิดปกติ ปวดศีรษะ หูอื้อข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ดื่มน้ำลำบากพูดไม่ชัด เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ผิดปกติ 

หลายโรคที่หลายคนเกิดอาการขึ้นมา มักจะไม่ทราบสาเหตุ เพราะอยู่ดีๆ ตื่นเช้ามาก็อาจจะมีอาการเช่น ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว อย่าง 'มดดำ – คชาภา ตันเจริญ' พิธีกรชื่อดังที่มีอาการปากเบี้ยวและหลับตาไม่สนิท โดยเริ่มแรกเข้าใจว่าเกิดจากการไปทำฟัน แต่เอาจริงๆ แล้วกลับไม่ใช่ และเป็นเหตุให้ต้องเข้าแอดมิทที่โรงพยาบาลทันที

จากการสแกน MRI เพื่อหาสาเหตุและสิ่งผิดปรกติ ผลปรากฏว่าเส้นเลือดส่วนสมองมีอาการปรกติ ไม่พบก้อนเนื้อบริเวณกกหู ไม่พบความผิดปรกติอื่นร่วม  จึงสันนิษฐานสาเหตุของการที่มีอาการปากเบี้ยวและหลับตาไม่สนิทบริเวณด้านขวานั้น เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การถูกกระตุ้นบางอย่าง พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย ความดันผิดปรกติ หรืออาการเครียดสะสม ซึ่งอาการสามารถหายขาดได้ภายใน 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อาการล่าสุด 'มดดำ' หลังป่วยหน้าเบี้ยวครึ่งซีก แพทย์สรุปเกิดจากสาเหตุนี้

'มดดำ' แอดมิท รพ.ด่วน หลังป่วยเส้นประสาทอักเสบ คนบันเทิง-แฟนๆแห่ส่งกำลังใจ

แชร์ว่อน! โทรไลน์เสี่ยงเกิด "เนื้องอกในสมอง" กรมการแพทย์แจงแล้วจริงหรือ?

 

เช็กอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก แม้สาเหตุยังไม่แน่ชัด

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก  ( Bell’s palsy ) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นประสาทบนใบหน้า ส่งผลให้หน้าเบี้ยวครึ่งซีก

เป็นผลมาจากเส้นประสาทใบหน้า หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละข้างทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม ทำหน้าบึ้ง หรือหลับตา รวมทั้งรับรสจากลิ้น และส่งต่อไปยังสมองเกิดการอักเสบส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย ปากเบี้ยว  ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจมีความสัมพันธ์ได้จากการติดเชื้อไวรัสบริเวณใบหน้า เช่น โรคอีสุกอีไส เชื้อเริม ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ได้แก่ ผู้ที่ตั้งครรภ์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ และภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ 

 

ฟื้นตัวภายใน 3 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์

นพ.ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ โดยจะฟื้นตัวภายใน 3 สัปดาห์ แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจการทำงานของประสาท (EMG)

การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ และการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม

การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น กระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อาการปากเบี้ยวหรือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจน เนื่องจากสาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าที่มักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์

"ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือ ใส่แว่นกันแดด ร่วมกับใช้น้ำตาเทียม และปิดตาเวลานอนเพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะผลของการรักษาจะได้ผลดีถ้าได้เริ่มรักษาภายใน 3 วัน"