รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดเต็มทุกห้องแล้ว

รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดเต็มทุกห้องแล้ว

ติดเชื้อพุ่ง! รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งเตียงผู้ป่วยวิกฤติโควิด-ผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเต็มทุกห้อง ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้แล้ว

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 เฟซบุ๊กเพจ Siriraj Piyamaharajkarun Hospital ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้โพสต์ข้อความแจ้งให้ทราบว่า

 

 

'เรียน ผู้รับบริการทุกท่าน

ขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 เต็มทุกห้อง

ทั้งนี้ แผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มได้

ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566'

 

รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดเต็มทุกห้องแล้ว

 

 

ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หรือ 'หมอนิธิพัฒน์' หัวหน้าสาขาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาด ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา เดิมคาดการณ์ว่าในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมมีการเลือกตั้ง คนกลับภูมิลำเนา รวมทั้งการเดินทางเข้าออกประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพราะคนทำกิจกรรมนอกบ้านโดยไม่ระมัดระวังมากขึ้น ส่วนปัจจัยรองอาจจะมาจากสายพันธุ์ย่อยที่มาจากตระกูลของโอไมครอน XBB ซึ่งแพร่กระจายติดเชื้อในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากวัคซีนของคนไทยเริ่มตกลง

 

หากเปรียบเทียบสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงปลายเดือนมีนาคมกับต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา จากเดิมมีผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลวันละ 20 คน แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวันละ 400 คน (เพิ่มขึ้น 20 เท่า) ซึ่งจากการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดทุก 100 คน จะมีคนเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 2 จากตัวเลขนี้จึงคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อวันละ 20,000-40,000 คน จากเดิมวันละประมาณ 2,000 คน

 

หมอนิธิพัฒน์ เผยต่ออีกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีผู้เสียชีวิตจำนวน 66 คนต่อสัปดาห์ จากเดิมคือ 3-4 คนต่อสัปดาห์ ตัวเลขนี้พบว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 เท่า เช่นเดียวกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ทั้งยังพบผู้ป่วยอาการปอดอักเสบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 5 และในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบจำนวนครึ่งหนึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ