3 ประเทศเอเชีย ยอดโควิด-19สูงสุด คนไทยไปเที่ยวมาก

3 ประเทศเอเชีย ยอดโควิด-19สูงสุด คนไทยไปเที่ยวมาก

3 ประเทศเอเชีย ยอดโควิดสูงสุด คนไทยไปเที่ยวมาก ในไทย 35 จ. ผู้ป่วยโควิด-19เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 % กำชับกุมารแพทย์เจอเด็กตาแดง ตาแฉะตรวจATKทุกราย สูงวัยรับวัคซ๊นเข็ม 4 แค่ 11 % ย้ำสู้ XBB ต้องถึง 4 เข็ม

     เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ว่า รับทราบข้อมูลฝ่ายการแพทย์ว่าสถานการณ์ยังอยู่ในความควบคุมของระบบสาธารณสุข  การติดเชื้อที่มากขึ้นเป็นไปตามหลักเพราะไม่ได้มีมาตรการข้อห้าม มีการเดินทางและทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น การติดเชื้อเป็นไปตามคาดการณ์ไว้  แต่ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนมากแล้ว ทำให้ความรุนแรงลดลง 

       แม้มีสายพันธุ์XBB แต่ทางการแพทย์บอกว่า ไวรัสกลายพันธุ์เกิดได้ตลอดเวลา เชื้อตัวที่กลายพันธุ์แล้วแข็งแรงก็กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ไม่แข็งแรงก็ถูกทำลายไป แต่วัคซีนที่มีการฉีดเข็มกระตุ้น มีประสิทธิลดความรุนแรงของอาการป่วย และเสียชีวิต  ฉะนั้น กลุ่มเสี่ยง 608 ควรมารับเข็มกระตุ้น และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลยควรมารับวัคซีน ส่วนประชาชนทั่วไปหากเข็มสุดท้ายนานเกิน 6 เดือนแล้ว สธ.เชิญชวนให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น


 สั่งเตรียมรับมือระบาดดูโอ 2 โรค

      “โควิดเป็นโรคตามฤดูกาล ต้องมีการรับวัคซีนทุกปี และมีการพัฒนาสรรคุณให้ป้องกันเชื้อในทุกปี ได้สั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุข จัดตั้งแผนกบริการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งคณะกรรมการวิชาการให้ความเห็นว่าสามารถรับพร้อมกันได้ทั้งวัคซีนโควิด-19และวัคซีนไข้หวัดใหญ่  จะให้บริการฟรีทั้ง 2 ชนิดกับกลุ่มเสี่ยง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คิดแพ็คเกจในการให้บริการคู่เพื่อให้ประชาชนมารับบริการ โดยปีนี้ไม่ต้องตั้งงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19เพิ่มเติม ยังมีเพียงพอในการฉีดเข็มกระตุ้น”นายอนุทินกล่าว 

       ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดคู่ทั้งโควิด-19และไข้หวัดใหญ่ นายอนุทิน กล่าวว่า เตรียมพร้อมให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันทั้ง  2 โรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ให้หน่วยบริการเตรียมความพร้อมในการให้บริการประชาชน ยืนยันว่ามีความพร้อมรับสถานการณ์หากมีการระบาดคู่กันทั้ง 2 โรค โดยมีทั้งวัคซีนและยารักษา ซึ่งในส่วนของยารักษาโควิด-19ที่มีการใช้อยู่ปัจจุบัน ยังไม่มีการดื้อยาแต่อย่างใด ส่วนไข้หวัดใหญ่ก็มียารักษา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าผู้ป่วยโควิด-19ที่อาการน้อยรับยาฟาร์วิพิราเวียร์รักษาโควิด ก็รักษาไข้หวัดใหญ่ไปด้วยถ้ามีการติดเชื้อด้วย 

     ถามถึงการใส่หน้ากากอนามัย นายอนุทิน กล่าวว่า  คนที่สบายดี ประเมินตามความเสี่ยง หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก ก็ใส่หน้ากากอนามัย และประเมินความเสี่ยงของคนที่ใกล้ชิดว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญ คนที่มีอาการป่วยต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกราย

 สถานที่ฉีดวัคซีน

     นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ กรมได้มีการจัดเตรียมวัคซีนให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนดไว้ สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสังกัดของสธ.ใน กทม. ได้แก่ ศูนย์บางรัก โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลสงฆ์ และสถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี

3 ประเทศเอเชีย ยอดโควิด-19สูงสุด คนไทยไปเที่ยวมาก

35 จ.เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 %

    วันเดียวกัน  ในการอบรม “COVID-19 : สายพันธุ์XBB.1.16 สำคัญอย่างไร?” นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19ทั่วโลก สัปดาห์ที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่มีรายงานผู้ป่วยมาก  ได้แก่ เกาหลีใต้ ราว 75,000 ราย เสียชีวิต 48 ราย  อินเดีย ราว 64,000 ราย เสียชีวิต 162 ราย  และญี่ปุ่น 56,000 ราย เสียชีวิต 139 ราย แต่ประเทศที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เยอรมณี อเมริกา และรัสเซีย พบเสียชีวีตหลายร้อยราย 

     สำหรับ ประเทศไทยในช่วง 9-15 เม.ย.2566 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยกับสัปดาห์ก่อนหน้า มี 35 จังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 5 %  อีก  4 จังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 5 % ที่เหลือมีการเปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่า 5 %  โดยสะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มต้นจากเมืองใหญ่ๆ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ2-3 ภาพรวมอยู่ที่ 0.4 % และแนวโน้มผู้ป่วยที่รักษาในรพ.และอาการหนักเพิ่มขึ้น หลังสงกรานต์ ตามที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงขึ้น 2 ช่วงคือหลังสงกรานต์และช่วงหน้าฝน
      “ส่วนโควิด XBB.1.16  ในไทยไทยต้องจับตาดูต่อไป เพราะเพิ่งเจอเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มอาจไม่ได้รุนแรงมาก  หากเทียบสถานการณ์หลังสงกรานต์ของปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ ถ้าประชาชนมีความร็และปฏิบัติตัวที่ถูกฃต้อง ชะลอการระบาดได้ ส่วนช่วงเปิดเทอมราวพ.ค. ต้องประเมินมาตรการในโรงเรียนอีกครั้ง  หากมีการระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม”นพ.โสภณกล่าว  
1 สายพันธุ์น่าสนใจ
       ดร.พิไลลักษณ์ อัคคะไพบูลย์ โอกาดะ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) จัดไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มน่าห่วงกังวล(VOC) ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค ปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ อัลฟา เดลตา เบตา โอมิครอน   กลุ่มน่าสนใจ(VOI) มี 1 สายพันธุ์ XBB.1.5และกลุ่มอยู่ในการติดตาม(VUM) มี 7 สายพันธุ์ BA.2.75, BQ.1, CH.1.1 , XBB ,XBB.1.16 ,XBB.1.9.1 และXBB  ส่วนในประเทศไทยสายพันธุ์ลูกผสม XBB,XBB.1.16 ,XBB.1.9.1 เพิ่มขึ้น แนวโน้มทดแทนสายพันธุ์หลักเดิมคือ BN.1 น่าจะราว 1 เดือนจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ XBB.1.16 อาจแพร่เชื้อในระดับที่มากกว่า XBB.1 และXBB.1.5 หลบภูมิคุ้มกันคล้ายกับ XBB.1 และXBB.1.5 ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น  การตรวจด้วยATK และRT-PCR สามารถตรวจคัดกรองสายพันธุ์ลูกผสมได้ 

ATKเด็กตาแฉะทุกราย

    รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า  เมื่อมีรายงานว่าสายพันธุ์XBB.1.16 ในอินเดียทำให้เด็กมีอาการตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ จึงขอให้กุมารแพทย์ที่มีคนไข้มีอาการตาแดง ตาแฉะให้ทำการตรวจATK ทุกราย เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลในประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อากาศร้อน เด็กอาจมีการไปเล่นน้ำตามสถานที่ต่างๆ  ทำให้น้ำเข้าตาแล้วมีอาการตาแดง ตาแฉะได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส  

 รับมือXBB วัคซีนต้อง 4 เข็ม

     ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ  อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริรราชพยาบาล กล่าวว่า การลงทุนเรื่องวัคซีน 1 บาท ให้ความคุ้มค่ากลับมา 10 เท่า  ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนแล้ว 94 %  เมื่อมีภูมิคุ้มกันเป็นพื้นฐานแล้ว  ก็จะต้องกระตุ้นเป็นระยะในจังหวะที่ภูมิคุ้มกันลดลง
     เพราะฉะนั้นการได้วัคซีนจำเป็นต้องได้ 3-4 เข็ม ทำให้ปกป้องหรือป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ดี  แต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสูงวัย รับเข็ม 3 อยู่ที่  44 % เข็มที่ 4 อยู่ที่ 11 % และยิ่งอายุน้อยลงยิ่งอัตราน้อย  อายุ 12-17ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 25 % เข็ม 4 อยู่ที่ 0.9 % อายุ5-11ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 4 % เข็ม 4 อยู่ที่ 0.1 % และอายุ 6 เดือน-4ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 1 % เข็ม 4 ไม่มี
     “หลังทุกคนมีภูมิคุ้มกันเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะกระตุ้นปีละครั้ง และฉีดก่อนหน้าฝนที่เป็นช่วงระบาดสูง หลังจากนั้นปลายปีต้นปีระบาดลดลง เพราะฉะนั้น กระตุ้นให้มีภูมิสูงสุด แม้ติดเชื้อก็ไม่ได้รุนแรง ซึ่งในสายพันธุ์ XBB จะต้องรับวัคซีนถึง 4 เข็ม”ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว