อาการโควิด XBB.1.16  - ไข้หวัดใหญ่ ปีนี้ระบาดคู่ 2 โรค

อาการโควิด XBB.1.16  - ไข้หวัดใหญ่ ปีนี้ระบาดคู่ 2 โรค

เช็ก 'อาการโควิด XBB.1.16' ปี 66 โควิดระบาดคู่ไข้หวัดใหญ่ มาเร็วตั้งแต่หน้าแล้ง  3 เดือนแรกไข้หวัดใหญ่เจอป่วยเกือบ 4 หมื่นราย ส่วนโควิดสะสมกว่า 5 พันราย  แนะกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีน 2 ตัวพร้อมกัน พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ในปี 2566 มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่คู่กับโควิด-19  โดยทั่วโลก ก็พบการระบาดไข้หวัดใหญ่มากขึ้นแล้ว เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีโควิด-19ทำให้การเดินทางน้อยลง แต่ปีนี้มีการเดินทางมากขึ้น ก็มีโอกาสพบการระบาดมากขึ้น  ซึ่งประเทศไทย เริ่มพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่แล้ว ถือว่าเร็วกว่าปกติที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน

       “คาดว่าการระบาดจะทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากกว่าในปีก่อนที่จะมีโควิด-19 อาจจะพบได้หลายหมื่นราย ดังนั้น สำคัญมากที่กลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเดือน พ.ค. สธ. ก็จะรณรงค์ในเรื่องนี้”นพ.โสภณกล่าว   

ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่งแซงโควิด

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-1 เม.ย.2566  มีรายงานผู้ป่วย 38,291ราย อัตราป่วย 57.87ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดสงขลา อัตราป่วยตาย 0.003 สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A/H1N1

      ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19ที่เข้ารับการรักษาในรพ.สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 เม.ย. 2566 มีรายงาน 5,4823 ราย เสียชีวิตสะสม 273 คน  

     กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่พบในกลุ่มอายุ 0–4 ปี เท่ากับ 282.04 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี 219.73ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 15–24 ปี 40.18 ต่อประชากรแสนคน

      จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อัตราป่วย 209.21 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ แพร่ 205.67 ต่อประชากรแสนคน พัทลุง 191.23ต่อประชากรแสนคนอุบลราชธานี 169.99ต่อประชากรแสนคนเชียงใหม่133.35ต่อประชากรแสนคน ภูเก็ต 125.14 ต่อประชากรแสนคน นครศรีธรรมราช 99.59 ต่อประชากรแสนคน น่าน 98.43 ต่อประชากรแสนคนกรุงเทพมหานคร 97.13ต่อประชากรแสนคน และมุกดาหาร 96.58ต่อประชากรแสนคน

อาการโควิด XBB.1.16  - ไข้หวัดใหญ่ ปีนี้ระบาดคู่ 2 โรค

อาการโควิด XBB.1.16  – ไข้หวัดใหญ่

    พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการโควิด XBB.1.16 เป็นข้อมูลที่ได้จากประเทศอินเดียที่มีการระบาดของ โควิด XBB.1.16 มีการรวบรวมข้อมูล โดยอาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเหมือนอาการของไข้หวัดใหญ่ ที่ประเทศอินเดียบอกว่า ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆที่ผ่านมา

   มีการเปรียบเทียบระหว่างอาการในผู้ใหญ่ และในเด็ก โดยกรณีผู้ใหญ่ที่เป็นโควิด XBB.1.16 มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล  ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ ส่วนในเด็กจะแตกต่างกันตรงที่ในเด็กจะมีไข้สูง และมีตาแดง  เป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ แต่เจอเฉพาะในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่ไม่มีรายงาน

     สำหรับไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรค ระบุว่า มีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

วัคซีนโควิด-วัคซีนไข้หวัดใหญ่

        นพ.โสภณ กล่าวถึงการรับวัคซีนป้องกัน 2 โรคว่า  ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มปรับการให้วัคซีนโควิด-19เป็นแบบประจำปี ประเทศไทยมีผลสำรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ประชากร 94 % มีภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติ และวัคซีน จึงมีคำแนะนำ ให้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และให้ฉีดวัคซีนพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่
       โดยมีวัคซีน Bivalent รุ่นใหม่ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กยังเป็น Monovalent อยู่ ซึ่งกรณีใช้กระตุ้นภูมิสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงกลับมาในระดับป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีอาการป่วยหนักและรุนแรงได้ Bivalent ของเด็กจะจัดหาในระยะต่อไป มี Monovalent จัดหามาปีที่แล้วอีกจำนวนหนึ่ง สามารถให้บริการฉีดได้ตามกลุ่มอายุเป้าหมายที่กำหนดบริษัทวัคซีนขึ้นทะเบียนกับ อย.ตอนนี้มีวัคซีนสำรองทุกชนิดมากกว่า 10 ล้านโดส 

       กรณีประชาชนทั่วไปที่อยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รัฐบาลก็ยังจัดหาให้ฟรี ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดเตรียมไว้ 4 ล้านโดส เพื่อฉีดในกลุ่มเสี่ยงฟรี ส่วนประชาชนทั่วไปรับบริการฉีดได้ในรพ.เอกชนที่มีบริการ  โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง

      ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่ภาครัฐให้บริการโดยไม่เสียคำใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก

      “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2ชนิดให้ผลดี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ วัคซีนแบบชนิด 4 สายพันธุ์มีการพัฒนาให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจุดด้อยในร่างกาย คือ เมื่ออายุมากขึ้นการดอบสนองวัคชีนที่ใช้ทั่วไปต่ำกว่าคนอายุน้อย ดังนั้น ผู้สูงอายุหากต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพครอบคลุม ภายได้การดูแลของแพทย์”ศ.นพ.ธีระพงษ์กล่าว