4 จังหวัดบริโภคโซเดียมกระฉูด เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

4 จังหวัดบริโภคโซเดียมกระฉูด เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

สธ.เผยผลวิจัยบริโภคโซเดียม ในกลุ่มตัวอย่าง 4 จังหวัด พบค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด  เดินหน้าผลักดันการลดบริโภคเกลือโซเดียม เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit)  กล่าวว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Noncommunicable diseases ) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สร้างผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะ

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • และโรคไตเรื้อรัง

นอกจากภาระในการจัดบริการสุขภาพ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากกว่าการรักษาพยาบาลเมื่อป่วยแล้ว

เดินหน้าผลักดันการลดบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรลง 30 % ให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2568 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 รับรองนโยบายและขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลืออย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม 

 

 

ข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับ “ปริมาณการบริโภคโซเดียมของประชากรไทย จากการประเมินปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง โดยการศึกษาแบบภาคตัดขวาง” เพื่อประมาณการค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมต่อวันของกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-69 ปี ใน 4 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และพะเยา รวม 1,440 ราย เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ -20 พฤษภาคม 2564 พบว่า

 

ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียม/วัน รวม 4 จังหวัด เท่ากับ 3,236.8 มก. ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 2,000 มก.

  • จ.พะเยา มีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียม/วันสูงถึง 4,054.8 มก.
  • อำนาจเจริญ 3,773.9 มก.
  • อุบลราชธานี 3,131.3 มก.
  • ศรีสะเกษ 2,906.5 มก.

 

ผลตรวจโซเดียมในปัสสาวะกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

  • จ.พะเยา มีสัดส่วนการบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,000 มก./วัน มากที่สุด
  • รองลงมาคือ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ตามลำดับ

     

โดยมีปัจจัยที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูง คือ ระดับดัชนีมวลกายมาก อายุน้อย ระดับการศึกษามัธยมมากกว่าประถม และระดับรายได้เกินหมื่นบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคและอาหารประจำถิ่น อีกด้วย

 

 

ทั้งนี้ การลดบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้หลายมาตรการร่วมกัน ได้แก่

  • ลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณสูง
  • ให้ความรู้และความตระหนักกับประชาชน
  • จัดการด้านอาหารสุขภาพในชุมชนหรือองค์กรต่างๆ
  • ใช้ฉลากอาหารแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อสร้างการรับรู้และการตัดสินใจเลือกรับประทาน
  • ใช้มาตรการภาษีในกลุ่มอาหารเสี่ยงสูง
  • เฝ้าระวังและติดตามการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน
  • ส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มโพแทสเซียมควบคู่ไปกับการลดการบริโภคโซเดียม เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

การศึกษานี้ ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับประเทศและพื้นที่ ให้มีการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียม เพื่อนำมากำหนดกลวิธีและกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบ ส่งเสริมอาหารลดโซเดียมเพื่อสุขภาพ

และการจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นองค์กรลดการบริโภคโซเดียม  รวมทั้งศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคโซเดียม เพื่อหามาตรการและกลวิธีที่มีประสิทธิภาพเฉพาะปัญหาและพื้นที่นั้นๆ” นพ.รุ่งเรืองกล่าว