'ค่าฝุ่นPM2.5' แดง!ติดต่อ 7 วัน  อาการรุนแรงที่ต้องรีบพบแพทย์

'ค่าฝุ่นPM2.5' แดง!ติดต่อ 7 วัน  อาการรุนแรงที่ต้องรีบพบแพทย์

1-7 มี.ค.นี้ 3 พื้นที่ค่าPM2.5 แดง ! อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ  พบแล้ว 68.3 % ผู้ที่มีอาการจากการสัมผัส ส่วนใหญ่กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ย้ำประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก 

จากการใช้แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ที่ GISTDA พัฒนาขึ้นด้วยการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ PM2.5 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

     ส่วนในภาพรวมของประเทศ จากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีค่า PM2.5 สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมดมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ทั้งยัง พบว่า จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

        ปัจจัยหลักที่ทำให้ ค่าฝุ่นPM2.5 สูงขึ้น มาจากพื้นที่เผาไหม้หรือจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสอดคล้องกับจำนวนที่ตรวจพบจากดาวเทียม ซูโอมิเอ็นพีพี โดยเฉพาะในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พบสถิติสูงสุดถึง 3,768 จุด ประกอบกับสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อนลง จึงส่งผลให้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรง

       นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันสุขภาพของประชาชน เนื่องจากเมื่อรับสัมผัส PM2.5 เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ อาจมีอาการกำเริบและเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักได้

PM2.5อาการที่รุนแรง รีบพบแพทย์

       จากการเฝ้าระวังอาการและพฤติกกรรมในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5  ด้วย “4 Health_PM2.5” ในช่วงวันที่ 21 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า 68.3 % มีผู้ที่มีอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 อาการที่พบมากที่สุด คือ คันตา 23.3 %  รองลงมาคือ แสบตาและแสบจมูก 20 %และคัดจมูก 16.7 %

      ขอแนะนำให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่นและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 โดยหากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือมีค่า 51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

         หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง หรือมีค่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

         ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ เว็บไซต์ “คลินิกมลพิษออนไลน์”
 

          “หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบไปพบแพทย์”นพ.สุวรรณชัยกล่าว  

กลุ่มโรคจากPM2.5ที่พบมากสุด

       นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ

      จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) พบว่า ในเดือนมกราคม 2566 อัตราป่วยทั้งหมด 699.96 รายต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยสูงสุด คือ

  • กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 308.92 รายต่อประชากรแสนคน
  • รองลงมา คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ (147.71)
  • กลุ่มโรคตาอักเสบ (130.58)
  • และโรคหัวใจและหลอดเลือด (102.34) ตามลำดับ

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี อัตราป่วย 108.90 รายต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (77.30) อายุ 40-49 ปี (73.69) อายุ 30-39 ปี (56.91) อายุไม่เกิน 9 ปี (56.85) อายุ 20-29 ปี (55.21) และอายุ 10-19 ปี (40.27) ตามลำดับ

วิธีป้องกันฝุ่น PM2.5

     นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมผัส สูดดมฝุ่น PM2.5 อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือเป็นผื่นคันตามร่างกาย และผู้ที่รับสัมผัสฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีอาการผิดปกติเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป คือ

  • กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
  • กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
  • และ กลุ่มโรคตาอักเสบ

ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชน

1.ปิดบ้านให้มิดชิด โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันฝุ่น 

2.เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน air4thai หากค่าฝุ่นเกิน 50 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่นและใช้เวลาอยู่ภายนอกสั้นๆ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 

3.หากค่าฝุ่นมากกว่า 91mg/m3  ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบและโรคผิวหนังอักเสบ ไม่ควรออกจากบ้านเพราะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น 

4.หากประชาชนมีอาการผิดปกติ ให้รีบกลับเข้าสู่ที่พักที่ปลอดฝุ่น และรีบปรึกษาแพทย์ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422