ปัญหา PM 2.5 ควรว่าใครดี? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปัญหา PM 2.5 ควรว่าใครดี? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ศูนย์แก้ไขมลพิษทางอากาศ ออกประกาศเตือนเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่นในช่วงต้นเดือน มี.ค. ตั้งแต่วันที่ 1-7 มี.ค. บริเวณ กทม.และปริมณฑล กับอีก 17 จังหวัดภาคเหนือ และฝุ่นพิษนี้ถือเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ ซึ่งจริง ๆ เกิดขึ้นนานมากแล้ว

โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือแต่เพิ่งจะมาได้รับความสนใจอย่างมากขึ้นเมื่อไม่มีกี่ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ไขโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย แต่ยังไม่เกิดดอกออกผลให้คนเห็นถึงอากาศที่สดใสขึ้นสักเท่าไหร่

การเผาไร่ ไม่ว่าจะเพื่อการเก็บเกี่ยวหรือการปรับปรุงหน้าดินเพื่อเตรียมฤดูการเพาะปลูกใหม่ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของฝุ่นพิษนอกจากมลพิษจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะทำกันในช่วงเดือน ธ.ค. ถึง เม.ย. และเหตุผลหนึ่งก็คือการเผานั้นถือเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุดทั้งในการเก็บเกี่ยวและการเตรียมหน้าดิน

เพราะการตัดอ้อยสดเป็นงานที่ต้องใช้แรงมาก และค่าแรงก็สูง จึงใช้วิธีการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวแทน ไทยเรานั้นมีไร่อ้อยถึง 12 ล้านไร่ และประมาณการว่า 30-60% ของจำนวนไร่ทั้งหมดนั้นเก็บเกี่ยวโดยการเผา ทั้งที่รัฐกำหนดเพดานการเก็บเกี่ยว “อ้อยไฟไหม้” ให้ไม่เกิน 5% และจะกลายเป็น 0% ในอนาคต

ขณะที่พืชไร่อื่น ๆ นั้น การไถกลบก็ใช้ทั้งแรงงานและเครื่องจักรมาก ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนที่สูง ชาวไร่จึงเลือกที่จะเผาไร่เพื่อเตรียมดินทั้งที่ผิดกฎหมายก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจทำไมพอฤดูหนาวทีไร เราก็จะเจอปัญหาฝุ่นพิษตลอด

ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ทำอะไร เพราะกฏระเบียบนั้นมีแต่ความสามารถในการบังคับใช้นั้นไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล และกลไกตลาดในการกำหนดราคาพืชไร่บางประเภทเป็นสินค้าควบคุม โดยเฉพาะน้ำตาล ทำให้กลไกตลาดเกิดราคาที่บิดเบี้ยวไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ถูกต้องที่เราประหยัดเงินในกระเป๋ามากขึ้นเมื่อซื้อน้ำตาลในไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาทิ มาเลเซียหรือสิงคโปร์ หรือในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่เงินที่เราประหยัดในหลักสิบหลักร้อยบาทนั้นกลับต้องแลกมาซึ่งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ทำให้อากาศสะอาด เช่น ค่าเครื่องกรองอากาศ ค่าหน้ากากอนามัย หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นโรคทางเดินหายใจ ซึ่งก็มีต้นทุนอีกมากมาย

งานวิจัยล่าสุดของ รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ต้นทุนที่แท้จริงที่ไทยต้องสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์อันเนื่องมาจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นสูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท และหากรวมทุกสารมลพิษ (PM10, PM2.5, CO, NOx, NO2) มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท

รายงานการวิจัยนี้สรุปถึง 3 สาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหามลพิษ นั่นคือ

1. งบประมาณในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น้อยมาก คือ 0.33% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งน้อยมากหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ตั้งไว้ 2% หรือสหภาพยุโรป(อียู)ที่ตั้งไว้สูงถึง 4%

2. การใช้กฎหมายเข้าแก้ไขปัญหา คาดโทษแต่กลับไม่มีแรงจูงใจ อาทิ การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยการยกเว้นภาษีเช่นในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งมีข้อบังคับแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเด็ดขาด และ 3 ไม่มีการบูรณาการหน่วยงานในการแก้ไขและให้โทษที่เบ็ดเสร็จ

หากวิเคราะห์ไปตามข้อเสนอของงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว จะพบว่าแท้จริงปัญหา PM 2.5 นั้นแก้ไขได้ ซึ่งผมก็เขียนมาตลอดทุกปีว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ และสามารถแก้ไขได้ที่ต้นต้นด้วย ไม่ใช่เพียงบรรเทาปลายทางด้วยการขอความร่วมมือทำงานที่บ้านหรือฉีดน้ำขึ้นฟ้าในตอนกลางคืน

รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพคงจะไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้แน่ และนี่จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะคัดสรรคนเก่งเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้