"ศิริราช"เปิดตัวนวัตกรรม  รักษาโรคสั่น-วินิจฉัยทรวงอก

"ศิริราช"เปิดตัวนวัตกรรม  รักษาโรคสั่น-วินิจฉัยทรวงอก

เทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทยพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รพ.ศิริราชได้พัฒนาการวินิจฉัยเอกซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์ โดยไม่ต้องผ่าตัด 

       เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2566 ที่ รพ.ศิริราช ในการแถลงข่าว ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำพัฒนาการวินิจฉัยเอกซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์ โดยมีศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน
     ศ.คลินิก พญ.อัญชลี  ชูโรจน์  หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า ภาควิชารังสีวิทยา ได้นำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยพัฒนาในการแปลผลภาพการตรวจทางรังสี เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและถูกต้องในการวินิจฉัย ในด้านการช่วยรักษาโรค โดยเฉพาะโรคทางสมองบางชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็มีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำลายส่วนที่ผิดปกติเฉพาะที่โดยอาศัยการนำทางจากเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ ได้ด้วยความแม่นยำ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 AI วินิจฉัยทรวงอก

    สำหรับ การใช้AI วินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก รศ. นพ.ตรงธรรม ทองดี ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า คณะ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด  ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray มาตั้งแต่ปี 2019 
       ที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองใช้ระบบ AI นำร่องที่ภาพเอกซเรย์ทรวงอก พบว่า ผลภาพสามารถช่วยรังสีแพทย์ในการวินิจฉัยได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น มีประสิทธิผลในการรายงานผลการวินิจฉัยน้อยกว่า 10 วินาที มีเวลาพิจารณาภาพรังสีได้มากขึ้น ไม่ต่ำกว่า 800 รายต่อวัน 

        การรายงานผลภาพเอกซเรย์ก็จะมีความถูกต้องแม่นยำ โดยจะแสดงจุดที่พบความผิดปกติเป็นสี รวมถึง สามารถระบุได้ว่าความผิดปกติน่าจะเป็นอะไร อีกทั้ง ยังรายงานผลการวัดขนาดหัวใจว่าโตหรือไม่โตได้ในทันที มีความถูกต้องมากกว่า 99%
      นอกจากนี้ ยังแสดงผลผ่านระบบออนไลน์ ทำให้สามารถอ่านผลได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยให้การรักษาผูป่วยรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญ รพ.ในต่างจังหวัดที่ไม่ม่รังสีแพทย์ หากมีAIนี้ช่วยให้แพทย์ทั่วไปดูผลจากAIในการตัดสินใจรักษาได้ โดยซอฟต์แวร์นี้พัฒนาขึ้นโดยคนไทยทั้งหมด จึงมีราคาถูกกว่าการนำเข้า ปัจจุบันมีการนำไปใช้แล้วในรพ.81 แห่ง 
\"ศิริราช\"เปิดตัวนวัตกรรม  รักษาโรคสั่น-วินิจฉัยทรวงอก
   

   AI ยังสามารถช่วยบ่งชี้รอยโรคโดยอ้างอิงจากข้อมูลภาพถ่ายรังสีเพียงอย่างเดียวได้ 8 สภาวะ ดังนี้ 

1. เพิ่มและตัดสภาวะให้สอดคล้องกับการทำงานของรังสีแพทย์มากขึ้น
2. พัฒนาและปรับปรุงอัลกอริทึมเพื่อให้มีความแม่นยำและความไวที่สูงขึ้นในรอยโรคที่สำคัญ
3. เพิ่มจำนวนภาพของการสอนโมเดลเพื่อให้โมเดลมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและสามารถครอบคลุมสภาวะที่มากขึ้น

4. พัฒนาระบบมาเพื่อทำให้การทำงานของแพทย์รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การสร้างรายงานผลของแพทย์

5. การวิจัยและตีพิมพ์รายงานเชิงวิชาการที่สอดคล้องกับประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์

6. การเสนอขออนุมัติองค์การอาหารและยาขององค์กรในต่างประเทศเพื่อส่งออกเทคโนโลยีในประเทศเพื่อนบ้าน

7. การพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้โดยยังคงประสิทธิภาพการทำงานของระบบ (generalizability)

8. การพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ

รักษาโรคสั่นด้วย MRgFUS ไม่ต้องผ่าตัด 

     อีกหนึ่งนวัตกรรม คือ การรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) มาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคทางด้าน Essential Tremor โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้ได้อย่างมาก โดยโรงพยาบาลศิริราชจะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยี MRgFUS ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของสมองในการสั่งการเคลื่อนไหวร่างกายได้
       รศ. นพ.ฑิตพงษ์  ส่งแสง สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า เค้นคว้าและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า MRgFUS เพื่อมาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งเครื่อง MRgFUS (Exablate) นี้จะสามารถรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ซึ่งเทคนิคหนึ่งของ Focused Ultrasound ที่นำมาใช้ร่วมกับเครื่อง MRI (MRgFUS) เป็นเทคนิคที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับจากประเทศชั้นนำทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี และอื่นๆ ทำให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องการการรักษาได้อย่างแม่นยำ 
        กลไกของการใช้เทคโนโลยี MRgFUS เป็นการยิงคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวน์ โดยการรวมจุดไปที่โครงสร้างสมองตำแหน่งเดียว เพื่อลดอาการสั่นในผู้ป่วย โดยจากภาพ สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องการยิงคลื่นเสียงไปยังสมองได้อย่างชัดเจน แม่นยำ ในขนาดไม่เกิน 4 – 5 มิลลิเมตร ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้ นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถติดตามระดับของอุณหภูมิในตำแหน่งที่ทำการรักษาได้แบบ real time จากเครื่อง MRI
\"ศิริราช\"เปิดตัวนวัตกรรม  รักษาโรคสั่น-วินิจฉัยทรวงอก
         " ข้อดีของการรักษาวิธีนี้ คือ คนไข้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก ช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้เร็วขึ้น ประมาณ 1 – 2 วัน คนไข้ก็สามารถกลับบ้านได้ ผลการรักษาเห็นได้ชัดเจน อาการสั่นดีขึ้น 70 – 80 % ทำให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ"  รศ. นพ.ฑิตพงษ์กล่าว 
      ขณะที่ รศ. ดร. นพ.ศรัณย์  นันทอารี ภาควิชาศัลยศาตร์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้รักษาผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ปัจจุบันมีคนไข้ที่รักษาโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ จำนวนทั้งสิ้น 6 ราย ซึ่งการรักษาวิธีนี้ยังเป็นทางเลือกที่ใหม่ คาดหวังผลเช่นเดียวกับการผ่าตัดที่การจี้ตำแหน่งถูกต้อง คือ อาการสั่นดีขึ้น 80%ขึ้นไป แต่วิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกและไม่ต้องใส่เครื่องเข้าไปในสมองคนไข้ 
โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ
       พญ.ยุวดี  พิทักษ์ปฐพี  สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวว่า อาการโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุเรียกว่า Essential tremor หรือ ET ผู้ป่วยมักจะมีอาการสั่นที่มือหรือแขนทั้งสองข้าง หรืออาจพบอาการสั่นที่ตำแหน่งอื่นร่วมด้วยได้เช่น ศีรษะ เสียงหรือ ขาทั้งสองข้าง โดยอาการสั่นมักจะเป็นขณะใช้งาน เช่น หยิบจับสิ่งของ ตักอาหาร เขียนหนังสือ ในผู้ป่วยบางรายนั้นหากอาการสั่นรุนแรง อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่างๆ สาเหตุของการเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือส่วนหนึ่งของผู้ป่วย อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม 
        การรักษาหลักของโรคนี้แบ่งออกเป็น คือ การรักษาด้วยยา การผ่าตัดสมองส่วน Thalamus (Thalamotomy) และการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) ส่วนการใช้ เครื่อง MRgFUS เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรค ET ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยารับประทานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการสั่นได้
        การทานยาแล้วยังมีอาการระดับปานกลางหรือรุนแรง หลังการรักษาาจมีอาการข้างเคียง เช่น ชาปลายมือ มุมปาก หรืออาจมีอาการเซ แต่เป็นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้ที่เป็นการยอมรับ คือ สามารถรักษาอาการสั่นมือได้ข้างเดียวซึ่งจะเลือหข้างที่คนไข้ถนัด ขณะที่การผ่าตัดรักษาได้ 2 ข้าง 
          ทั้งนี้ นายฮั่งฮุย แซ่ลี้ และนายวัชระ ศรีวิศร คนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังรักษา อาการสั่นหายทันที ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เขียนหนังสือ และหยิบจับสิ่งของได้โดยไม่สั่น