ฉีดบ่อย! 58 % "ดื้อโบท็อกซ์" กระทบรักษาโรคกล้ามเนื้อ-ระบบประสาทไม่ได้ผล

ฉีดบ่อย! 58 % "ดื้อโบท็อกซ์" กระทบรักษาโรคกล้ามเนื้อ-ระบบประสาทไม่ได้ผล

"ศิริราช" เผย "ฉีดโบท็อกซ์"บ่อย-นาน เกิด "ภาวะดื้อโบท็อกซ์" กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้าน เจอ 58% กระทบรักษาโรคระบบประสาท-กล้ามเนื้อไม่ได้ผล เปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์

     เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565 ในการแถลงข่าว ศิริราชเปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ “สวยปลอดภัย ไม่เสื่ยง ดื้อโบ” ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย การทำหัตถการความงามอย่างการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจ เข้ารับบริการโดยที่อาจยังไม่มีความรู้ครอบคลุม และนำมาสู่ความเสี่ยงเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ ถือเป็นความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีความต้องการใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อการรักษาโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อในอนาคต
       ที่ผ่านมาศิริราชได้รับรู้ถึงอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน หรือดื้อโบท็อกซ์ จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้ โบทูลินัมท็อกซิน ในหัตถการความงามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างได้เข้าถึงความรู้ และการตรวจวินิจฉัยภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึง แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะมีความรู้ความเข้าใจถึงการทำหัตถการความงามอย่างถูกวิธี

  • พบดื้อโบท็อกซ์58%

        ศ. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่าข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน หรือดื้อโบท็อกซ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ คิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ในจำนวนนี้แยกเป็นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ คือ ภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin หรือโครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์ อยู่ที่ 48% และ ดื้อต่อสาร Complexing proteins หรือโครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์ อยู่ที่ 18% และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8%

จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้ผลอยู่ แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin ต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น จึงจะสามารถกลับมาใช้ใหม่แล้วเห็นผล ซึ่งอาจจะใช้เวลา 6 เดือนหรือบางรายนานกว่านั้น

  • สัญญาณเตือนภาวะดื้อโบท็อกซ์

      ภาวะดื้อโบท็อกซ์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่ง แต่ยังไม่ได้เป็นที่จับตาในวงการแพทย์นัก ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซิน กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน เป็นผลจากการที่มีการฉีดปริมาณและฉีดบ่อย โดยสัญญาณที่ต้องสงสัยว่าอาจจะดื้อโบ คือ 1.ฉีดขนาดเท่าเดิม อยู่ได้นาน 3-4 เดือน แต่กลายเป็นอยู่ได้ 2 เดือน และ2.ใช้ยาปริมาณเท่าเดิม แต่ไม่ตึงเท่าเดิม

  •           ทั้งนี้ การดื้อโบท็อกซ์ บางคนดื้อทุกยี่ห้อ แต่บางคนดื้อบางยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับ
  • 1.ภาวะร่างกายของแต่ละคน
  • 2.ผลิตภัณฑ์ที่ฉีด บางยี่ห้อกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาก ก็จะเกิดการดื้อได้มาก ซึ่งจากการนำผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มาศึกษา พบว่า ยี่ห้อจากประเทศโซนเอเชีย ดื้อมากกว่าจากฝั่งอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน
  • 3.เทคนิคการฉีด แม้ฉีดปริมาณน้อยๆแต่ฉีดบ่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและดื้อ
  • ข้อป้องกันดื้อโบท็อกซ์


ในการฉีดโบท็อกซ์ เน้นเรื่องป้องกันการเกิดภาวะดื้อโบ จะต้องพิจารณาจาก 3 ข้อหลัก ได้แก่
1.ฉีดผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากอย. ไม่ปลอมปน หรือมีสารอื่นๆน้อย
2.ฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
3.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง
4.อย่าฉีดบ่อยกว่า 3-4 เดือน จะต้องพักเพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหลังการฉีด 1 ครั้ง ในระยะใกล้ 3 เดือนระดับภูมิคุ้มกันจะค่อยๆลดลง
5.อย่าฉีดต่อครั้งในปริมาณที่มาก เพราะจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมาก

  • กระทบรักษาโรคกล้ามเนื้อ-ประสาท

     "คนที่ดื้อโบท็อกซ์ ในแง่การใช้เพื่อความงาม จะต้องพักการฉีดอาจจะ 6-8เดือน รอให้ภูมิคุ้มกันลดลงก่อน ค่อยมาฉีดใหม่เพราะฉีดตอนที่ดื้อ ก็ไม่ได้ผล แต่ที่เป็นห่วงคือคนที่ฉีดบ่อย ฉีดนานแล้วมีภาวะดื้อโบท็อกซ์ หากป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หรือโรคอื่นๆที่จะต้องใช้โบทูลินัมท็อกซินในการรักษา ก็จะไม่ได้ผลด้วย"ศ.พญ.รังสิมากล่าว
     พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคทางระบบประสาทในหลาย ๆ โรค โดยกลุ่มคนไข้คลินิกฉีดยาโบทูลินัมท็อกซินของสาขาประสาทวิทยาที่มารับการรักษามากที่สุดคือ คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ซึ่งการดื้อโบท็อกซ์ พบได้ในผู้ป่วยที่มารักษาภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจากมีการใช้ยาขนาดสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกที่ใช้ยาขนาดน้อยกว่า ทั้งนี้ โบทูนัมท็อกซิน
จะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา
        "เมื่อเกิดภาวะดิ้อยา โดยเฉพาะที่พบบ่อยในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง”พญ.ยุวดีกล่าว

  • เปิดศูนย์ตรวจภาวะดื้อ

      ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า จากสิ่งที่เจอ นำไปสู่การพัฒนาของทีมวิจัยการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาทางคลินิกเพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาในการตอบโจทย์ท้าทายนี้  อันจะนำไปสู่การเลือกวิธีการรักษาต่อไปให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

        การพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินโดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์นี้ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกและได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด
      คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช” Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE) เพื่อให้เป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ผู้มารับบริการ ทั้งในสังคมไทย และสังคมโลก ซึ่งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินศิริราชนี้ เป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลด้านคลินิกคัดกรองประวัติผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม และอาจเป็น แนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานในวงการแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

        รศ. ดร. นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การคิดหาวิธีทดสอบวัดปริมาณแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเกิดความล้มเหลว รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยประสบภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าเดิม โดยการทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก จนสามารถนำมาให้บริการทางคลินิกในการช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน

       "ศูนย์ฯเป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีดโบทูลินัมท็อกซินของคนไข้ว่าเคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ลักษณะการไม่ตอบสนอง เพื่อหาแนวทางการรักษาของคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษาหรือเลือกโบทูลินัมท็อกซินได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาฉีดได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเข้าตรวจภาวะดื้อโบท็อกซ์ ควรเป็นผู้ที่แพทย์คัดกรองแล้วว่าสงสัยจะดื้อ จึงจะเจาะเลือดส้งมาตรวจที่ศูนย์”  รศ. ดร. นพ.ยุทธนา กล่าว

    ภญ.กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับศิริราช ในการก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการริเริ่ม “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการมารับการทดสอบที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ทางบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย โดยร่วมมือกับพันธมิตรคลินิกความงามมากกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในการสร้างเครือข่ายในการช่วยเก็บข้อมูล และตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบ

          รวมถึงการนำส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินในขั้นตอนถัดไป และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไป