ปี 2613 สุขภาพคนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องต่อสู้กับ "Climate Change"

ปี 2613 สุขภาพคนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องต่อสู้กับ "Climate Change"

Global climate risk index 2021 ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั้งในปัจจุบันและมีผลถึงลูกหลานในอนาคต WHO คาดว่าปี 2613 คนไทยจะได้รับผลกระทบกว่า 2.5 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2613 จะมีประชาชนไทยกว่า 2.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติที่รุนแรงและเกิดบ่อยมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่ทั้งการป่วยและเสียชีวิตจากภัยพิบัติ โรคจากความร้อน โรคติดต่อนำโดยแมลง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เป็นต้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสถานบริการสาธารณสุข และภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น

 

ปี 93 คาดทั่วโลกเสียชีวิต 2.5 แสน/ปี

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 “ดร.อัศมน ลิ่มสกุล” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านส่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาวิชาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถึงข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศในอนาคตจาก จาก WHO พบว่า การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคและเงื่อนไขที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศ จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ปี 2613 สุขภาพคนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องต่อสู้กับ \"Climate Change\"

 

 

  • ในปี พ.ศ.2593 คาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 250,000 รายต่อปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความร้อน ขาดสารอาหาร มาลาเรีย และโรคท้องร่วง)
  • ขณะที่ ในปี พ.ศ. 2573 คาดการณ์ว่าความเสียหายด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประมาณ 2-4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
  • จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง/น้ำท่วมชายฝั่ง จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงปี พ.ศ. 2553 – 2573

 

คาดการณ์ประเทศไทย

  • ขณะที่ประเทศไทยเอง หากย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2559 คนไทยกว่า 50,000 คนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ
  • ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอนควรประมาณ 32,200 ราย จาก PM2.5
  • อีกทั้ง มีการคาดการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพในปัจจุบันและอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น 58 รายต่อ 100,000 ประชากร ในปี พ.ศ. 2623
  • รวมถึง โรคที่มีแมลงและสัตว์เป็นพาหะ คาดว่าในปี พ.ศ. 2613 จะมีผู้คนกว่า 71 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย

 

แผน HNAP รับมือผลกระทบ

 

หากประเทศไทยไม่มีการเตรียมการใดๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่มีการเตรียมพร้อมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการรับมือด้านสาธารณสุขรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2573) หรือ HNAP เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

ปี 2613 สุขภาพคนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องต่อสู้กับ \"Climate Change\"

 

กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการรับมือด้านสาธารณสุขรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2573) หรือ HNAP 

 

“นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์” รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายแผนดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของภาคสาธารณสุขในการรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้และมีทักษะในการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

 

1) H : Health Literacy การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทักษะของประชาชนในการปรับตัวและจัดการตนเองต่อภัยสุขภาพ 

2) N : Networking การบูรณาการศักยภาพ ทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการสาธารณสุขจาก Climate Change อย่างเข้มแข็ง

3) A: Advocacy การเสริมสร้างความพร้อมของประเทศด้านการสาธารณสุข จาก Climate Change รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

4) P:  Public health preparedness การพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือ Climate Change อย่างมีมาตรฐานสากล   

 

“เฝ้าระวัง-สื่อสาร” เตือนภัยด้านสุขภาพ

 

“นัยนา ใช้เทียมวงศ์” ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวถึงการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัย ได้บูรณาการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัย ร่วมกับ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ในการดำเนินงานการพัฒนาวิชาการและวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 65 ระยะเวลา 5 ปี

 

ผ่านแผนการดำเนินงาน 3 ประเด็น คือ 1) การพัฒนาระบบข้อมูล ระบบเฝ้าระวัง และการสื่อสาร 2) การพัฒนาขีดความสามารถและบูรณาการความร่วมมือ และ 3) พัฒนาวิชาการและงานวิจัย โดยตัวอย่างการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงจากความร้อน มีการติดตามสถานการณ์ความร้อน ค่าอุณหภูมิสูงสุดรายวันในฤดูร้อนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีเกณฑ์เฝ้าระวังความร้อนเป็นระดับสีตามอุณหภูมิ

 

อีกทั้ง ประเมินความเสี่ยง เทียบกับเกณฑ์เฝ้าระวังด้านสุขภาพจากความร้อน ดูว่าอุณหภูมิสูงสุดของวันนั้นมีระดับความเสียงต่อสุขภาพอยู่ระดับใด

สุดท้าย คือ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ใช้เครื่องมือแบบสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับ “ผลกระทบต่อสุขภาพและการป้องกันตัวเองจากความร้อน” ติดตามผลการสำรวจอนามัยโพลแบบ Real time-Dashboard

รวมถึงสื่อสารผ่านอินโฟกราฟฟิก สถานการร์ความร้อน คำแนะนำสุขภาพ และการคาดการณ์อุณภูมิสูงสุด 7 วันข้างหน้า ผ่านเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

 

ขณะที่ในเรื่องของ “PM2.5” ร่วมมือกับ “กรมควบคุมมลพิษ” ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ จากเว็บไซต์ Air4Thai , แอปฯ Air BKK / Air4Thai สถานการณ์ PM2.5 รายสถานี คาดการณ์อุณหภูมิจากกรมอุตุนิยมวิทยา การจราจร เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ 4Health_PM2.5 สำหรับเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมจาก PM2.5 เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพจาก PM2.5 โดยมีการสื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือนความถี่ตามระดับความเสี่ยง ผ่าน เฟซบุ๊ก ไลน์ แอปฯ อสม. สื่อสิ่งพิมพ์ ชุดความรู้ อินโกราฟฟิก ทั้งเว็บไซต์กรมอนามัยและสื่อต่างๆ

 

“นัยนา” ทิ้งท้ายถึง ข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพในอนาคต ข้อแรก คือ สร้างการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในอนาคต ถัดมา คือ พัฒนาระบบและกลไกการประเมินและคาดการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพ พัฒนาระบบสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพที่เข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่มเสี่ยง และสุดท้าย สร้างความรอบรู้ให้ประชาชน สามารถรับรู้ ปรับตัว เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติในอนาคต