Climate Change ปมที่ “คนไทยทุกคน”ร่วมแก้

Climate Change  ปมที่ “คนไทยทุกคน”ร่วมแก้

 “Climate Change” ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้  ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนเร่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)

แม้ว่าประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) เมื่อวันที่ 3-18 พ.ย. 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์ ถือเป็น “ช่วงเวลาแห่งจุดเปลี่ยนของโลก” ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

เดินหน้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050

“วราวุธ ศิลปอาชา”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ประกาศความก้าวหน้าในการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นการทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050โดยตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum  388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี

บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ

ผลักดันจัดตั้งกองทุน Loss and Damage

 “ประเด็นสำคัญการประชุม COP27 ที่อยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การส่งเสริมค่าเสียหายและการสูญเสีย (Loss and Damage) ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกใบนี้ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้น หลายประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ไม่พัฒนาจึงตื่นตัวขึ้นมาให้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาแลและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”วราวุธ กล่าว    

ประเทศไทยมีพื้นที่ 1  เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่ความหลากหลายทางชีวภาพมีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไว้ คนไทยทั้งประเทศ 67 ล้านคน มีทั้ง เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขอให้ทุกคนช่วยกัน การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้คนเดียว  

 

ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาClimate Change

ทุกคนต้องเป็นพลเมืองตื่นรู้ ปลุกพลังมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม  และเริ่มที่ตัวเราเอง  ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อทุกคน และโลกใบนี้ ให้บรรเทาจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

"สถานการณ์ Climate Change น้ำท่วม ภัยแล้ง เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปีหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาอะไรบ้าง สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำคือต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ ต้องมีแผนมีการดำเนินการงานที่ชัดเจนจากนี้อีก 1 ปี จะเป็นความท้าทายในการทำงานให้ชาวโลกได้ประจักษ์ "วราวุธ กล่าว

กระทรวงทส.จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และผลักดันให้ทุกภาคส่วนทำไปด้วยกันและนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 1 ปีนี้ไปเสนอต่อเวที COP28 ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะกระทบทุกคน ฉะนั้น “การแก้ปัญหาClimate Change”  จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน เพราะเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ แม้ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะกระทบทุกคน แต่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมของคนอื่น ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จึงต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน