โลกเริ่มใช้“ภาษีพลาสติก” กติกาใหม่ลดปัจจัย Climate Change

โลกเริ่มใช้“ภาษีพลาสติก”  กติกาใหม่ลดปัจจัย Climate Change

พลาสติกก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ ClimateChange แต่พลาสติกก็เป็นสัญลักษณะของความสะดวกสบายมานานแล้ว การจะเอาพลาสติกออกจากชีวิตเป็นเรื่องยาก การใช้มาตรการจูงใจ หรือ มาตรการจงใจให้เลิกใช้ด้วยการเก็บภาษี

 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆกันไป   

ศุภาภัสร์ จองคำ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองนโยบายระบบการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เล่าว่า  ในทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือที่สามารถการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทำให้ต้นทุนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น 

“ผู้ผลิตอาจเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ และผู้บริโภคอาจเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทน และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง ในขณะที่ภาครัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง ภาษีพลาสติกในแต่ละประเทศ  เริ่มที่ สหภาพยุโรป (EU)ได้จัดทำ European Green Deal เป็นแผนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงและภาษีพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งใน Green Deal และเริ่มจัดเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยสมาชิกEUต้องจ่ายภาษีซึ่งคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม(กก.) นอกจากนี้ ยังพบการใช้มาตรการอื่นเพิ่มที่แตกต่างในบางประเทศ อาทิ อิตาลีและสเปนเก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า โลกเริ่มใช้“ภาษีพลาสติก”  กติกาใหม่ลดปัจจัย Climate Change

  สหรัฐ อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ที่จะจัดเก็บภาษีพลาสติกที่ไม่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.2 – 0.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์

       สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีจากพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มาตรการภาษีพลาสติกที่เริ่มใช้ในหลายประเทศแม้จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกมีสัดส่วนเพียง 2.07%  ของมูลค่าการส่งออกรวม  แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่ตลาดต่างๆ จะจัดเก็บภาษีพลาสติก ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพได้ 

รวมถึงการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล ,การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยคำนึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อ และ การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable business)