รักษาที่บ้าน ช่องทางผู้ป่วย VIP สถาบันประสาทวิทยา

รักษาที่บ้าน ช่องทางผู้ป่วย VIP สถาบันประสาทวิทยา

หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต้องการให้สถานพยาบาลในสังกัดดูแลผู้รับบริการแบบ “VIP” การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการจึงสำคัญ อย่างเช่นที่ "สถาบันประสาทวิทยา" กรมการแพทย์

   สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทของรัฐที่มีความเป็นเลิศอันดับต้น ๆ ของประเทศมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านวิชาการและการบริการ ซึ่งได้มีการก้าวสู่มิติใหม่การบริการทางการแพทย์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโรงพยาบาลรัฐ โดยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ประโยชน์การดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วย

        นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า  สถาบันประสาทวิทยาได้พัฒนาทั้งเรื่องคุณภาพการรักษา และการบริการเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการ เช่น SMART OPD Telemedicine การสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศ การผ่าตัดโรคลมชักและโรคสมองอื่น ๆ ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองในผู้ป่วยพาร์กินสัน โรคระบบประสาทการเคลื่อนไหวผิดปกติ และโรคลมชัก การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

       และการเข้าถึงการเบิกจ่ายค่าบริการการรักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดสมองด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือด การจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติสำหรับการรักษาโรคสมอง ไขสันหลัง และโรคระบบประสาทที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้

รักษาที่บ้าน ช่องทางผู้ป่วย VIP สถาบันประสาทวิทยา

    เฉพาะการให้บริการด้วยเทคโนโลยีในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นและเทเลเมดิซีน(Telemedicine) สามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้ ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องมารับยาเป็นประจำ ค่าเดินทางยังแพงกว่าค่ายา

        "ภาพรวมมีการประเมินว่าหากมีผู้ป่วยมารับบริการผู้ป่วยนอกที่รพ.ทั้งประเทศราว 180 ล้านครั้งต่อปี  หากช่วยลดลงได้ 10 % จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ราว 17,000 ล้านบาท หากลด 20 % ก็จะเป็น 3 หมื่นกว่าล้านบาท และอนาคตรพ.สังกัดกรมรวมถึงสธ.จะนำมาใช้ทุกแห่ง” นพ.ธงชัยกล่าว

   SMART OPD, DMS Telemedicine

         สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สถาบันประสาทวิทยานำมาเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการ อาทิ SMART OPD ใช้แอปพลิเคชัน NIT PLUS ในการเข้ารับบริการที่สถาบันฯ สามารถดำเนินการผ่านแอปฯลดการมารพ.แล้วต้องรอคิวนาน โดยคนไข้สามารถเช็กสิทธิ์การรักษาได้  เมื่อมีนัดหมายกดรับบัตรคิวผ่านแอปฯได้ที่บ้าน

         และเป็นบัตรคิวเดียวตลอดทุกขั้นตอนของการรักษาตั้งแต่เวชระเบียน เจาะเลือด การเงินและรับยา  ตรวจสอบลำดับคิว มีการแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลาพบแพทบ์ และสามารถชำระเงินออนไลน์  นอกจากนี้ บันทึกข้อมูลการรักษาจะปรากฎในแอปฯนี้ของคนไข้ ทั้งผลแล็ป ประวัติการรับยา และประวัติการวินิจฉัยโรค เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือรับการรักษาต่อที่เชื่อมโยงข้อมูลกับรพ.ทั่วประเทศผ่านระบบ Health Link

   และ DMS Telemedicine เป็นการพบแพทย์ออนไลน์ในระบบทางไกลและรอรับยาที่บ้านในผู้ป่วยที่อาการคงที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย โดยคนไข้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ก็สามารถที่จะติดต่อแพทย์ได้ เมื่อถึงเวลานัดหมายแพทย์ก็จะวิดีโอคอลไปหาคนไข้ พูดคุย รักษา ส่วนยาก็จะมีการจัดส่งไปให้ทางไปรษณีย์ และคนไข้สามารถพูดคุยพับเภสัชกรเกี่ยวกับยาได้ด้วย

รักษาที่บ้าน ช่องทางผู้ป่วย VIP สถาบันประสาทวิทยา

ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก

       การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีเครื่องมือทันสมัยช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น อย่างเช่น  การใช้กล้องขยายมาช่วยในการผ่าตัด  การใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็กสอดเข้าไปในแผลผ่าตัด  การผ่าตัดกระดูกสันหลังบางอย่างระหว่างทำผ่าตัดจะต้องใช้เครื่องมือ X-ray เพื่อตรวจดูระดับไม่ให้ผิดพลาดและตรวจสอบขณะใส่วัสดุยึดกระดูกให้ได้ตำแหน่งและมุมตามที่ต้องการ  เครื่อง Spine Navigator เพื่อบอกระดับที่ต้องการทำผ่าตัด และช่วยให้เลือกใช้วัสดุต่างๆที่จะมาดยึดจับกระดูกให้ได้ตามขนาดที่เหมาะสมและมีความแม่นยำสูงสุดและลดจำนวนรังสีที่จะได้รับจากผ่าตัด และเครื่องติดตามการทำงานของระบบประสาทระหว่างการผ่าตัด

      โรคที่ควรได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ได้แก่  หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ  กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังพรุนและแตกยุบ กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท กระดูสันหลังส่วนคอเคลื่อนจากอุบัติเหตุ และเนื้องอกที่ไขสันหลัง

DBS รักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน

        การรักษาผู้ป่วยโรคเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า(Deep Brain Stimulation :DBS) เป็นการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากทำงานผิดปกติของระบประสาทและสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสั่น ในผู้ที่ดื้อยา การให้ยาไม่ได้ผล  ก็จะรักษาด้วยDBS  ซึ่งสถาบันประสาทวิทยาได้ทำการผ่าตัดรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้าสำเร็จเป็นแห่งแรกของสธ.ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา โดย หลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยDBS ผู้ป่วยจะยังไม่หายขาด โรคยังดำเนินต่อไปแต่อาการของโรคมักดีขึ้นและความรุนแรงลดลง  

รักษาที่บ้าน ช่องทางผู้ป่วย VIP สถาบันประสาทวิทยา

Thrombectomy รักษาโรคหลอดเลือดสมอง

     สถาบันฯเริ่มให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยสายสวนหลอดเลือดหรือ Mechanical Thrombectomy มาตั้งแต่ปี  2558 ซึ่งเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นในการรักษาผู้ป่ววยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ นอกเหนือจากการรักษาด้วยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มารพ.ทันในระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง

       การรักษาด้วยสายเส้นหลอดเลือดเป็นหัตถการที่เป็นการนำเอาลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองออกผ่านสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสมารถกลับไปเลี้ยงสมองได้  สามารถรักษาผู้ป่วยให้อาการดีขึ้น  ลดความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง ต้องให้การรักษาเพื่อให้เลือดสามารถกลับไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้เร็วที่สุด ยิ่งผู้ป่วยมารพ.เร็ว เริ่มรักษาเร็ว ยิ่งทำให้ผลการรักษาดีขึ้น 
 ลดแออัดรพ.ลงได้ 10 %

          ขณะที่ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า พันธกิจหนึ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทาง สถาบันประสาทวิทยาจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยตามไปด้วย โดยจุดประสงค์สูงสุดคือ การเห็นผู้ป่วยโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทได้รับการดูแลที่ทันสมัย ได้รับความสะดวกสบาย มีสุขภาพดี และมีความสุข

         ทั้งนี้ สถาบันฯมีผู้เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยนอก(OPD)ราว 2 แสนครั้งต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคระบบสมองและระบบประสาท  และผู้ป่วยใน(IPD) ราว 8,000 คนต่อปี เมื่อมีการนำระบบTelemedicineมาให้บริการผู้ป่วย จากการประเมินความพึ่งพอใจของผู้รับบริการ ระดับดีมากถึง 98%

     “ปกติผู้ป่วยนอกของสถาบันฯราว 500-700 รายต่อวัน แต่เมื่อนำระบบเทเลเมดิซีนมาให้บริการ ทำให้ลดผู้ป่วยมารพ.ได้ราว  150-200 รายต่อวันหรือราว 10 % ทำให้รพ.ไม่แออัด ที่สำคัญเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันมารอคิวที่รพ. แต่บริการนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่อาการคงที่เท่านั้น”นพ.ธนินทร์กล่าว