"กลุุ่มที่อันตรายที่สุด" โควิด-19 รอบนี้

"กลุุ่มที่อันตรายที่สุด" โควิด-19 รอบนี้

สธ.เผยข้อมูลผู้เสียชีวิตโควิด-19รอบนี้  และกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วอันตรายที่สุด ระบาด small wave  ถึงมี.ค.ปีหน้า ย้ำต้องได้รับวัคซีนโควิดกระตุ้นถึง เข็ม 4

         นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร  อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า การที่พบผู้เสียชีวิตโควิด-19มีจำนวนมากขึ้นในตอนนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้น จึงมีโอกาสที่กระจายเชื้อไปสู่กลุ่ม 608 กลุ่มโรคร่วมได้มากขึ้น
         ข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และผู้มีโรคร่วมและไม่ฉีดวัคซีน

  • 70 % ในผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม
  • 50 % ไม่ฉีดวัคซีนเลย
  • 20 %ฉีดแค่ 2 เข็ม

         จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนวิถีชีวิตมากขึ้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยก็รักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD ไม่ต้องนอนรพ. สามารถรักษาที่บ้านได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสความเสี่ยงจะไปติดคนอื่นได้

      “ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจึงเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด  ส่วนคนที่ได้รับวัคซีนแล้วซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อสู้กับเชื้อโรค”นพ.ธงชัยกล่าว  

หลังปีใหม่ผู้ป่วยโควิด-19เพิ่มแน่นอน
          สถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทุกระดับขณะนี้มีการใช้ไปประมาณ 35% ยังมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยที่มีอาการได้อีกว่า 60 % แต่หากมีสถานการณ์ความรุนแรงที่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรพ.เพิ่มก็เตรียมความพร้อมของห้องต่างๆ ที่สามารถขยายได้ทันที
        สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ามารักษาแบบOPD ภาพรวมในสถานพยาบาลทั่วประเทศมีมากขึ้นจากเดิมช่วงที่สถานการณ์เบาบางเฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 2,000 คน ขณะนี้เพิ่มเป็นเท่าตัวเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,000 คน หรือประมาณวันละ 700-800 คน 

      “ขอความร่วมมือผู้ป่วยที่รักษาแบบ OPD ให้กักตัวเองอย่างน้อย 5วัน แต่หากจำเป็นต้องออกไปภายนอกพยายามป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น โดยเฉพาะมาตรการป้องกันตนเองทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ”นพ.ธงชัยกล่าว  

    ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอนช่วงปีใหม่แต่จะขึ้นมากหรือน้อยอยู่กับการปฏิบัติตนของทุกคน  แต่ไม่มีการปิดประเทศแน่นอน เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สถานพยาบาลในสังกัดเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย หากได้รับวัคซีนช่วงนี้ก็จะสามารถป้องกันได้ทั้งช่วงปีใหม่นี้และยังมีภูมิต่อเนื่องไปได้ถึงช่วงสงกรานต์ด้วย
ขาขึ้นระบาดsmall wave

        นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เป็นไปตามการคาดการณ์ช่วงขาขึ้นของการระบาดลักษณะ Small wave โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ มีการจัดกิจกรรมคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก แนะนำให้ประชาชนเร่งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

     ข้อมูลการศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์เดิมที่ใช้จริงในประเทศไทย (real world data) ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ International Journal of Infectious Diseases พบว่า

  • วัคซีนจะลดความรุนแรงและการเสียชีวิตลงร้อยละ 89 ในผู้ที่รับวัคซีน 3 เข็ม
  •  และกลุ่มที่ได้ 4 เข็ม ไม่พบภาวะรุนแรงหรือการเสียชีวิตเลย ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อใดก็ตาม

สธ.แนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต

โควิด-19รอบนี้ระบาดถึงมี.ค.ปีหน้า
       ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 เป็นไปตามฤดูกาล ในรอบของปี

  • ระลอกนี้ การระบาดจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา
  • จะขึ้นสูงสุดหลังปีใหม่หรือเดือนมกราคม
  • เริ่มลดลงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
  • จนเหลือน้อยมากในเดือนมีนาคม
  • จะไปขึ้นการระบาดรอบใหม่ของปีในฤดูฝนหรือเดือน มิถุนายน ถึงเดือนกันยายน เป็นไปตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ

      สำหรับวัคซีนในไทย ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์เดิม การกระตุ้นในระดับเซลล์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค สามารถทำได้ดีมาก การลดความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ฉีด มากกว่าชนิดของวัคซีนที่ฉีด

         “ขณะนี้อยู่ในขาขึ้นตามฤดูกาล จึงอยากให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเข้ารับการฉีดให้เร็วที่สุดไม่รอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือรอวัคซีนรุ่นใหม่”ศ.นพ.ยงกล่าว