“กีดกันจีนเปิดประเทศ”ลดโควิด-19จริงหรือ? เมื่อ 3 สิ่งไม่เหมือน 3 ปีก่อน   

“กีดกันจีนเปิดประเทศ”ลดโควิด-19จริงหรือ? เมื่อ 3 สิ่งไม่เหมือน 3 ปีก่อน   

ผ่านมา 3 ปีแล้ว คนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19แล้วกว่า 80 % แต่เกิดการแตกตื่น เมื่อจีนเปิดประเทศ ทั้งที่หัวใจสำคัญหนึ่งของการรับมือ คือ “การฉีดวัคซีนให้ได้ 4 เข็ม” และ 5 ม.ค.นี้ 3 หน่วยงานจะมีการหารือร่วมกันอีกรอบ 

คำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ คือ สถานการณ์โควิด-19 ณ ตอนนี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการออกมาตรการเฉพาะสำหรับ “คนจีนเข้าไทย” ในเมื่อที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อินเดีย ยุโรป หรือกรณีที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้วกลับเข้ามา ไม่ได้มีมาตรการคัดกรองอะไร

 

การออกมาตรการ “คัดกรองเฉพาะคนจีน” จะทำให้โควิด-19 ไม่แพร่ระบาดมากขึ้นในไทยได้จริงหรือ?

ถ้ากำหนดมาตรการให้คนจีนต้องแสดงผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่า นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆที่ไม่ได้กำหนดให้ต้องตรวจจะไม่ติดเชื้อและนำมาแพร่ในไทย หรือจะไม่มีเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศ


มาตรการต่างชาติเข้าไทย

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากทุกประเทศสามารถเดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องแสดงผลตรวจโรคโควิด-19  ไม่ต้องแสดงการฉีดวัคซีนเพียงแต่สถานทูตอาจเรียกในขั้นตอนการขอวีซ่า  และต้องมีประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อมาเจ็บป่วยในประเทศไทยและเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้ว  สถานพยาบาลสามารถเก็บค่ารักษาได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดกรณีชักดาบ

ฉะนั้น หากกำหนดมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว ก็ควรกำหนดมาตรการเหมือนกันทุกประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา “เหยียดเชื้อชาติ” จนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

หรือต้องย้อนไปใช้มาตรการปิดประเทศ จำกัดการเดินทาง เข้มงวดคัดกรองเข้าไทย เหมือนเมื่อ 3 ปีก่อนอีกเช่นนั้นหรือ ทั้งที่ การออกมาตรการเข้มข้น ระดับล็อกดาวน์ตอนปีแรกนั้น เป็นเพราะ “โควิด-19” ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครมีความรู้ใดๆเกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน


3 สิ่งรับมือที่ต่างจาก 3 ปีก่อน

ขณะที่ สถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ แตกต่างกันอย่างมากกับระยะเริ่มต้น อย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่  ได้แก่ 

1.วัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแพลตฟอร์ม แม้จะยังเป็นการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน แต่ทั่วโลกก็มีการฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยมีการฉีดไปแล้วราว 150 ล้านโดส และมีการสำรวจโดยกรมควบคุมโรค คนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วประมาณ 80 % ทั้งจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติและการรับวัคซีน

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวใดในปัจจุบัน สิ่งสำคัญ คือ “การป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต” ส่วนการป้องกันติดเชื้อนั้นไม่ได้มากนัก หากมีการฉีดวัคซีนไปแล้วนานเกิน 3-4 เดือน หากต้องการประสิทธิผลในเรื่องป้องกันติดเชื้อ จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นห่างจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน 

2.ยารักษา  จากที่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ยาอะไรรักษาในช่วงต้นของการระบาด จากนั้นประเทศไทยใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เป็นหลักในการรักษา กระทั่ง แนวทางรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ฉบับล่าสุด ประเทศไทยจะใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นหลักในการให้การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับยากตามการวินิจฉัยของแพทย์

และยานี้ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) สามารถผลิตได้แล้ว ภายใต้ชื่อ “โมโนเวียร์” มีกำลังการผลิต 2.5 ล้านแคปซูล ขยายสูงสุดได้ 5 ล้านแคปซูลต่อเดือน โดยจะผลิตตามความต้องการให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้  กระจายยาให้สถานพยาบาลทั่วประเทศในปลายธ.ค.2565 รวมถึง ประชาชนที่มีใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์ก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาของอภ.

3.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรค  มีความรู้เกี่ยวกับการติดต่อและรู้วิธีการป้องกัน  รู้แนวทางการรักษา และรู้การก่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์  ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น  และปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราป่วยตายไม่ถึง 1 %  ใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ ขณะที่โรคเมอร์ส อัตราป่วยตาย 30 % และโรคซาร์ส อัตราป่วยตาย 10 % ทั้ง 2 โรคเกิดจากไวรัสโคโรนาเช่นกัน 

แม้จะมีความเสี่ยงจากเชื้อที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีกลไกการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ เพื่อดูเรื่องสำคัญ ได้แก่ เชื้อกลายพันธุ์แล้วก่อโรครุนแรงขึ้นหรือไม่ และเชื้อดื้อต่อวัคซีนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่สายพันธุ์โควิดหลัก ยังเป็น “โอมิครอน” แม้จะมีการกล่ายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย แต่ก็ยังเป็นลูกหลานของโอมิครอน  รวมถึง สายพันธุ์ BF.7ในจีนตอนนี้ก็เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย เช่นเดียวกับสายพันธุ์ย่อยอื่นของโอมิครอน ที่เคยทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้นในประเทศอื่นๆ  

 

ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

สิ่งสำคัญ คนไทยต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม รับวัคซีนโควิด-19ตามที่สธ.กำหนด  ยังคงสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ  ไม่เข้าไปในพื้นที่คนแออัดหากไม่จำเป็น 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้ย้ำมาตรการ ได้แก่ 1.การฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม สามารถรับวัคซีนได้ฟรีในสถานพยาบาลของรัฐ และจะเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว  

2.การรักษาได้ทันเวลา โดยผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมาแล้วเกิน 6 เดือน จะพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงก่อนมีอาการป่วย

3.ผู้ที่ไปสถานที่เสี่ยง กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากในช่วง 5 วัน ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับนานเกิน 6 เดือน 4.กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมานานเกิน 6 เดือน ขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกับผู้อื่น หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย

และ 5.สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ

 

ต่างชาติรับวัคซีนไม่ฟรี  

ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า  ไทยเตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับนักท่องเที่ยวด้วยความสมัครใจ แต่จะต้องมีการคิดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ม.ค.2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ,กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม จะมีการหารือมาตรการร่วมกันอีกครั้ง ทั้งการรับมือและการให้วัคซีนต่างชาติ

 

2566 โควิด-19ตามฤดูกาล

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คาดการณ์ว่า ในปี 2566 โควิด-19จะกลายเป็นโรคตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเชื้อน่าจะมีความอ่อนแรงลง

ทั้งนี้  ก่อนที่จะมีโรคโควิด-19 มีโคโรนาไวรัสมาแล้ว 6 ตัว โดย 4 ตัวเป็นโคโรนาไวรัสก่อโรคไข้หวัด  ส่วน 1 ตัวก่อโรคเมอร์ส และอีก 1 ตัวก่อโรคซาร์ส    โดยโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นตัวที่ 7 ตอนนี้อยู่ระหว่างจุดที่แสดงถึงความรุนแรงจะไปฝั่งซ้ายหรือขวา

แต่จากข้อมูลตอนนี้ น่าจะมีความรุนแรงน้อยลง เพราะตัวเชื้ออ่อนลงเรื่อยๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะไปเข้าพวกกับอีก 4 ตัวที่ก่อโรคไข้หวัด และมีการระบาดตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ อัตราป่วยตายราว 1 %

 

ห้ามเชื้อเข้าประเทศไม่ได้

สิ่งที่ต้องยอมรับ  ไม่ว่าประเทศใดจะเปิดประเทศและมไม่ว่าคนชาติไหนเดินทางมาไทย  หรือไทยจะมีมาตรการคัดกรองเข้มอย่างไร “ก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อไม่ว่าจะกลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาได้” เห็นได้ชัดจากการล็อคดาวน์เมื่อ 3 ปีก่อน

แต่ที่ตอนนั้นต้องทำเช่นนั้น ก็เป็นเพราะคนไทยยังไม่มีเกราะป้องกันอะไร จำเป็นต้องชะลอให้เกิดการระบาดช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเตรียมการรองรับได้ทัน “ไม่ได้ทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศ”

ถึงวันนี้ ที่โควิด-19กำลังจะกลายเป็นตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ 

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย คือ การต้องทำให้คนกลุ่มเสี่ยง608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน เข้ารับวัคซีนป้องกันให้ได้อย่างน้อย 4 เข็ม และหากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนให้เข้ารับเข็มกระตุ้น

จะทำให้ไทยเดินหน้าเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลกับสุขภาพมากขึ้น ตราบที่เชื้อยังไม่กลายพันธุ์จนก่อโรครุนแรงขึ้น