ธุรกิจท่องเที่ยว ‘ขานรับ’ จีนเปิดประเทศ

นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ระบุ การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทย ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ไม่ควรตั้งเงื่อนไขใด เพื่อสร้างบรรยากาศการต้อนรับที่ดี

นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ระบุ การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทย ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ไม่ควรตั้งเงื่อนไขใด เพื่อสร้างบรรยากาศการต้อนรับที่ดี ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเอเจนซี่ท่องเที่ยวชาวจีนพบว่ายังรอนโยบายของทางการจีนอนุญาตให้บริษัททัวร์สามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าเป็นเพียงการเปิดให้คนจีนต่อพาสปอร์ต คาดว่านักท่องเที่ยวจะสามารถทยอยเดินทางมาเที่ยวไทยได้ช่วงหลังตรุษจีนปีนี้ 

โดยเชื่อว่ากลุ่มแรกที่จะมาได้คือกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคล่องตัวในการเดินทางสามารถทำเอกสารได้เร็วและเป็นกลุ่มคนที่ติดโควิด-19 มาแล้ว ในช่วงแรกกลุ่มนี้จะยังมีกำลังจับจ่ายในการท่องเที่ยว แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกซึ่งกระทบต่อจีดีพีจีนให้เหลือแค่ 4% อาจทำให้กำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนในระยะยาวลดลงได้ โดยปกติก่อนโควิด-19 ระบาดนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายราว 50,000 บาท ต่อคนต่อทริป 7 วัน 

ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาเพิ่มสล็อตเที่ยวบินเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนในอนาคต ซึ่งจากการพูดคุยกับเอเจนซี่ท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่กล้าจัดทริปเที่ยวบินตรง หรือ ชาเตอร์ไฟลท์มาไทยเพราะยังเสี่ยงและไม่คุ้มทุน

ด้านประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ระบุ เงื่อนไขการกำหนดให้นักท่องเที่ยวจีนต้องตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศไทยเป็นข้อเดียวที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าสร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวจีน ส่วนข้ออื่นเห็นด้วยโดยเฉพาะการทำประกันโควิดซึ่งน่าจะผลักดันให้กำหนดเป็นเกณฑ์ระยะยาวและมีผลต่อนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่เข้ามายังไทยด้วย 

ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการบริหารจัดการภายในท่าอากาศยานต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทาง เช่น การรับสัมภาระและการตรวจเอกสารตรวจคนเข้าเมือง และที่สำคัญคือการอำนวยความสะดวกการตรวจ RT-PCR ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศจีนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งที่ภูเก็ตผู้ประกอบการได้จัดทำเป็น package เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะทางอากาศเท่านั้นแต่ทางรถไฟจีนลาว ผ่านคุนหมิงหนองคาย ก็เป็นอีกช่องทางที่นักท่องเที่ยวนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ มองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทย ไม่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่มาเที่ยวไทยอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ด้านนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย วิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ ระบุ มัคคุเทศก์ภาษาจีนที่เป็นคนไทยแท้และลงทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งมีอยู่ราว 5,000 คน มีความพร้อมที่จะกลับมาเข้าทำงานหากนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนคลายก็มีนักท่องเที่ยวชาวจีน กลุ่มไต้หวัน สิงคโปร์ แบบเดินทางด้วยตัวเองหรือเป็นกลุ่มเล็ก มาท่องเที่ยวประเทศไทยบ้างแล้ว 

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาทัวร์จีนศูนย์เหรียญในช่วงแรกคงจะยังไม่มีและถือว่าเป็นโอกาสให้มัคคุเทศก์ภาษาจีนซึ่งเป็นไทยแท้ ได้ประโยชน์จากการทำอาชีพโดยตรง ส่วนการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะจีนเองก็มีข้อกำหนดของตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ต้องสมดุลไม่ให้กระทบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย

 

'ชำนาญ ศรีสวัสดิ์' นั่งประธาน สทท.ต่ออีกสมัย

สำหรับการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. คนใหม่วานนี้ (3 ม.ค.) ผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ชำนาญ​ ศรีสวัสดิ์ หรือ โกจง ได้นั่งตำแหน่งประธานต่ออีกสมัย ประจำปี 2566-2568 โดยได้รับคะแนน​เลือกตั้ง​เป็น​เอกฉันท์​ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ 'ชำนาญ ศรีสวัสดิ์' อดีตประธาน สทท.เสนอตัวลงแข่งขันต่ออีกสมัย และคู่ท้าชิงรายใหม่ 'ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม' ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์'

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ระบุ การเลือกตั้งในครั้งนี้ใช้แคมเปญหาเสียงว่า 'โกจง ตัวจริงท่องเที่ยวไทย' เพราะตนไม่เพียงแต่อยู่ในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมาตลอดชีวิตเท่านั้น แต่ยังทำงานในสมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ต่อเนื่องก่อนมานั่งเก้าอี้ประสานสทท.เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจลงชิงตำแหน่งนี้ต่ออีกสมัย ต้องการขับเคลื่อนการทำงานให้มีความต่อเนื่องและจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงการเดินสายพบผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทำให้รู้ว่า สทท.ต้องมีกลยุทธ์อย่างไรในการขับเคลื่อน เพื่อฟื้นทางรอดท่องเที่ยวไทย
  
ซึ่งหัวใจหลักของการท่องเที่ยวหลังโควิด คือ พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย ต้องพลิกฟื้นซัพพลายไซด์ ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นการท่องเที่ยวไม่มีวันฟื้น ซึ่งการทำงานของ สทท.ไม่ได้มองแค่บริษัทใหญ่ แต่มองในภาพรวมด้านการท่องเที่ยวที่ต้องผลักดันให้รายเล็กอยู่รอดได้ นโยบายจึงเน้น 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เติมทุน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าแหล่งเงินจากสถาบันการเงินและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ การผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่จะผลักดันต่อ 2.เติมความรู้ เน้นเรื่องการรีสกิล-อัพสกิล เพราะคนการทำงานหลังโควิดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

3.เติมลูกค้าซึ่งวันนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวกลับมาแค่ 10 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งเป็นซัพพลายไซด์ในธุรกิจท่องเที่ยว กว่า 75% ยังย่ำแย่อยู่ จึงต้องผลักดันการเพิ่มขึ้นของตลาดต่างชาติและการเดินทางเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง และ 4.เติมนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีมาสร้างโอกาสในการขายให้แก่ผู้ประกอบการ
 
ขณะเดียวกันยังมองเรื่องการพัฒนาท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ คนตัวเล็กตัวใหญ่ต้องได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ซึ่งจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการ Re-design สินค้าที่ตอบโจทย์ยุคอนาคต เช่น บางพื้นที่อาจไม่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง การสร้างแหล่งท่องเที่ยว Man-Made จึงต้องมี

สุดท้ายมองว่าต้องสร้างให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง และสร้างจีดีพีให้ประเทศได้ถึง 20% หากมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาหรือการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวเป็นกลไกที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมากกว่าที่เป็นอยู่