บอร์ดน้ำเมา ไม่ขยายเวลาเมาถึงตี 2 ช่วงปีใหม่ 2566

บอร์ดน้ำเมา ไม่ขยายเวลาเมาถึงตี 2 ช่วงปีใหม่ 2566

คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เห็นชอบแนวทางคุม “น้ำเมา” ช่วงปีใหม่ 66 ไม่ขยายเวลาขายเหล้า ถึง 02.00 น. และไม่เห็นชอบการกำหนดพื้นที่พิเศษขายตั้งแต่ 11.00-04.00 น. ห่วงเพิ่มการบริโภคหวั่นเกิดอันตรายและอาชญากรรมมากขึ้น 

คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วย  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 กำหนดแนวคิดการรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ภายใต้คำขวัญรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ตามที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ผ่าอาณาจักรแสนล้าน 2 เจ้าสัววงการ “น้ำเมา” เอฟเฟกต์คว่ำ กม.สุราก้าวหน้า

สธ. คุม “น้ำเมา” เทศกาลปีใหม่ 66 ยันไม่ควรขยายเปิด "ผับบาร์" ถึงตี 4

กฎกระทรวงคลายล็อค “ตลาดสุรา-เบียร์” สกัดเกมทลาย “ทุนใหญ่” ธุรกิจน้ำเมา

แบกต้นทุนไม่ไหวอีกราย บุญรอดฯ แจ้งขึ้นราคา “เบียร์ลีโอ”

 

มาตรการ 3 ช่วง ย้ำไม่ขยายเวลาดื่มถึงตี 2 

โดย แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ 

1.ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่ รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า หรือสวดมนต์ข้ามปี สร้างกระแสให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม ขายในเวลาที่กำหนด 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.

2.ช่วงเทศกาลปีใหม่ ใช้มาตรการชุมชนเชิงบวก เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจทุกราย หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในผู้กระทำผิด

3.ช่วงหลังปีใหม่ เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยจะแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมพร้อมต่อไป 

 

ขยายระยะเวลาขายสู่การบริโภคเพิ่มขึ้น เสี่ยงอาชญากรรม

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) โดยมอบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลดการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชน ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ควบคุมจำนวนผู้บริโภค ลดความเสี่ยงจากการบริโภค และลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึง 02.00 น. ยกเลิกเวลาห้ามขาย 14.00-17.00 น. และการพิจารณากำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ให้ขายได้ตั้งแต่ 11.00-04.00 น.นั้น

คณะกรรมการเห็นตรงกันว่าประเทศไทยมีการกำหนดเวลาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน และการควบคุมการขายก็เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงโดยง่าย ซึ่งเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ 

 “การศึกษาจำนวนมากพบว่า การขยายระยะเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอันตรายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มของอาชญากรรมความรุนแรงในพื้นที่ จึงเห็นควรคงมาตรการดังกล่าวไว้ตามเดิม ซึ่งประกาศดังกล่าวยกเว้นการขายภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติอยู่แล้ว จึงไม่ต้องแก้ไขประกาศ ส่วนที่กล่าวอ้างว่ามาตรการห้ามขายบริเวณสถานศึกษาตามคำสั่ง คสช.ไม่มีประสิทธิภาพควบคุมการดื่ม ไม่เป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรการนี้” ดร.สาธิตกล่าว 

 ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีพบว่ามีอุบัติเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สถิติอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 2565 

สรุปสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 333 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,672 คน พบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานพาหนะเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 29.51

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 (7 วันอันตราย) เป็นคดี “เมาแล้วขับ” สูงถึง 1.5 หมื่นคน 

 ทั้งนี้ ในการประชุม นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ สังคมปลอดภัย ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อลดปัญหาและผลกระทบทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ สร้างค่านิยมที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคม คือ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรทางบกและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดงานเลี้ยงปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอความร่วมมืองดการขับขี่รถ ทุกครั้งหลังการดื่ม ตรวจสุขภาพประจำปีและคัดกรองพฤติกรรมการดื่มอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี กำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมให้มีการติดตั้ง Alcohol interlock บนรถขนส่งสินค้า เพื่อเป็นการประเมินผู้ขับขี่ก่อนการเดินทาง