“ทันตแพทย์” ทรานฟอร์ม ยกระดับข้อมูล สกัดหมอปลอม

“ทันตแพทย์” ทรานฟอร์ม ยกระดับข้อมูล สกัดหมอปลอม

ทันตแพทยสภา จับมือ บริษัท INET พัฒนาระบบ ID ทันตแพทย์ อัพเดทขอมูลทันตแพทย์เรียลไทม์ สร้างความมั่นใจในการรักษาทันตกรรมของประชาชน ป้องกันทันตแพทย์ปลอม ต่อยอดเป็น Digital transformation และเตรียมเชื่อมโยงข้อมูล 10 ประเทศอาเซียน ยกระดับวงการแพทย์ไทย

ในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ฐานข้อมูลของทันตแพทย์ มีทั้งอัพเดทและไม่อัพเดท ช่องว่างเหล่านี้อาจเป็นโอกาสให้คนบางกลุ่มอ้างตัวว่าเป็นทันตแพทย์ ตรวจสอบไม่ได้ แม้จะสามารถตรวจสอบได้ในช่องทางของเว็บไซต์ทันตแพทยสภา แต่ก็มีเรื่องของใบอนุญาตที่ไม่แอคทีฟ ดังนั้น การมีข้อมูลที่อัพเดท ถูกต้อง และเป็นฐานเดียวกันในแต่ละองค์กรวิชาชีพ ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า ตนเองได้รับการรักษาจากแพทย์จริง

 

ขณะเดียวกัน หากประชาชนต้องการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางหรือเฉพาะด้าน การมีข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่ดูแล ก็สามารถทำให้ประชาชนสามารถทราบได้ว่าได้รับการรักษาจากเป็นแพทย์เฉพาะทางจริงเช่นกัน

 

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ทันตแพทยสภา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ บริษัท อินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET "โครงการพัฒนา ID ของทันตแพทย์ Platform TDC connect ฐานข้อมูลกลาง และ Digital Transformation" เพื่อพัฒนาระบบยืนยันตัวตน เชื่อมโยงข้อมูล เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนวิชาชีพ และสังคม ให้ประชาชนมั่นใจว่าได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ตัวจริง พร้อมต่อยอดเป็น Digital Transformation ในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

“ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง” นายกทันตแพทยสภา เผยว่า ทันตแทพย์ปลอมปัจจุบัน แม้จะพบน้อยลงเนื่องจากการเปิดคลินิกต้องลงทุนสูง การเปิดสถานพยาบาลต้องมีขั้นตอนต่างๆ ที่ทางกฎหมายค่อนข้างรัดกุม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นได้ คือ ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการตรวจสอบข้อมูลมากนัก บางคนอาจจะเคยเป็นผู้ช่วย ทันตแพทย์ มีการนำเอกสารของแพทย์มาตัดแปะข้อมูลของตนเอง และเปลี่ยนชื่อในเอกสาร หากเป็นปัจจุบัน จะมีการตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพเหล่านั้นจากทางทันตแพทยสภาก่อนที่จะรับแพทย์เข้ามาทำงาน โอกาสเกิดปัญหาจึงน้อยลง

 

5 ด้านความร่วมมือ

 

สำหรับความร่วมมือ "โครงการพัฒนา ID ของทันตแพทย์ Platform TDC connect ฐานข้อมูลกลาง และ Digital Transformation" ในครั้งนี้ มีด้วยกัน 5 ด้าน ได้แก่

 

1. การร่วมพัฒนาระบบ Digital ID

ยืนยันตัวตนตั้งแต่ต้นทางการเป็นนักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งเป็นทันตแพทย์ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมา มีข่าวออกมาเป็นระยะว่ามีทันตแพทย์ตัวปลอมให้การรักษากับประชาชนแล้วเกิดผลเสียหาย เริ่มเปิดให้ทันตแพทย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้มีทันตแพทย์ลงทะเบียนแล้วประมาณ 500 คน จากสมาชิกทันตแพทยสภา ที่มีอยู่ราว 20,000 คนทั่วประเทศ

 

“การยืนยันตัวตนระบบ Digital ID ของทันตแพทย์ จะทำให้ประชาชนมั่นใจในการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมว่าจะได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ตัวจริงที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ”

 

2. การร่วมมือกันพัฒนา Platform TDC connect

เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างสมาชิกราว 20,000 คน กับทันตแพทยสภา ในการทำธุรกรรม การติดต่อสื่อสาร เช่น การสมัครสมาชิก ชุดสิทธิประโยชน์ การขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม การต่ออายุใบอนุญาต การแจ้งข่าวสาร เป็นต้น

 

 

3. ร่วมกันพัฒนา ฐานข้อมูลของทันตแพทสภา

ให้มีความถูกต้อง ครอบคลุม แม่นยำ เชื่อถือได้ เชื่อมโยงกับทุกองค์กรวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทยสภา หรือราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีความซับซ้อนและยังไม่เชื่อมโยง อีกทั้ง มีระบบการรักษาที่ปลอดภัย มีการแบ่งชั้นความลับ และการเข้าถึงข้อมูล การสำรอง และกู้คืนข้อมูล เพื่อนำไปสู่ระบบการบริหารงานของทันตแพทยสภา การพัฒนาและวางแผนกำลังคนด้านทันตสุขภาพ ระบบสุขภาพช่องปาก ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

 

4. ร่วมพัฒนา Platform Job matching

เพื่อจับคู่ระหว่างทันตแพทย์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยทันตแพทย์ อื่นๆ กับคลินิกทันตกรรม สถานพยายาลต่างๆ ที่ต้องการรับเข้าทำงาน หรือค้นหาทันตแพทย์ รวมถึงในอนาคตจะมีการเปิดในส่วนของ ประชาชนในการค้นหาแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน ทำให้การเข้าถึงบริการเฉพาะทางปลอดภัยมากขึ้น

 

5.ร่วมพัฒนา Digital transformation

เปลี่ยนทันตแพทยสภาให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้นสำหรับสมาชิก เพื่อให้ระบบงานของทันตแพทย์สภามีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด เพิ่มประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกในการติดต่องานกับทันตแพทสภา

 

เชื่อมข้อมูล 10 ประเทศอาเซียน

 

“ผศ.ทพ.ดร.สุชิต” กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการพัฒนาฐานข้อมูล เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็น Digital Transformation รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยในการสืบคน ID ของทันตแพทย์ตัวจริง รวมถึงเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ทันตแพทย์และประชาชน

 

การพัฒนาทุกอย่างต้องการฐานข้อมูลที่ดี แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน จะทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง แต่ขณะนี้ข้อมูลค่อนข้างล้าหลัง กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ เพราะฉะนั้น การที่นำ Digital ID มาช่วยจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและอัพเดท พอได้ข้อมูลมาแล้วก็สามารถพัฒนางานอื่นต่อไปได้

 

"งานหลักแรก คือ การเชื่อมโยงทันตแพทยสภา กับ ทันตแพทย์ จากนั้นจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างทันตแพทยสภา ทันตแพทย์ และไปสู่ประชาชน"

 

ในเชิงประชาชนเองก็อาจจะอยากรู้ว่าหมอฟันที่ไปทำเป็นหมอจริงหรือไม่ เพราะในอดีต มีหมอฟันปลอมเยอะ ซึ่งความเสี่ยงสูง ขณะที่ยุคสมัยใหม่ หมอฟันต้องมีใบประกอบวิชาชีพ และต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพ ถึงจะปฏิบัติในผู้ป่วยได้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

 

"ตอนนี้มีความตกลงร่วมกันระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน ว่าจะมีสมรรถนะทางวิชาชีพที่เหมือนกันมากที่สุด หากในอานคตมีการข้ามแดน จะได้ไว้ใจซึ่งกันและกันว่าทันตแพทย์แต่ละประเทศสามารถรักษาได้มาตรฐานเดียวกัน แต่ปัจจุบันต้องยกระดับในประเทศก่อน ทันตแพทย์ของไทยต้องมีมาตรฐานระดับหนึ่งก่อน และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถใช้แพลตฟอร์มให้ความรู้กับทั้งทันตแพทย์ และ ประชาชน เริ่มจากฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และพัฒนาต่อไป"

 

สำหรับการเข้าถึงข้อมูล สามารถเข้าถึงได้ผ่านทั้งทางเว็บไซต์ ทันตแพทยสภา ขณะนี้สามารถสืบค้นได้บางส่วน และมีการตกลงกันใน 10 ประเทศอาเซียนว่าในเว็บไซต์จะต้องมีอะไรบ้าง และเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ข้อมูลในฟอร์แมตเดียวกัน สร้างฐานข้อมูลเพื่อให้สืบค้นได้ง่าย และในอนาคตจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่อไป

 

ค้นหาทันตแพทย์ใกล้บ้าน

 

“ทันตแพทย์สมยศ นะลำเลียง” เลขาธิการทันตแพทยสภา เผยว่า TDC connect จะทำใน 2 เวอร์ชั่น คือ ระยะแรก สำหรับสมาชิกทันตแพทยสภา และ ระยะต่อไป คือ สำหรับประชาชน ซึ่งคนไข้สามารถค้นหาทันตแพทย์ หรือทันตแพทย์เชี่ยวชาญใกล้บ้านได้ ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อมั่นใจได้ว่าคนเหล่านี้ถูกรับรองด้วยทัตแพทยสภา จะเป็นประโยชน์ให้การบริการประชาชนดีขึ้นในอนาคต

 

สำหรับในเว็บไซต์ของ ทันตแพทยสภา จะมีไอคอนสำหรับประชาชน สามารถกดเข้าไปและมีหัวข้อให้เลือกว่าต้องการข้อมูลอะไร เช่น ตรวจสอบข้อมูลทันตแพทย์ สามารถกรอกชื่อข้อมูลของทันตแพทย์ และประชาชนผู้ขอข้อมูล อาจจะต้องกรอกข้อมูลเบื้องต้นบางส่วน และระบุว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับแพทย์ท่านนี้อย่างไร เพื่อเป็นไปตามกฎหมาย PDPA

 

ดิจิทัล ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

 

ด้าน “มรกต กุลธรรมโยธิน” กรรมการผู้จัดการบริษัท INET กล่าวว่า บทบาทของ INET ในความร่วมมือครั้งนี้ คือ การสนับสนุนด้านไอที ทั้งการจัดเตรียม Cloud Computing , Security service , Managed service และ IT tooling ที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ และเตรียมจุดเชื่อมต่อ (Gateway) สำหรับการเชื่อมต่อจากระบบภายนอก

 

การนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น เป็นรูปธรรม ต่อไป Pain point ของการเช็กข้อมูลทันตแพทย์ปลอม ก็จะสามารถรวดเร็วและทำได้ทันที ขณะเดียวกัน นอกจากการเช็กได้ว่าแพทย์ปลอมหรือไม่ ทันตแพย์จะมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองไว้สำหรับรับรอง จะเป็นประโยชน์ทั้งการนำไปใช้ในสถานที่ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การให้บริการ และติดต่อกับแพทย์ คนไข้ สถานพยาบาล สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัย พัฒนาระบบโดยคนไทย

 

“การร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อมีการใช้ Digital ID และการ Digital Transformation ในส่วนต่างๆ ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่งานธุรการต่างๆ ได้”