“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

ปัญหา “ท้องไม่พร้อม” ที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผน ไม่สามารถแบกภาระได้ อาจด้วยเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจการเลี้ยงดู จึงจำเป็นต้อง “ยุติการตั้งครรภ์” แต่เพราะกรอบเรื่องเพศเชิงศีลธรรมจึงกลับถูกมองว่า “ผิด” แท้จริงแล้วควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงรอบด้านด้วยเพื่อแก้ปัญหานี้

แม้การเข้าถึงการ ยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) แต่ในทัศนะโดยรวมของสังคมอาจไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งปัญหานี้ได้เปิดช่องว่าง ผลักไสให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น จากภัยยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต การได้รับยาปลอม หรือขนาดยาไม่ตรงกับอายุครรภ์ ผลก็คืออาจตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจเสียชีวิตได้

ว่าด้วยกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ไทย

รู้หรือไม่? ว่าประเทศไทยได้แก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการ ยุติการตั้งครรภ์ ได้โดยไม่มีความผิด มาแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ ซึ่งอาจทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประสบปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ 

“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

ข่าวดีล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการ ยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 30 วัน

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลโครงการ “การติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถี (New  Normal) ในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่” ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ยังพบว่า ณ เดือน ส.ค. 2565 ไทยมีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพียงจำนวน 110 แห่ง ส่วนใหญ่ให้บริการในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พบว่า ช่วง 12 เดือน (ก.ย. 2564 – ส.ค. 2565) มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 30,766 คน ในจำนวนนี้มี 180 คน ที่แจ้งว่า ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ และไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม 
“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

สาวลึก “แบบไหนคือท้องไม่พร้อม”

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าบรรยายเรื่อง “เมื่อโลกเถียงกันเรื่องแท้ง: ทําอย่างไรให้รอดตายแบบไม่ขาดวิ่น” ว่าการ ยุติการตั้งครรภ์ ถูกมองเป็นทางเลือกในการจัดการสถานการณ์ชีวิตของคน จากปัญหา “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งหากมองปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็คือมุมมองเรื่องเพศในสังคม ว่าสิ่งที่ถูกต้องในสังคม คือการมีเพศสัมพันธ์เพื่อเจริญพันธุ์ในสถาบันการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น

สังคมมองเรื่องการมีเซ็กส์อยู่ในกรอบที่แคบมาก เพราะฉะนั้น การท้องที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการแต่งงานมีแนวโน้มถูกมองว่า ผิด หรือหากมีกรณีที่ตั้งครรภ์แล้วไม่สามารถที่จะแบกภาระได้ อาจด้วยเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจการเลี้ยงดู หากพ่อแม่คิดจะยุติการตั้งครรภ์ก็ถูกมองว่าผิด เพราะกรอบกติกาเรื่องเพศในสังคมต่างๆ ยังยกภาระความรับผิดชอบให้พ่อแม่ของเด็กที่เกิดมา

เมื่อการตั้งครรภ์นอกสมรสถูกมองเป็นสิ่งผิด และเป็นที่มาของ “ท้องไม่พร้อม” การทำแท้งจึงถูกมองเป็นการกระทำที่เลว เพราะถูกเปรียบเสมือนการทำลายชีวิต ในเชิงศีลธรรม แต่อีกมิติที่คนอาจลืมคือการตั้งครรภ์ที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพของตัวผู้หญิงหรือตัวอ่อนได้เหมือนกัน

ทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ ยังมีนัยเชื่อมโยงในทางศีลธรรมสูง สำหรับคนที่มองจากกรอบ ศีลธรรม การเลือกทำแท้งเป็นการกระทำที่เลวเพราะเป็นการทำลายชีวิต สิ่งที่เราได้เห็นมาอย่างยาวนานมาก คือรัฐสมัยใหม่มีนโยบายในการจัดการกับเรื่องการทำแท้งหลายแนวทาง แต่ในบางประเทศ นอกจากจะรับรองสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ในฐานะสิทธิพลเมืองแล้ว ยังมีมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมความสามารถในการเลือกของพลเมืองด้วย เช่น การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเลือกยุติการตั้งครรภ์ที่มีความปลอดภัย

องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานในปลายปี 2564 ว่า 6 ใน 10 ของผู้ที่มีการท้องไม่พร้อม จะมีการยุติการตั้งครรภ์ และมี 45% ที่มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดย 97% เกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา สะท้อนให้เห็นว่า 1. ผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ไม่สามารถเข้าถึงการตั้งครรภ์ปลอดภัย 2. ในเวลาที่เหมาะสม 3.ในราคาที่จับต้องได้ 4.ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาในเชิงสุขภาวะสำคัญของโลก ขณะเดียวกันยังเป็นสิทธิมนุษยชนของโลก

การที่คนเข้าไม่ถึงการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัยได้ดังกล่าว ถือเป็นปัญหาเชิงสุขภาวะเรื่องใหญ่ของโลกและยังเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของโลก แต่สังคมไม่ได้มองแบบ WHO เพราะแต่ละคนอาจมองจากคนละมุม ทั้งมุมศีลธรรม มุมของสิทธิเสรีภาพในการเลือก และมุมมองในด้านสุขภาพ ซึ่งสามมุมมองที่ว่าเป็นทั้งแนวร่วมและเป็นศัตรู (อุปสรรค) กันและกัน

“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

Safe Abortion 

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยสถานพยาบาลให้บริการด้านการ ยุติการตั้งครรภ์ ที่แอคทีฟเพียง 38 จังหวัด หรือ 49% มี 66% ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ แต่มีเพียง 7 แห่ง ที่ให้บริการแก่สตรีที่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยแม้จะมีแพทย์เต็มใจให้บริการมากขึ้นหลังการแก้ไขกฎหมายแล้ว แต่ยังมีปัญหาและสถานการณ์เข้าไม่ถึงบริการ และแม้จะมีการแก้กฎหมายแล้ว เป็น 20 สัปดาห์ ก็ยังมีการปฏิเสธไม่ให้บริการ ไม่ส่งต่อบางราย ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ แม้การตั้งครรภ์จะส่งผลให้แม่จะมีอันตรายต่อสุขภาพ หรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ด้วยข้อบ่งชี้ว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต ก็ไม่ส่งต่อ  ซึ่งที่ผ่านมาสายด่วน 1663 ได้รับข้อมูลว่ามีประมาณ 180 สถานบริการที่ไม่ยอมส่งต่อ 

ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดปัญหานี้เกิดจากเราขาดระบบการกำกับควบคุมมาตรฐานเรื่องการส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์

รศ.ดร.กฤตยา สะท้อนอีกหนึ่งแง่มุมปัญหาว่า เกิดจากมีระบบศีลธรรมความเชื่อว่าพ่อแม่ต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นภาระที่เป็น “ปัจเจกบุคคล” 

แม้แต่รัฐบาลก็มองว่า ทำไมต้องมาจัดสรรงบประมาณให้กับพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งในคนที่เขามีฐานะทางเศรษฐกิจ เขาก็ไม่ต้องพึ่งพา แต่เรากำลังพูดถึงคนจน ในเรื่องสิทธิ์และสวัสดิการที่ทุกคนควรได้รับถ้วนหน้า อีกข้อเสนอแนะคืออยากให้ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจเรื่องนี้กับภาคสังคม คนทั่วไป และสถานบริการด้านสุขภาพ เพราะจากการเดินทางเก็บข้อมูลเรื่องนี้ยังพบว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายรายที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้หรือกฎหมายเลย รวมถึงการปรับทัศนคติของบุคลากรและผู้ให้บริการและผู้เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการสร้างกลไกและพัฒนากลไกที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ที่ประสงค์ตั้งครรภ์ต่อในด้านโอกาสและสวัสดิการ เพื่อทำให้การเกิดทุกครั้งของบ้านเราเป็นการเกิดที่มีคุณภาพ

เข้าถึงยุติสิทธิ์การตั้งครรภ์ปลอดภัยทั่วไทย

ศ.พญ. อรวี ฉินทกํานันท์ เครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย หรือ RSA (Referal System for Safe Abortion) เล่าประสบการณ์ที่นำมาสู่แรงบันดาลใจว่าปัญหาด้านบุคลากรปฏิเสธการให้บริการการตั้งครรภ์ หนึ่งในนั้นเกิดจากความเชื่อปัจเจกบุคคล บางคนเชื่อว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาป 

เพราะเราได้รับการปลูกฝังทัศนคติมาตลอดว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่เมื่อเราโตขึ้นเราได้เป็นสิ่งที่ประสบกับเองตัวเองว่า มีคนไข้ผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิตเพราะไป ยุติการตั้งครรภ์ ที่ไม่ปลอดภัย แล้วติดเชื้อในกระแสเลือด มาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ทำให้เราตัดสินใจว่า ถ้าคนไข้สามารถที่จะเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยได้ หรือมีแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถจะให้บริการได้โดยไม่ผลักไสคนไข้ เขาจะไม่ต้องเสียชีวิต” 

คุณหมอเอ่ยต่อว่า ปัจจุบันการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ยังมีทางเลือกมากขึ้น เช่น medical abortion การใช้ยาแทนวิธีการยุติการตั้งครรภ์แบบเดิม หรือหากบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้สึกว่าไม่อยากทำ เพราะขัดต่อความรู้สึกตัวเองก็สามารถส่งต่อได้ 
ปัจจุบัน RSA มีแพทย์ในเครือข่ายประมาณ 174 ท่านทั่วประเทศ และมีทีมอีก 700 กว่าท่านที่ทำงานร่วมกัน มีการส่งเคสกันทาง LINE กรุ๊ป ผ่านระบบ สายด่วน 1663 ที่ทำหน้าที่ช่วยกันประสานงาน นอกจากนี้ยังมีกองทุนช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ขัดสนเพื่อช่วยเหลือ

ที่อยากฝากให้สังคมมองคือ ทำแท้ง ไม่ใช่ทำบาป ผู้หญิงที่ทำแท้งก็ไม่ใช่คนบาป และเด็กไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร หมอที่ทำแท้งก็ไม่ใช่คนไม่ดีค่ะ

ดร.นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย เอ่ยว่า สำหรับเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยมีสถานบริการ ยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยทุกจังหวัด มองว่าก่อนหวังให้เกิดสถานพยาบาลทุกจังหวัด สามารถใช้ระบบยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยาแบบออนไลน์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เป็นทางเลือก 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบ้านเราเด็กเกิดน้อย การที่เราจะทำให้คนสักคนมีลูกยากมากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่หากสามารถจัดสวัสดิการให้อย่างเพียงพอ เพื่อให้เขาตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อไปอย่างมีคุณภาพ มองว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์ดังกล่าวประเทศก็จะได้ประชากรที่มีคุณภาพ หากสนับสนุนให้เขาเลี้ยงดูอย่างดี เราก็จะได้ประชากรคุณภาพเพิ่มอีกหนึ่งคน

อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องมีคือการบริการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน ในเรื่องแม่วัยรุ่น ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีแม่มาลงทะเบียนรับสิทธิ์ 280,000 กว่าคน

“รวมถึงการพัฒนาสวัสดิการที่เพียงพอและครอบคลุม รวมถึงตอบโจทย์สำหรับแม่วัยรุ่น ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่า ยังไม่เพียงพอมากนัก หรือมีข้อจำกัดในบางเรื่องเช่น เช่นต้องสัญชาติไทยเท่านั้น”

“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”

หนุนเสริมรอบรู้เรื่องเพศเด็กไทย ลดเสี่ยงท้องไม่พร้อม  

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เผยแนวคิดว่า สสส. ไม่ได้มองถึงการ ยุติการตั้งครรภ์ อย่างเดียว แต่มองไปต่อถึงการท้องต่ออย่างไร รวมถึงการทำงานกับกระทรวงศึกษาและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องกับ เพศวิถีในมิติรอบด้าน โดยเฉพาะความรู้เรื่องเพศวิถีที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน

การขับเคลื่อนของ สสส. เป็นการทำงานเพื่อเกิดสิทธิของแม่วัยรุ่น ที่จะตัดสินใจได้ เพื่อให้เขามีความพร้อมในการโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป้าหมายต่อไป สสส. จะสนับสนุนเครือข่าย RSA ร่วมกับกรมอนามัย เพื่อสนับสนุนให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในทุกจังหวัด รวมถึง สายด่วน 1663 สายด่วนท้องวัยรุ่น ให้คำปรึกษาและรวมถึงส่งต่อในทุกจังหวัด

ช่องโหว่สำคัญคือ ความเชื่อเรื่องบุญบาป เพราะเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นเรื่องพูดไม่ได้ ทำให้เรื่องเหล่านี้อยู่ใต้ดินตลอดเวลา และทำให้หลายครั้งที่ผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมต้องประสบกับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมองว่าเป็นอีกปัญหาสำคัญของประเทศ

แม้แต่หมอ พยาบาลก็ถูกตัดสิน โดยเพื่อนร่วมอาชีพ หรือสังคมว่า เป็นหมอทำแท้ง หลายครั้งที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การบริการยุติการตั้งครรภ์ถูกสังคมครหา มองว่าเป็นคนไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเราจำเป็นที่ต้องมีผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและเหมาะสม ดังนั้น สิ่งที่อยากเร่งพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขคือ การผลักดันให้มีทัศนคติในการทำงานที่จะเสริมศักยภาพคุณหมอและพยาบาลที่ให้บริการ เสริมพลังให้คนกลุ่มนี้เห็นว่า เขากำลังทำดีแล้ว เพราะเขากำลังช่วยชีวิตที่มีปัญหา ซึ่งนอกจากการพัฒนาคลินิกร่วมกับ RSA แล้ว ยังต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่บุคลากร เพื่อที่จะทำงานได้อย่างสบายใจและไม่ถูกกดดันจากคนในชุมชน” ชาติวุฒิแสดงทัศนะส่วนตัว

“ยุติการตั้งครรภ์” สุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ที่กำลังถูกกดทับด้วยมุมมอง “ศีลธรรม”