วิกฤติ "โควิด" และพิษเศรษฐกิจ บีบให้คนรายได้น้อย "ทำแท้ง" เพิ่มขึ้น

วิกฤติ "โควิด" และพิษเศรษฐกิจ บีบให้คนรายได้น้อย "ทำแท้ง" เพิ่มขึ้น

หลังเกิดปัญหาโรคระบาดโควิดและปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยและคนอีกหลายกลุ่มตัดสินใจทำแท้งมากขึ้น แต่ยังติดปัญหาที่ค่าใช้จ่ายและข้อกฎหมายบางประการ แม้การทำแท้งถูกกฎหมายจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ปี 2564

ปัจจุบันสถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทยพบว่ามีอัตราสูงขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ ที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤติโรคระบาด "โควิด-19"

ยืนยันจากรายงานของ กลุ่มทำทาง (หน่วยงานที่ผลักดันประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายในไทย) ระบุว่า ในปี 2564 มีผู้เข้ารับบริการทำแท้งถูกกฎหมายผ่านหน่วยงานนี้ จำนวน 688 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ไม่มีรายได้ เช่น กลุ่มคนตกงาน นักเรียน นักศึกษา รับจ้างทั่วไป ทำงานโรงงาน เป็นต้น

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้กลุ่มประชากรดังกล่าวตัดสินใจทำแท้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการท้องไม่พร้อม, การแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เข้าถึงระบบการรักษาได้ง่ายขึ้น และความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรท่ามกลางสถานการณ์โควิด

 

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ว่า นอกจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนตัดสินใจทำแท้งเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของสถานบริการถูกปิด เนื่องจากความเสี่ยงของโรคระบาดโควิด รวมถึงมีสถานบริการไม่มากพอในทุกจังหวัด ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ของตนเพื่อเข้ารับบริการ แต่เมื่อติดปัญหาเรื่องโควิดจึงทำให้การเดินทางเป็นไปได้ยาก

แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการพบแพทย์และจ่ายยาแบบออนไลน์ และส่งยาให้ไปรับที่โรงพยาบาลปลายทาง แต่ยังติดปัญหาที่ว่าบางโรงพยาบาลนั้นไม่เต็มใจและไม่สนับสนุนในเรื่องของการทำแท้ง

ทำให้กลุ่มของ NGO เริ่มออกมาเรียกร้องว่าให้ส่งยาไปยังบ้านของผู้ที่ต้องการรับบริการเพื่อตัดปัญหาในส่วนนี้ และอยากให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายให้ชัดเจนในเรื่องของผู้ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ให้สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งได้

 

ปัจจุบันดูเหมือนว่าใครๆ ก็เข้าถึงบริการทำแท้งได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากโรงพยาบาลปลายทางไม่รับยาให้ ก็จะกลายเป็นอุปสรรคของผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ทันที แม้ว่าจะมีการแก้กฎระเบียบให้การทำแท้งในประเทศไทยเป็นเรื่องถูกกฎหมายแล้วก็ตาม

สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ทำแท้งถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 มีดังนี้

  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
  • มีเงื่อนไขความจำเป็นตามมาตรา 305 อนุ (1), (2), (3) ได้แก่ มีโรคทางกายหรือทางจิต, ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงผิดปกติ, ยืนยันว่าถูกข่มขืน
  • อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องพบผู้ให้บริการทางการแพทย์