วัยรุ่นหญิงไทย "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" สูง เหตุใส่สารปรุงรส 1.6 หมื่นชนิด

วัยรุ่นหญิงไทย "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" สูง เหตุใส่สารปรุงรส 1.6 หมื่นชนิด

ข้อมูลจากทั่วโลก รวมทั้งไทย พบว่า วัยรุ่นหญิงสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" สูงเท่ากับหรือสูงมากกว่าวัยรุ่นชาย โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงเอเชีย รวมถึงไทย สาเหตุมาจากบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม ใส่สารปรุงรส แต่งกลิ่น 16,000 ชนิด

ว่ากันว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยราว 2,800-6,000 ล้านบาทต่อปี บุหรี่มวนที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ส่วนทั่วโลกมีแบรนด์อุปกรณ์เกินกว่า 200 แบรนด์ และแบรนด์น้ำยามากกว่า 7,000 แบรนด์ ขณะนี้พบวัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าผู้ชาย เหตุใส่สารปรุงรส แต่งกลิ่น 16,000 ชนิด ล่าสุดบอร์ด สปสช. ตั้ง “ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.)” ให้บริการ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” ตั้งเป้าปีหน้าให้บริการ 2.1 หมื่นคนต่อปี

 

วานนี้ (18 ต.ค.) "ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ"  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่าข้อมูลการสำรวจจากทั่วโลก รวมทั้งไทย พบวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงเท่ากับหรือสูงมากกว่าวัยรุ่นชาย เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงเอเชีย รวมถึงไทย สาเหตุมาจากบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม ตามข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก ผู้ผลิตใช้สารปรุงรสมากกว่า 16,000 ชนิด และไม่มีกลิ่นเหม็นจากการเผาไหม้ รวมทั้งอุปกรณ์สูบที่รูปทรงสวย ขนาดเล็ก สามารถพกซ่อนติดตัวได้ง่าย ทำผู้หญิงเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีอำนาจเสพติดสูงมาก

 

ข้อมูลจากอังกฤษ ปี 2020 อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงคลอดบุตรสูงถึง 10.4 % จากจำนวนหญิงคลอดบุตร 6 แสนกว่าคน สะท้อนว่ามีหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 หมื่นคน ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จนถึงคลอดลูก แม้รู้ว่าการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ตั้งแต่การเสี่ยงแท้งลูก ลูกคลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด เด็กตายหลังคลอด จนถึงเด็กคลอดออกมาพิการปากแหว่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“การที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้แม้ระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งที่อังกฤษมีโครงการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์สูบบุหรี่ให้เลิกสูบอย่างจริงจัง แสดงถึงความรุนแรงของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นการเสพติดนิโคตินตัวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกยากกว่าบุหรี่ธรรมดา เพราะแรงจูงใจในการเลิกของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา จากการที่มีความเชื่อผิด ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า"

 

"จึงขอวิงวอนให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน เร่งให้ความรู้อันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็กและยาวชน เพื่อป้องกันเยาวชน โดยเฉพาะเพศหญิงจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิตกล่าว

 

ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายเท่ากับ 0.8 % เพศหญิง 1.9 %

 

ขณะที่ผลการสำรวจภาวะสุขภาพของนักเรียนอายุ 13-17 ปี โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า นักเรียนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.7% นักเรียนหญิง 8.9 % อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นและสูงกว่าผู้ชายมีความน่าเป็นห่วง ทั้งที่ผ่านมาอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยต่ำมาก

 

สถิติล่าสุดปี 2564 เพศชายสูบบุหรี่ 34.7% เพศหญิง 1.3% เนื่องจากการสูบบุหรี่ (ธรรมดา) ของหญิงไทยไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะเรื่องค่านิยม รวมทั้งกลิ่นเหม็นของบุหรี่ธรรมดาหรือยาเส้น        

 

วัยรุ่นหญิงไทย \"สูบบุหรี่ไฟฟ้า\" สูง เหตุใส่สารปรุงรส 1.6 หมื่นชนิด

ตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์

ในส่วนของไทยที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10/2565  เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบประกาศกำหนดให้ “ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ” (ศบช.) โดยมูลนิธิสร้างสุขไทยเป็นสถานบริการอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เริ่มให้บริการปีงบประมาณ 2566 ตามผลการศึกษา “การประเมินความคุ้มค่าและภาระงบประมาณของบริการให้คำปรึกษาเลิกยาสูบของ ศบช.พบว่าบริการทำให้คนเลิกบุหรี่สำเร็จกว่าร้อยละ 17 ของผู้มารับบริการ มีความคุ้มค่า ช่วยประหยัดต้นทุนทางสังคมได้ตั้งแต่ 525–10,333 บาทต่อผู้สูบหนึ่งราย

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าบริการสายด่วนเลิกบุหรี่  1600 ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยทุกคน จะเริ่มให้บริการในปีงบประมาณ 2566 นี้ โดยตั้งเป้าหมายผู้รับบริการเบื้องต้นที่ 21,400 คนต่อปี โดยทุกรายที่เข้ารับบริการต้องมีการแสดงเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อพิสูจน์ตัวตน ในการนี้ สปสช. จะมีการกำกับติดตามผลงานการให้บริการร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นการประเมินการดำเนินงานต่อไป

 

เร่งรัดปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง

ก่อนหน้านี้ ผศ. ดร. อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้อธิบายว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในประเทศไทย คิดจากผู้ค้ารายใหญ่และรายเก่า มูลค่าประมาณ 2,800-6,000 ล้านบาทต่อปี บุหรี่มวนที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยมากจะเป็นกลุ่มเฉพาะ มีรายได้ในประเทศอื่น ขนาดทางเศรษฐกิจของบุหรี่ไฟฟ้าใหญ่กว่าประเทศไทยมากคาดกันว่าในปี 2025 บุหรี่ไฟฟ้าจะมาแทนที่บุหรี่มวน และคาดว่าภายในปี 2034 บุหรี่มวนในปัจจุบันอาจจะไม่มีเหลือ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า มีเพียง 32 ประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า อีก 84 ประเทศที่ยังไม่มีนโยบายหรือแนวทางใด ๆ ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ขณะที่อีก 79 ประเทศมีมาตรการควบคุมในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น ห้ามการโฆษณา ห้ามการขายในเด็กที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด     

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามใน Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนด้วยการควบคุมยาสูบ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 มีมติรับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยหนึ่งในข้อสั่งการคือให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง