กลยุทธ์การบิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

กลยุทธ์การบิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

ความท้าทายในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่สาธารณะและผู้กำหนดนโยบาย : กลยุทธ์การบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร บทความโดย ศ.ดร. นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หรือ มูลนิธิ สวค. ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องมาตรการบริหารจัดการ บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และข้อเสนอเชิงนโยบาย

ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา มีความพยายามเป็นระยะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนที่พยายามผลักดันเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย

รายงานฉบับสมบูรณ์ของอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ มีรายละเอียดที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงอันตรายต่อสุขภาพของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

กลยุทธ์การบิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

อันตรายต่อสุขภาพ

เอกสารที่อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทบุหรี่ให้ความร้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคภัยที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่มวน โดยกฎระเบียบของประเทศสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคจะต้องไม่ "ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อ"

เนื่องจากอัตราการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ระหว่างปี ค.ศ. 2005-2016 โดยองค์กร Euromonitor วิเคราะห์ว่า ประเทศต่างๆ มีอัตราการสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา แต่ผลิตภัณฑ์บุหรี่ให้ความร้อน เริ่มเข้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ดังนั้น ผู้ใดที่อ้างว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ให้ความร้อน ทำให้ลดการสูบบุหรี่มวน เป็นการบิดเบือนความจริง มีการวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่เพื่อดึงดูดให้คนกลับมาเสพติดสารนิโคตินอีก เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ มิใช่เพื่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่

หลอกลวงชาวไร่ยาสูบ

การกล่าวอ้างว่า เมื่อผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย จะทำให้ ชาวไร่ยาสูบ ได้ประโยชน์ เพราะจะมีโอกาสได้ขายใบยาสูบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง รายงานของอนุกรรมาธิการฯ มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

นิโคตินที่พบในใบยาสูบตามธรรมชาติ จะเป็น free-based nicotine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างค่อนข้างสูง แต่นิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะใช้นิโคตินสังเคราะห์ที่เรียกว่า nicotine salt หรือ NIC salt แทนนิโคตินธรรมชาติ เนื่องจากนิโคตินธรรมชาติมีจุดด้อยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการขยายฐานการตลาดของธุรกิจยาสูบไปสู่กลุ่มเยาวชนและสตรี จึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนานิโคตินสังเคราะห์ขึ้นมาทดแทน ซึ่งนอกจากสามารถปรุงแต่งกลิ่นรสตามที่ผู้ผลิตต้องการได้ ไม่มีฤทธิด่างทำให้ระคายคอ ยังสามารถดูดซึมเข้าสู่สมองได้เร็วขึ้น และในระดับที่สูงขึ้น จึงสุ่มเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินได้มากยิ่งกว่าเดิม โดยสรุปคือ ชาวไร่ยาสูบจะไม่ได้รับประโยชน์จากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ใบยาสูบธรรมชาติ

นโยบายที่เหมาะสมในการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

นักวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หรือ มูลนิธิ สวค. ได้เปรียบเทียบนโยบายควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร ซึ่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน โดยหน่วยงานของรัฐ เช่นเดียวกับเยอรมนี ซึ่งผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีจำหน่ายในทุกประเทศ จำเป็นต้องให้หน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก่อนจะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน หรือรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์

ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ อยู่ในความรับผิดชอบของ อย. เช่น หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นแปะนิโคติน แต่ยังไม่มีผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์รายใดไปขอขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ตระหนักดีว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ

รัฐจะได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นทางเศรษฐกิจที่คาดว่า จะได้รับจากการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย จากรายงานของอนุกรรมาธิการฯ มีรายละเอียดของโมเดลของความสูญเสียทางเศรษฐกิจของผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากการวิจัยระยะยาวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะทราบถึงผลเสียทางเศรษฐกิจ การใช้โมเดลจึงจำเป็น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง วัยรุ่นชายที่เริ่มสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อายุ 15 ปี 1 ราย จะมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ คือ 2,637,414 บาท ในขณะที่วัยรุ่นหญิงที่เริ่มสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อายุ 15 ปี 1 ราย จะมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์คือ 103,522 บาท เนื่องจากในการประเมินมีสมมุติฐานว่าการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มโอกาสของการเป็นผู้สูบบุหรี่ในอนาคตเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าของผู้ไม่สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ โดยเพศหญิงมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่ต่ำกว่าเพศชาย

คณะนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Tobacco Control เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 พบว่า ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบ บุหรี่ไฟฟ้า สูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท (1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้เพียง 300 ล้านบาท เฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน

ดังนั้น การที่อ้างว่า การยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

การควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดมืด

กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมาย อ้างว่า จะควบคุมได้ง่ายกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่เป็นการเฉไฉ บิดเบือน และฉ้อฉล หลอกลวง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์บุหรี่มวนที่ถูกกฎหมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังมีการลักลอบของบุหรี่ผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย เพราะอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ เป็นต้นเหตุของการขับเคลื่อนให้เกิดการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่ผิดกฎหมาย เนื่องจากจะขายได้มากขึ้นเพราะไม่ต้องเสียภาษี ราคาจะถูกลง รายได้ของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติก็เพิ่มขึ้น

สรุป ข้อมูลที่อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร พยายามสื่อสารกับสาธารณะ ว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีใหม่ ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่มวน และเป็นที่ยอมรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นการโกหก หลอกลวง และหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือคณะรัฐมนตรีคนใด ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเหล่านี้ต่อสาธารณะ รัฐสภาจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณามาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ข้อมูลเท็จ เพื่อมิให้เป็นการเสื่อมเสียต่อรัฐสภาที่ทรงเกียรติ และเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ