วิธีรับมือ"ความรักสู่ฆาตกรรม ป้องกันความรุนแรงในครอบครัว"

วิธีรับมือ"ความรักสู่ฆาตกรรม ป้องกันความรุนแรงในครอบครัว"

กลายเป็นคดีฆาตกรรมได้ทุกวัน สำหรับข่าวฆ่ากันตายในคู่รัก สามี-ภรรยา-แฟน-กิ๊ก ที่เกิดขึ้นในทุกช่วงวัย รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว  ไม่ว่าจะเป็นพ่อตบตีแม่ หรือ พ่อทำร้ายแม่และลูก แม่ทำร้ายลูก หรือทำร้ายผู้สูงอายุ

รวมถึงโศกนาฎกรรมการกราดยิงเด็กเล็กตายเกือบ 30 ศพ จนเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย.....ทำให้ทุกคนถึงได้ฆ่ากันอย่างง่ายดาย โดยไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด???

ข้อมูลจาก มูลนิธิหญิงชาวก้าวไกล ซึ่งได้ทำการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวในหน้าหนังสือพิมพ์พบเหตุการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี  เฉพาะข่าวฆ่ากันตายในคู่รัก สามี-ภรรยา สูงเป็นอันดับ 1 โดยปี 2563 มี 323 ข่าว หรือ 54.5% เป็นสามีกระทำต่อภรรยา 105 ข่าว หรือ 60 % คู่รักแบบแฟน 18 ข่าว หรือ 47.4 %

ขณะที่ปี 2561 มี 384 ข่าว หรือ 61.6 % ปี 2559 มี 226 ข่าว หรือ 48.5 %ปี 2557 มี 230 ข่าว หรือ 62.5 % และปี 2555 มี 197 ข่าว หรือ 59.1 %

เมื่อพิจารณาสาเหตุพบว่ามาจากหึงหวง ระแวงว่านอกใจ ตามง้อไม่สำเร็จ และจะพบว่าตอนก่อเหตุส่วนใหญ่เมาเหล้า เสพยา และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน ตามลำดับ และอาวุธที่ใช้ส่วนใหญ่คือปืน 

ส่วน "ความรุนแรงในครอบครัว" เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์แบบครอบครัว ทั้งระหว่างสามีภรรยา บุตรหลานกับพ่อแม่ หรือญาติมิตร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ทุกคนในครอบครัวมักได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในปี 2564 พบว่ามี หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน และมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด 1 ใน 10 ของโลก โดยสามารถแบ่งประเภทความรุนแรงออกได้เป็น

  • ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็น 32.3%
  • ความรุนแรงทางร่างกาย คิดเป็น 9.9%
  • ความรุนแรงทางเพศ คิดเป็น 4.5%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: วิธีป้องกัน-ช่วยเหลือ"เด็กก่อความรุนแรง" ตามคำแนะนำ จิตแพทย์

                     :“ความรุนแรงจากคำพูด” ภัยร้ายที่ครอบครัวไม่ควรมองข้าม

                     :เมื่อ “บ้าน” ปลอดเชื้อ แต่อาจไม่ปลอดภัย

 

  • สังคมไทยเกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ 

สถิติข่าวฆาตกรรม และความรุนแรงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวเลขจากรายการเก็บข้อมูล และการร้องทุกข์ แต่ในสังคมไทยยังมีความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมายที่ไม่ได้รับการแจ้ง ด้วยสาเหตุ เช่น ไม่กล้าแจ้งความ ถูกขู่หากมีการแจ้งความ หรืออายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้คนอื่นรับรู้

แม้เป็นเรื่องปกติที่ทุกครอบครัวจะต้องมีปัญหา มีปากเสียง มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ในครอบครัวที่ไม่ปกติจะมีการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งระหว่างสามีกับภรรยา ลูกกับพ่อหรือแม่ หรือกับเครือญาติ

โดยเมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นแล้ว สมาชิกทุกคนล้วนแต่ได้รับความบอบช้ำทั้งทางกายและทางใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความรุนแรงในครอบครัวคือเหตุผลหลักที่นำไปสู่การเป็นปัญหาสังคม หรือทำให้เกิดโรคทางจิตใจต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด

 

  • ความรุนแรงที่ไม่ควรมองข้าม

การกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ การกระทำทางเพศ การถูกทอดทิ้ง ความรุนแรงต่าง ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น

1.ความรุนแรงระหว่างคู่สมรส (Intimate Partner Violence and Abuse หรือ IPV)

IVP คือ พฤติกรรมใด ๆ ก็ตาม ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ หรือทางเพศต่อผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรสหรือคู่ครอง มีได้หลายรูปแบบทั้งความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การทุบตี ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การพูดจาให้เกิดความเจ็บใจ ด่าทอ หรือความรุนแรงทางเพศจากการล่วงละเมิดทางเพศ

2.ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse)

การกระทำที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก สามารถแบ่งได้เป็น ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงทางร่างกาย ความรุนแรงทางจิตใจ และการถูกละเลยทอดทิ้ง เช่น

การล่วงละเมิดทางร่างกายทุกรูปแบบ ลวนลาม อนาจาร ทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์

การล่วงละเมิดทางใจ เช่น โดนตำหนิจนเกินเหตุ การเป็นที่รองรับอารมณ์ของผู้ใหญ่

การละเลยทางกายภาพ เช่น เด็กไม่รับการดูแลตามที่ควรจะเป็น

3.ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ (Elder Abuser)

คือการกระทำที่ส่งผลให้ผู้สุงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดความทุกข์ ความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ และนำมาซึ่งอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้สูงอายุ เช่น การทอดทิ้งผู้สูงอายุ การทำร้ายร่างกาย การด่าทอ เป็นต้น

ความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครและในสถานการณ์ไหน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่เกิดผลดีด้วยกันทั้งสิ้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบจากในสถานการณ์เหล่านั้น

  • รูปแบบของความรุนแรงในครอบครัว 

ขณะที่ ประเภทของความรุนแรงในครอบครัว นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศหญิงและเพศชาย แต่ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย และอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในหลายรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้

ความรุนแรงทางร่างกาย เป็นการทำร้ายโดยใช้กำลัง เช่น ตบ ตี ทุบ ผลัก กัด เตะ หรือใช้กำลังเพื่อข่มขู่ เป็นต้น รวมถึงการขว้างปาข้าวของจนเสียหาย และการทำร้ายสัตว์เลี้ยงด้วย

ความรุนแรงทางคำพูด พูดโดยใช้อารมณ์ ตะคอก พูดจาหยาบคาย ใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ เหยียดหยาม ข่มขู่ ทำให้กลัวหรืออับอาย

ความรุนแรงทางเพศ ใช้กำลังหรือข่มขู่เพื่อลวนลามทางเพศ เช่น จับของสงวนหรือสัมผัสร่างกายส่อไปในเรื่องทางเพศโดยผู้ถูกกระทำไม่เต็มใจ ข่มขืน หรือบังคับให้ดูขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ความรุนแรงทางอารมณ์ ผู้กระทำอาจพยายามใช้อารมณ์เพื่อควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว

  • ผลกระทบจากความรุนแรงทุกรูปแบบ 

เหยื่อที่เผชิญความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่องจนส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ โดยเฉพาะเด็กที่บางครั้งก็เป็นเหยื่อเอง หรือบางครั้งก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการเห็นพ่อแม่ทะเลาะหรือใช้กำลังทำร้ายกัน ซึ่งมักเป็นผลกระทบในระยะยาวและอาจกินเวลานานจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

การถูกใช้ความรุนแรงหรือเห็นผู้อื่นในครอบครัวเผชิญความรุนแรงอาจทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว เศร้า สับสน และไม่มีความสุข เพราะไม่รู้ว่าจะป้องกันตัวเองและหาทางแก้ไขอย่างไร รวมทั้งอาจรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของคนในครอบครัวที่อาจได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น และยังมีเด็กอีกหลายคนที่โทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกหดหู่จนมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง หรือร้องไห้อย่างหนัก ไม่รับประทานอาหารหรือไม่รู้สึกอยากอาหาร นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้ายจนปัสสาวะรดที่นอน มีปัญหาในการพูดและการจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ไม่อยากไปโรงเรียน

รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องยาก ไม่อยากทำการบ้านและหมดความสนใจในการเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อน บางรายอาจรู้สึกโกรธจนทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ ตลอดจนอาจหันไปพึ่งยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาความทุกข์

  • แก้ปัญหาความรักสู่ฆาตกรรม 

แนวทางการแก้ปัญหาจากความรักสู่ฆาตกรรม ต้องบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำ  ลดการกระทำซ้ำ และมีมาตรการการแก้ไขเข้าถึง และครอบครองอาวุธปืนได้ยากขึ้น ควรให้ต่ออายุทุกๆสองหรือสามปีเพื่อการตรวจสอบบุคคลที่ครอบครอง  

ส่วนครอบครัว ชุมชน สังคมต้องสอดส่องให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา  ไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว การจับสัญญาณอันตรายเหล่านี้ให้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือ ระงับเหตุ

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการทำร้าย หรือฆาตกรรมในครอบครัว ที่มีสามีหรือผู้ชายเป็นผู้ก่อเหตุ เกิดขึ้นในสังคมปิตาธิปไตย ที่ผู้ชายจะมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า เป็นสมบัติ เป็นตุ๊กตา หรือของสะสมที่จะเก็บ หรือจัดการอย่างไรก็ได้

เช่น กรณีชายฆ่าหั่นศพแฟนสาวที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อฟังจากการให้สัมภาษณ์ที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนเลี้ยงดูผู้หญิงคนนี้มาตลอด แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยสถานะให้สังคมรู้ เลยลงมือฆ่า ซึ่งทั้งที่จริงตัวผู้ชายคนนี้ก็มีคนรักอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะสะท้อนว่ามองผู้หญิงเป็นเหมือนตุ๊กตา เป็นของสะสม

ทั้งนี้ แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา คือ

1. แยกคดีฆาตกรรมในครอบครัวออกจากคดีฆาตกรรมอื่น ถอดบทเรียนวิเคราะห์จะได้เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่และแก้ไขปัญหา

2.เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องความสัมพันธ์ชาย หญิง การเข้าสู่ความสัมพันธ์ ที่ต้องเคารพความเสมอภาค เคารพสิทธิเนื้อตัวของผู้อื่น และรู้จักการถอยออกจากความสัมพันธ์ด้วยความเคารพต่อกันและกัน ทั้งนี้หากทำตรงนี้ได้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ เมื่อเติบโตขึ้น สามารถแยกแยะความสัมพันธ์ และสามารถกลั่นกรองสื่อต่างๆ ที่อยู่ในยุคหาสื่อดีๆ ได้ยาก  

  • วิธีรับมือเมื่อเผชิญความรุนแรง

ผู้ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวหรือสงสัยว่าสมาชิกในครอบครัวกำลังเผชิญปัญหานี้ สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ตามคำแนะนำ ต่อไปนี้

ขอความช่วยเหลือ หากตนเองหรือบุตรหลานถูกทำร้ายร่างกาย ควรขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เช่น มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี สายด่วนโทร. 1134 เป็นต้น

ปฏิเสธและป้องกันตัว พึงระลึกไว้เสมอว่าเราทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ผู้อื่นไม่มีสิทธิมาทำร้ายหรือล่วงละเมิดหากเราไม่ได้อนุญาตหรือเต็มใจ โดยเราสามารถปฏิเสธไม่ให้ใครมาสัมผัสในวิธีที่ทำให้รู้สึกไม่ดี และควรป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วย

ไม่กล่าวโทษตนเอง การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิดเสมอและถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง แม้คนที่กระทำจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

อย่าเชื่อคำข่มขู่ของผู้ก่อความรุนแรง อย่ากลัวหากถูกข่มขู่ว่าจะถูกทำร้ายหากนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกคนอื่น เพราะมีคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาดังกล่าวและให้ความช่วยเหลือเสมอ การปกปิดเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวจะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและคนในครอบครัว เพราะเมื่อนานไปก็อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ จึงควรบอกเล่าเพื่อให้คนเข้ามาช่วยเหลือได้ทันการณ์

เล่าเรื่องราวให้คนที่เชื่อใจได้และยินดีรับฟัง อาจปรึกษาปัญหากับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท ผู้ปกครองของเพื่อน ครู องค์กรที่ให้คำปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่จะช่วยปกป้องจากความรุนแรงในครอบครัวได้ และพยายามบอกเล่าให้หลาย ๆ คนฟังจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือและมั่นใจได้ว่าตนหรือคนในครอบครัวปลอดภัยแล้ว

  • ช่วยเหลือผู้ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร ?

หากพบเห็นหรือสงสัยว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดกำลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ควรพยายามให้ความช่วยเหลือตามคำแนะนำต่อไปนี้

รับฟังในสิ่งที่เหยื่อเล่าด้วยความเข้าอกเข้าใจและใส่ใจที่จะช่วยเหลือ พยายามไม่แสดงอาการตกใจหรือประหลาดใจเมื่อได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่หากเหยื่อยังไม่พร้อมที่จะเล่า ควรบอกให้รู้ว่าตนยินดีรับฟังและให้ความช่วยเหลือทุกเมื่อ

หลีกเลี่ยงการตัดสินหรือตำหนิว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่ปล่อยให้ตนเองถูกกระทำ เพราะการก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องอาจเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงควรให้กำลังใจและให้การสนับสนุนจนกว่าเหยื่อพร้อมจะก้าวออกมา

อย่าเก็บเรื่องที่ได้ฟังไว้คนเดียว ควรบอกเล่าให้ผู้ใหญ่ที่เชื่อใจรับรู้ เพื่อให้เหยื่อได้รับความช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง โดยสนับสนุนให้เหยื่อบอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงนั้นกับผู้ใหญ่หลาย ๆ คน จนกว่าจะแน่ใจว่าได้รับความช่วยเหลือและปลอดภัยแล้ว

สนับสนุนให้เหยื่อแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะบานปลายและเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น

  • ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างไร?

สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน  ใช้สติมากกว่าอารมณ์ มีเหตุผล เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว ให้หันหน้ามาช่วยกันแก้ปัญหา

หาเวลาว่างทำกิจกรรมด้วยกัน  การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น หากีฬาที่พ่อแม่ลูกเล่นด้วยกันได้ หาเวลาไปพักผ่อนต่างจังหวัด จัดทริปเดินทาง การทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

เลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง  เช่น การดื่มสุรา สารเสพติดต่าง ๆ ของมึนเมาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความยับยั้งชั่งใจจะน้อยลง หากมีโต้เถียงกันเกิดขึ้น ให้พยายามหลบหลีกออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุด แล้วค่อยกลับมาคุยกันเมื่อสถานการณ์กลับมาสู่ปกติ

ขอบคุณและขอโทษกันให้มากขึ้น  การฝึกพูดขอบคุณและขอโทษกันและกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัว เมื่อทำผิดให้รีบขอโทษ โดยอีกฝ่ายต้องตั้งใจฟังและต้องใจกว้างในการให้อภัย ให้จำไว้ว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่เคยทำผิดพลาดมาก่อนด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

เคลียร์ใจ  ควรหาโอกาสพูดคุยกันเองในครอบครัวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้กำลังใจกันและกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา หรือสามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาครอบครัว เพื่อช่วยกันหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีเป้าหมายเดียวกันคือ “อยากเป็น Happy Family” เมื่อความคิดของสมาชิกทุกคนในบ้านตรงกันแล้ว การทำให้เป็น Happy Family นั้นไม่ใช่เรื่องยาก

"สถาบันครอบครัว" ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเสมือนเบ้าที่หล่อหลอมให้เด็กที่เกิดมาว่าโตขึ้นจะเป็นคนแบบไหน ดังนั้น หากพบเห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือกำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว แนะนำให้โทรสายด่วน 1134  เพื่อขอความช่วยเหลือในลำดับต่อไป อย่าปล่อยให้เรื่องการทำร้าย ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย